การบาดเจ็บจากการสั่นสะเทือนของเครื่องบิน

เมื่อหลายอาทิตย์ก่อนมีข่าวสายการบินหนึ่งของยุโรป มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการสั่นสะเทือนของเครื่องบิน หรือ ภาษาที่หนังสือพิมพ์ชอบเขียนว่า “ตกหลุมอากาศ” ผู้โดยสารหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากการสั่นสะเทือนที่รุนแรงมาก ตัวลอยขึ้นไปกระทบกับช่องเก็บกระเป๋าเหนือศรีษะ หรือบาดเจ็บตอนที่ตกลงมากระแทกกับเก้าอี้นั่ง

ผมก็เลยอยากจะมาเล่าถึงสาเหตุของการสั่นสะเทือนบางประเด็นและให้ข้อแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากการสั่นสะเทือนของเครื่องบินให้อ่านกันครับ

การสั่นสะเทือน หรือ Turbulence นั้น เกิดขึ้นจากความไม่ราบเรียบของกระแสอากาศในช่วงที่เครื่องบินบินผ่านเข้าไป กระแสอากาศนี้หมายถึง ระดับของความกดอากาศ (Atmospheric Pressure) ค่าอุณหภูมิของอากาศ (Temperature) ทิศทางและความเร็วลม (Wind direction and speed) ค่าสามตัวหลัก ๆ นี้เป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการบินที่ราบเรียบของเครื่องบิน หากการเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างไม่มากนัก เครื่องบินจะสามารถบินผ่านได้อย่างค่อนข้างราบรื่น แต่หากตัวใดตัวหนึ่งมีการเปลี่ยนค่าไปอย่างกระทันหัน โดยเฉพาะในบางสภาวะที่ค่าทั้งสามมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง อันนี้จะเกิดเป็นการสั่นสะเทือนอย่างแน่นอน แต่การสั่นสะเทือนจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขึ้นอยู่กับว่าเครื่องบินอยู่ในสภาวะที่จะรับมือได้ดีขนาดไหน

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้น มีทั้งที่สามารถพยากรณ์ได้และพยากรณ์ไม่ได้ และมองเห็นหรือคาดการณ์ได้และคาดการณ์ไม่ได้ครับ

ที่มองเห็นได้ก็อย่างพวกเมฆฝนฟ้าคะนองที่เราสามารถมองเห็นได้ชัดเวลากลางวัน และอาจจะมองไม่เห็นในตอนกลางคืน

สำหรับส่วนที่พยากรณ์ได้ในทางอุตุนิยมวิทยาการบินจะมีแผนที่สภาพอากาศที่แสดงรายละเอียดของลักษณะอากาศในแต่ละบริเวณ  เอาไว้ และนักบินจะทำการศึกษาแผนที่สภาพอากาศนี้ก่อนทำการบินเสมอ เมื่อทำการบินบนเครื่องบินจะมีเรดาห์ตรวจอากาศที่สามารถตรวจจับระดับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ระดับหนึ่ง เป็นการตรวจจับตำแหน่งของก้อมเมฆนั้นแหละครับ การทำงานของเรดาห์ตรวจอากาศนั้นจะวัดระดับของคลื่นที่สะท้อนกลับมาโดยสามารถเปลี่ยนองศาการส่งคลื่นออกไปตรวจจับการสะท้อนเพื่อตรวจวัดระดับความสูงของบริเวณที่มีการสะท้อนและแปลผลออกมาเป็นภาพบนหน้าจอนำทางที่อยู่ภายในห้องนักบิน หากการตรวจจับการสะท้อนบ่งบอกถึงปริมาณการสะท้อนกลับที่สูงมาก นั่นแสดงว่ามีโอกาสที่จะมีกลุ่มเมฆฝนที่มีปริมาณน้ำมากและมีโอกาสที่จะทำให้เกิดความแปรปรวนของกระแสอากาศอย่างรุนแรง นักบินจะหลีกเลี่ยงการบินผ่านเข้าไปในบริเวณนั้นทันที

สำหรับสภาพอากาศที่นอกเหนือการตรวจจับของเรดาห์ตรวจอากาศประจำเครื่องบินก็มีอยู่หลายประเภท หนึ่งในนั้นคือ Clear Air Turbulence กรณีนี้ นักบินจะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะมีการสั่นสะเทือนเกิดขึ้นหรือไม่ หรือ รุนแรงแค่ไหน การสั่นสะเทือนนั้นอาจจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรืออาจเกิดช่วงเวลานานหรือสั้นก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพกระแสอากาศตามที่ผมได้อธิบายไปข้างต้น

“เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบินผู้โดยสารจะต้องทำอย่างไรจึงจะไม่ได้รับบาดเจ็บหรือลดโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บลงได้บ้าง”

ง่าย ๆ เลยคือ การป้องกันตัวเราหลุดออกจากเก้าอี้นั่งครับ 

“การรัดเข็มขัดนิรภัย” คือ คำตอบ

การรัดเข็มขัดนิรภัยจะช่วยให้เราไม่ถูกเหวี่ยงไปมา และหลุดออกจากที่นั่งจนตัวลอยขึ้นไปกระทบกับฝ้าเพดานและช่องเก็บกระเป๋า หรือแม้กระทั้งไปกระแทกกับผู้โดยสารท่านอื่นหรือพนักที่นั่งที่อยู่ด้านหน้าเรา

แล้วจะต้องรัดเข็มขัดเมื่อไหร่ จึงจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บจากการสั่นสะเทือนลงได้

โดยปกติแล้วตามระเบียบข้อบังคับการบิน ทุกคนต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในระหว่างที่

– เครื่องบินเคลื่อนที่บนพื้น (Taxi) 

– ระหว่างการวิ่งขึ้นจากสนามบิน (Takeoff) 

– ระหว่างการร่อนลงสู่สนาม (Approach and landing) 

– ระหว่างที่เครื่องบินเคลื่อนที่หลังจากลงสนามเพื่อเข้าสู่ที่จอด

เพราะว่าทุก ๆ การวิ่งขึ้น หรือ ร่อนลงจอด จะต้องคำนึงถึงกรณีฉุกเฉินตลอดเวลา เช่น การยกเลิกการวิ่งขึ้นกระทันหันเนื่องจากปัญหาใดก็ตาม เครื่องบินจะทำการลดความเร็วลงด้วยความรุนแรงของการลดระดับความเร็วให้ใช้ระยะทางในการหยุดเครื่องบินให้สั้นที่สุด หากเราไม่รัดเข็มขัดนิรภัยเอาไว้ ตัวเราก็จะโน้มหรือฟาดไปด้านหน้าซึ่งอาจจะไปกระแทกหรือกระทบกับเก้าอี้หรือสิ่งของที่อยู่ด้านหน้าได้ การปรับที่นั่งตั้งตรงจึงมีความสำคัญในกรณีนี้ เพราะจะทำให้มีพื้นที่ว่างมากเพียงพอที่เราจะไม่ถูกกระชากไปกระแทกกับที่นั่งด้านหน้าเมื่อเรารัดเข็มขัดนิรภัยอยู่

ส่วนตอนร่อนลงจอดก็ทำนองเดียวกันครับหากเครื่องบินมีปัญหาขัดข้องไม่สามารถหยุดอยู่บนรันเวย์แล้วไถลออกไป การกระแทกของเครื่องบินก็จะไม่กระชากหรือเหวี่ยงตัวเราออกจากเก้าอี้นั่งจนทำให้เกิดอันตราย

สำหรับในช่วงอื่น ๆ เช่น การบินระดับ แม้ว่าจะอนุญาตให้สามารถปลดเข็มขัดนิรภัยได้ แต่ผมแนะนำให้คาดเข็มขัดไว้ครับ เพราะหากเข้าสภาพกระแสอากาศแปรปรวนที่นักบินคาดการณ์ไม่ได้อย่าง Clear Air Turbulence เราก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บลงได้ครับ

“คาดเข็มขัดอย่างไรจึงจะปลอดภัย”

เข็มขัดนิรภัยต้องรัดให้พอดีนะครับ รัดให้รู้สึกไม่อึดอัดจนเกินไป การรัดควรจะกระชับพอดีกับรอบเอวของเรา และที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ 

“ต้องไม่รัดไว้หลวม ๆ เด็ดขาด” 

เพราะหากถูกเหวี่ยงมาก ๆ ตัวเราอาจจะหลุดออกจากสายรัดเข็มขัดได้ครับ จากสถิติอุบัติเหตุต่างๆ ทั่วโลก ผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสเพราะการกระแทก หรือเสียชีวิตเพราะกระเด็นหลุดออกไปจากเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุนั้นเป็นเพราะไม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัยหรือรัดไว้หลวมเกินไปนั่นเอง

ดังนั้นขอให้ท่านผู้โดยสารทุกท่านกรุณา 

“รัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่งอยู่ในที่นั่ง” นะครับ

Tags:

Comments are closed
0
0