In the cabin

In the cabin

เรื่องน่ารู้ภายในห้องโดยสาร สำหรับนักเดินทางที่เดินทางโดยเครื่องบินบ่อย ๆ คงไม่ต้องอ่านเรื่องต่อไปนี้ 

สำหรับคนที่เดินทางไม่บ่อย มีหลาย ๆ อย่างที่อยากแนะนำให้รับทราบไว้ เผื่อจะได้ไม่งุนงง

ผู้โดยสาร ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Passenger ตัวย่อทางเทคนิคในแวดวงการบิน คือ PAX ซึ่งหมายถึงผู้โดยสารหลาย ๆ คน หรือเวลาเราพูดโดยไม่เจาะจงจำนวนหรือเป็นการกล่าวถึงเป็นบุคคลที่สาม ถ้าเป็นการเฉพาะเจาะจงถึงผู้โดยสารเพียงคนเดียวจะใช้คำว่า PAP

Air Crew โดยรวม หมายถึง ลูกเรือบนเครื่องบินทั้งหมด รวมนักบิน (Flight deck Crew/Cockpit Crew) และ พนักงานต้อนรับ (Cabin Crew)

Air Steward (มักเรียกสั้น ๆ ว่า “สจ๊วต”) หมายถึง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพศชาย

Air Hostess หมายถึง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพศหญิง (ในภาษาอังกฤษใช้อีกคำหนึ่งด้วยคือ Stewardess)

Economy Class ของการบินไทย B747-400

บนเครื่องบินของสายการบินชั้นนำส่วนใหญ่จะมีจำนวน Cabin Crew มากกว่าที่กำหนดไว้ขั้นต่ำ เพื่อให้บริการผู้โดยสารให้มีความสะดวกสบายในการเดินทาง และประโยชน์สูงสุดคือเรื่องการให้ความช่วยเหลือ pax กรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ เกิดขึ้น การทำงานของลูกเรือ (ปกติจะใช้คำว่า “ลูกเรือ” หมายถึง Cabin Crew) จะแบ่งเป็นโซน ซ้าย-ขวา และเป็นช่วง ๆ โดยมีตำแหน่งประตูเป็นชื่อประจำตำแหน่ง เช่น 1L ,1R หมายถึง ประตูที่ 1 ด้านซ้าย และประตูที่ 1 ด้านขวา เป็นต้นแต่ละคนจะทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลผู้โดยสารในโซนของตนเอง

โดยมีหัวหน้าพนักงานต้อนรับ (Air Purser) เป็นผู้กำกับดูแลและกำหนดขั้นตอนในการให้บริการแก่ pax ตามมาตรฐานของสายการบิน นอกจากนี้ (สำหรับการบินไทย) ในเที่ยวบินที่เป็นเครื่องบินลำใหญ่ ๆ ซึ่งสามารถบรรทุก pax จำนวนมาก ๆ จะมี ผู้จัดการเที่ยวบิน (Inflight Manager) เพิ่มอีกหนึ่งคน เพื่อกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง

เหตุการณ์ทั้งหลายภายในห้องโดยสาร  หากเป็นเรื่องปกติของการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มหรือปัญหาที่เกิดจากการบริการต่าง ๆ 

Inflight Manager-IM และ/หรือ Air Purser-AP จะเป็นผู้จัดการแก้ปัญหาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย (Airline อื่น ๆ เรียก IM และ AP ว่า Senior Cabin Crew หรือ Cabin Leader) 

หากปัญหาเกินกว่าอำนาจที่ IM/AP จะตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของ PAX (Safety and Security of the flight) IM/AP จะตัองรายงานให้กับกัปตัน หรือนักบินที่เป็นผู้ควบคุมเครื่องบินขณะนั้นรับทราบทันที เพื่อที่นักบินจะได้พิจารณามาตรการในการปฏิบัติในการจะลดผลกระทบด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารทั้งลำ เช่น ผู้โดยสารป่วยหนักและจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน มีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นภายในห้องโดยสารเนื่องจากผู้โดยสารเมาอาละวาด เป็นต้น

ในเที่ยวบินระยะไกล การบินในระหว่างเวลากลางคืน บินข้ามคืน หรือการบินข้ามพื้นที่ที่มีความต่างของเวลาท้องถิ่นค่อนข้างมาก ตามกฏการบินสากลจะกำหนดให้ทำการบินโดยมีนักบิน 3-4 คน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและข้อกำหนดอื่นๆ) 

หลังจากที่เครื่องบินขึ้นไปแล้วนักบินก็จะผลัดเปลี่ยนกันเพื่อนั่งประจำตำแหน่งด้านหน้า ส่วนที่ไม่ได้นั่งประจำตำแหน่งก็จะทำการพัก เพื่อเตรียมตัวสำหรับเปลี่ยนคนที่นั่งประจำตำแหน่งหลังจากผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง สลับกันไปแบบนี้จนกว่าจะถึงที่หมาย ดังนั้น ในบางครั้ง กัปตันซึ่งมีอยู่เพียงหนึ่งคนบนเที่ยวบิน หากกัปตันเข้าช่วงเวลาพัก ก็จะให้นักบินที่นั่งประจำตำแหน่งคนใดคนหนึ่งจะทำหน้าที่เป็น Commander 

Commander คือ ผู้ที่ทำหน้าที่แทนกัปตันในระหว่างช่วงเวลาที่กัปตันไม่อยู่ ถ้ากัปตันนั่งอยู่กัปตันก็จะเป็น Pilot-in-Command หรือ เรียกย่อๆว่า P-i-C  ถ้ากัปตันไปพัก นักบินที่นั่งประจำตำแหน่งอยู่คนหนึ่งจะทำหน้าที่ P-i-C ในช่วงเวลานั้นแทน

ภายในห้องโดยสารเครื่องบินลำใหญ่ ๆ อย่าง A380 B747 B777 ความยาวตลอดลำตัวมากกว่า 80 เมตร การติดต่อสื่อสารระหว่างห้องนักบิน (Cockpit) ไปประตูสุดท้ายที่อยู่ท้ายเครื่องจะใช้การโทรศัพท์เพื่อสื่อสารระหว่างกันเป็นการภายใน โทรออกนอกเครื่องบินไม่ได้ (โทรศัพท์ที่ใช้โทรไปภาคพื้นจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ที่ที่นั่งผู้โดยสารแต่ละคน) เราเรียกทับศัพท์โทรศัพท์นี้ว่า Cabin Inter-phone

ผู้โดยสารไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ Cabin Inter-phone เพราะ Cabin Inter-phone ถือว่าเป็นอุปกรณ์ฉุกเฉิน (Emergency Equipments) มีไว้เพื่อให้ลูกเรือใช้งานติดต่อสื่อสารระหว่างกันและเพื่อการสื่อสารในด้านการบริการแก่ผู้โดยสารในสถานการณ์ปกติ เพราะฉะนั้นขึ้นเครื่องอย่าไปหยิบ Cabin Inter-phone มาเล่นนะครับ เดี๋ยวจะโดนข้อหากระทำการอันเป็นอันตรายต่อผู้อื่นได้ครับ

Tags:

Comments are closed
0
0