การทำงานของเรดาห์ตรวจอากาศ

ในช่วงที่เป็นฤดูมรสุม อุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักบินคือ เรดาห์ตรวจอากาศ (Weather Radar)

หลักการของ weather radar  คือการส่งสัญญาณคลื่นความถี่หนึ่งออกไปและรอรับสัญญาณที่สะท้อนกลับมาโดยแสดงขึ้นที่หน้าจอระบบนำร่องของเครื่องบินเป็นสีต่างๆ 3 สีขึ้นอยู่กับความเข้มของปริมาณคลื่นที่สะท้อนกลับมา

หากภาพเป็นสีเขียวคือ 

มีความเข้มของปริมาณคลื่นที่สะท้อนระดับต่ำ

สีเหลืองคือระดับปานกลาง และ

สีแดงคือความเข้มระดับสูง

บริเวณที่มีการสะท้อนกลับของคลื่นสูง (สีแดง) หมายความว่า เป็นบริเวณที่มีเมฆฝนหนาแน่น มีโอกาสที่จะมีความแปรปรวนของกระแสอากาศค่อนข้างรุนแรง และลดหลั่นลงไปเป็นสีเหลืองและเขียวคือความรุนแรงลดลงตามลำดับ

สำหรับบริเวณที่ไม่มีการสะท้อนกลับเลย จอภาพจะเป็นสีดำ

ระยะหรือความห่างที่แสดงในจอภาพก็มาจากความต่างของเวลาที่ส่งคลื่นออกไปและสะท้อนกลับมาที่ตัวรับสัญญาณ (มันคือฟิสิกส์เรื่องคลื่น)

เรดาร์ตรวจอากาศสามารถปรับองศาการส่งคลื่นออกไปได้ โดยนักบินจะต้องเข้าใจหลักการการทำงานของมัน เพื่อที่จะใช้เรดาห์ในการตรวจจับก้อนเมฆให้ถูกต้อง

หากเครื่องบินกำลังทะยานขึ้นฟ้าเราต้องปรับมุมเงยของเรดาห์ให้สูงหน่อย เพื่อให้ตรวจจับก่อนเมฆที่อยู่สูงกว่าเครื่องบินเพราะเรากำลังจะไต่ระดับไปหาที่ความสูงนั้น 

แต่เมื่อไต่ระดับไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ต้องปรับมุมของเรดาห์ให้ลดลง เพื่อตรวจจับก้อนเมฆอีกระดับหนึ่ง คือสูงเท่าเทียมหรือต่ำกว่าความสูงของเครื่องบิน นั่นเป็นเพราะว่าการไต่ระดับความสูงของเครื่องบินลดลง หรือความชันของการไต่ระดับน้อยลงเมื่อความสูงเพิ่มขึ้น

ความห่างหรือระยะทางระหว่างก้อนเมฆนกับตัวเครื่องบินนั้น สามารถใช้หลักการทางเรขาคณิตมาทำนายความสูงของก้อนเมฆได้ และใช้เพื่อพิจารณาในการบินหลบ หรือเลี่ยงเส้นทางเพื่อไม่ให้เครื่องบินบินเข้าไปในก้อนเมฆที่มีความแปรปรวนของกระแสอากาศ เพราะนั่นหมายถึงการสั่นสะเทือนของเครื่องบินเมื่อบินเข้าไปในนั้น

มุมก้ม 1 องศา ห่างจากตัวเครื่องบินออกไป 60 ไมล์ (NM) 

จะมีบีมของคลื่นถึง 1 ไมล์ (NM) หรือเท่ากับประมาณ 3000 ฟุต

ปรับมุมก้มเงยดู 

ก็จะพอเดาได้ว่าเมฆก้อนนั้นมีความสูงต่ำขนาดไหน

การใช้งานและประสบการณ์ในการแปลข้อมูลจากเรดาห์ตรวจอากาศสามารถฝึกฝนได้ ให้ลองสังเกตการณ์เวลากลางวัน เพราะเราเห็นก้อนเมฆนั้นได้ด้วยตา ลองดูบ่อยๆว่า เมฆแบบนี้ ปรับมุมก้ม_เงยขอเรดาห์แล้วหน้าตาแบบนี้ ความสูงเท่านี้

แต่ในบางสถานการณ์นักบินก็ไม่สามารถที่จะหลบเมฆได้ทุกก้อน แต่ต้องเลือกก้อนหรือพื้นที่ที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุด เพราะมีโอกาสที่ความสั่นสะเทือนจะน้อยหรือไม่มีเลย

ทำบ่อยๆ ก็จะเข้าใจ แล้วใช้ประสบการณ์นี้เวลาตอนกลางคืน ที่มองอะไรไม่เห็นเลยแบบในภาพที่เต็มไปด้วยเม็ดฝน เปิดไฟดูจะเห็นเป็นฝ้าขาวไปหมด เห็นแต่น้ำวิ่งเข้ามาที่กระจก แต่ไม่มีการสั่นสะเทือน

บินด้วยความรู้ ใช้ประสบการณ์และการสังเกตจะช่วยให้เรามีทางเลือกในการบินมากขึ้น และบินด้วยความตื่นตระหนกน้อยลง มีความสุขมากขึ้น

Fly smooth with Weather Radar

Tags:

Comments are closed
0
0