Power Bank ไฟไหม้

Power Bank ไฟไหม้

เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2558 เครื่องบินสายการบิน KLM Boeing B777 ลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างที่ผู้โดยสารกำลังจะลงจากเครื่องบินแล้วกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารเกิดไฟลุกไหม้ขึ้น จากข่าวนั้น ยังไม่ยืนยันว่าต้นตอเกิดจากแบตเตอรี่สำรอง หรือ Power Bank จริงหรือไม่ ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ครับ

คำถามคือว่า แล้วมันจะยังปลอดภัยอยู่หรือไม่ที่จะอนุญาตให้นำ Power Bank ขึ้นเครื่อง ขอบอกอย่างนี้ครับว่า Power Bank จะเป็นอันตราย ถ้าเป็นของที่มีคุณภาพต่ำ package ไม่ดี บุบ หรือ บวม หรือ แตก หากมีสภาพชำรุดก็มีโอกาสเกิดปัญหาได้ทุกเมื่อ

ทาง IATA (The International Air Transport Association) ได้กำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับ Lithium Battery เอาไว้ ค่อนข้างชัดเจนและรัดกุมโดยแบ่ง การอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องบินได้เป็น 2 แบบ คือ แบบที่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องได้ กับแบบที่ ต้องบรรทุกเป็นสินค้าเท่านั้น เน้นคำว่า บรรทุกเป็นสินค้านะครับ 

ไม่อนุญาตให้ใส่ในกระเป๋าสัมภาระของเราแล้วโหลดใต้ท้องเครื่องในทุกกรณี การที่ Lithium Battery ถูกกำหนดให้ไปใต้ท้องเครื่องได้ถ้าเป็นการบรรทุกเป็นสินค้านั้น เพราะว่า มีระเบียบปฏิบัติของบรรจุภัณท์เพิ่มเติม มี packing instruction เป็นการเฉพาะ มีการทำเครื่องหมาย labeling ที่ชัดเจน และ Lithium Battery บางประเภทถูกกำหนดให้บรรทุกเป็นสินค้า ได้เฉพาะกับ เครื่องบินที่เป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้าอย่างเดียวไม่มีผู้โดยสาร (Cargo Aircraft Only)

Power Bank เป็นประเภทหนึ่งของ Lithium Battery ซึ่งอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องบินไปพร้อมกับเราได้ แต่มีข้อกำหนดว่าต้องมีขนาดความจุไม่มากกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการจำกัดปริมาณลิเทียมไปในตัว เพื่อมิให้ทำอันตรายต่อผู้อื่นและจำกัดความเสียหายให้อยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ รวมทั้งสามารถมองเห็น identified ได้ว่าเกิดความผิดพลาด (ไฟไหม้) เมื่ออยู่ภายในห้องโดยสาร แต่ถ้าไปอยู่ในกระเป๋าสัมภาระใต้ท้องเครื่องบิน จะไม่มีใครเห็นและอาจลุกลามใหญ่โตได้ ถ้ากระเป๋าแทบทุกใบใส่แบตสำรองประเภทนี้ไว้

ย้อนมาที่เหตุการณ์ หากต้นเหตุเป็น แบตเตอรีสำรอง หรือแบตลิเทียมประเภทอื่นเช่น แบตกล้องถ่ายรูป หรืออุปกรณ์ อิเลคทรอนิคอื่น ๆ แน่นอนที่สุดคือ อุปกรณ์อยู่ในสภาพไม่ดี อาจมีรอยแตก รอยบุบ บวม ที่ทำให้ความชื้นสามารถแทรกซึมเข้าไปทำปฏิกิริยากับตัวลิเทียมได้จึงเกิดการลุกไหม้ขึ้น

การที่มันเกิดลุกไหม้ตอนที่เครื่องบินลงมาที่พื้นแล้ว (อันนี้ข้อสันนิษฐานของผมเอง) เพราะค่าความชื้น (humidity) ที่มีมากขึ้นกว่าตอนที่อยู่บนอากาศ

ตอนบินระดับอยู่ที่สูง ๆ อากาศแห้ง ความชื้นน้อย พอเครื่องบินทำการลดระดับ มีการอัดอากาศเข้าภายในห้องโดยสารเพื่อปรับระดับความดันอากาศให้ค่อยๆเพิ่มขึ้นเท่ากับค่าความกดอากาศที่พื้นดิน

บ่อยครั้งที่การลดระดับจะทำให้เกิดความควบแน่นของน้ำ และเกิดหยดน้ำหรือเหงื่อของน้ำที่ควบแน่นเกาะอยู่ตามผิวของวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง โอกาสที่จะเกิดการควบแน่นของน้ำก็มีสูงขึ้น

  ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนที่มีค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงครับ อีกหน่อย อาจมีข้อกำหนดให้แยกแบตเตอรี่สำรองออกเพื่อทำการตรวจสภาพทางกายภาพ หรือใช้เครื่องตรวจวัดที่สามารถตรวจสอบสภาพของแบตลิเทียมก็เป็นได้ครับในชีวิตประจำวันก็เช่นกันนะครับ อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากขอให้ช่วยกันดูแลคือสภาพต้องไม่บุบ ไม่บวม ไม่แตก ซีลไม่เปื่อยนะครับ

Tags:

Comments are closed
0
0