Lying Sick passenger

Lying Sick passenger

ผมได้มีโอกาสพาผู้โดยสารชาวอังกฤษ อายุ 68 ปี ป่วยเนื่องจากผ่าตัดช่องท้อง ลำไส้เน่าและกระเพาะปัสสาวะอักเสบเดินทางกลับบ้านที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างอยู่บนเครื่องบินต้องนอนตลอดการเดินทาง มีทั้งหมอและพยาบาลติดตามมาดูแลอาการระหว่างบินด้วย

สำหรับสายการบินก็ต้องมีการติดตั้งเตียงพิเศษเพื่อผู้โดยสาร เราเรียกเตียงนี้ว่า Stretcher แปลตามศัพท์หมอก็คือ เปล นั่นแหละครับ แต่นำมาติดตั้งยึดให้มั่นคงแข็งแรงบนเครื่องบิน ผมนำภาพตัวอย่างมาให้ชมนิดหน่อย บนเครื่องบินจะมีตำแหน่งที่ติดตั้งเปลนี้เป็นการเฉพาะ

ซึ่งสำหรับเครื่องบิน B747-400 จะอยู่ที่บริเวณประตูหลังสุดด้านซ้าย เวลาจะขึ้น-ลงก็ต้องใช้รถพิเศษยกสูงขึ้นมาที่ประตูแล้วเข็นผู้โดยสารเข้าเครื่องบิน (ขึ้นก่อน ลงทีหลัง)

คุณลุงแกต้องใช้ออกซิเจน 4 ลิตรต่อนาที ไปตลอดการเดินทาง 13 ชั่วโมง ทางสายการบินก็ต้องมีการเตรียมถังออกซิเจนเพิ่มสำหรับผู้โดยสาร (คิดเงินเพิ่ม) จริง ๆ บนเครื่องบินทุกลำ มีถังออกซิเจน สำหรับใช้กรณีมีคนป่วยกะทันหันอยู่แล้ว เราเรียกถังออกซิเจนนี้ว่า Portable Oxygen

portable oxygen นั้นจะมีอยู่จำนวนมากพอเพียงสำหรับบริการผู้โดยสารในกรณีจำเป็นต่าง ๆ เช่น ช่วง Post Decompression Period (ช่วงเวลาหลังจากเครื่องบินสูญเสียระบบปรับความดัน) โดยให้ออกซิเจนสำหรับผู้โดยสารที่อาจจะหมดสติหรือยังมีอาการมึนงงอยู่ แต่กรณีนี้ รู้ล่วงหน้าว่าต้องใช้ออกซิเจนเยอะเป็นเวลานาน แบบกรณีนี้ ก็ต้องนำถัง oxygen ขึ้นมาเพิ่ม เพราะที่มีอยู่บนเครื่องเอาไว้ใช้กรณีฉุกเฉินเท่านั้น หลังจาก landing ที่ลอนดอน ผมก็ลงไปดูความเรียบร้อยอีกครั้งผมเข้าไปพูดคุยกับคุณหมอเล็กน้อย เพื่อสอบถามสภาพโดยทั่วไปของผู้โดยสารระหว่างการเดินทาง คุณหมอบอกว่าโดยทั่วไปไม่มีอะไรผิดปกติเพิ่มขึ้น คนไข้หลับสบายดีระหว่างเดินทาง

ในกรณีแบบนี้ นักบินต้องพิจารณาเรื่องของ การลดระดับความสูง การ landing การลดความเร็ว (Braking) ต้องปราณีตและนุ่มนวลเป็นพิเศษ เท่าที่สามารถจะทำได้ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวผู้โดยสารหล่นจากเตียงไปกองอยู่ที่พื้น อาการทรุดหนักกันพอดี ส่งคุณลุงเขากลับบ้านเรียบร้อยก็สบายใจแล้วครับ

“Get well soon นะคุณลุง Robbie”

Tags:

Comments are closed
0
0