“แอลกอฮอล์เจล” ขึ้นเครื่องได้ไหม

“ข้อกำหนดเรื่องของเหลว เจล สเปรย์ ไม่ได้พูดถึง แอลกอฮอล์เจลไว้ เราเอาขึ้นเครื่องได้ไหมล่ะ”

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับ LAG (Liquid, Aerosol, Gel) ที่จะนำขึ้นเครื่องนั้น ครอบคลุมถึงของเหลว เจล หรือสเปรย์ ประเภทไหนบ้าง มาดูกัน

  • อาหารที่มีของเหลวในปริมาณมาก เช่น ซุป น้ำ เครื่องดื่ม น้ำเชื่อม แยมสตูว์ ซอส น้ำพริก
  • เครื่องสำอาง เช่น ครีม โลชั่น น้ำมัน น้ำหอม
  • เจล เช่น ยาสีฟัน ยาสระผม เจลอาบน้ำ
  • วัตถุที่ต้องฉีดพ่น เช่น สเปรย์ โฟม
  • สิ่งที่มีส่วนผสมของของแข็งและของเหลว เช่น มาสคาร่า ลิปสติกชนิดน้ำ ลิปกลอส

https://www.wongnai.com/restaurants/simplebistro

LAG ที่เราพูดถึงนั้นมีเงื่อนไขในการนำขึ้นเครื่องบินดังนี้

  • ต้องมีขนาดบรรจุภัณฑ์ไม่เกิน 100 มิลลิลิตร หรือในหน่วยวัดปริมาตรอื่นที่เท่ากัน และต้องมีข้อความระบุปริมาตรของบรรจุภัณฑ์ (หากข้อความหรือฉลากเกิดลอก ถลอกจนอ่านไม่ออก ไม่ชัดเจนก็ไม่ได้นะครับ ควรต้องเห็นชัดเจนว่าบรรจุภัณฑ์มีปริมาตรบรรจุเท่าไหร่)
  • LAG ที่ระบุไว้ด้านบน สามารถนำไปได้มากกว่า 1 ชิ้น แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องมีปริมาตรรวมกันสูงสุดไม่เกินคนละ 1,000 มิลลิลิตร
  • ของเหลว เจล สเปรย์ ที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยาน อนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้ แต่ต้องบรรจุไว้ในถุงพลาสติกที่ปิดผนึก และไม่มีร่องรอยการแกะ การฉีกขาด หรือการเปิดปากถุง และต้องแสดงหลักฐานว่าซื้อในวันที่เดินทาง

แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับ ของเหลว เจล สเปรย์ บางประเทศที่ไม่ต้องมีปริมาตรตามกำหนด
(100 มิลลิลิตรรวมไม่เกิน 1000 มิลลิลิตร) แต่จะต้องนำไปโดยมีปริมาณที่เหมาะสมกับระยะเวลาที่เดินทางด้วย เช่น

  • ของเหลว เจล สเปรย์ ประเภทยาต้องมีใบรับรองแพทย์ ฉลาก หรือเอกสารกำกับยาที่ระบุชื่อผู้โดยสาร เว้นแต่เป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
  • อาหารที่ต้องพกพาตามข้อกำหนดทางการแพทย์ หรือเพื่อวัตถุประสงค์ทางโภชนา
  • อาหารหรือนมสำหรับเด็กทารกที่มีความจำเป็นต้องใช้บริโภคระหว่างเที่ยวบิน

แล้ว “แอลกอฮอล์เจล” ล่ะ ข้อกำหนดไม่ได้มีการพูดถึง
ตกลงจะนำขึ้นเครื่องบินได้ไหม

ความเห็นส่วนตัวผมมองว่า ขึ้นไม่ได้นะครับ
(แต่เดี๋ยวก่อน อ่านให้จบ)

แอลกอฮอล์เจล ไม่อยู่ในหมวดของ LAGs ที่เป็นของใช้ทั่วไป มันไปตกอยู่ในหมวดของ

“วัตถุอันตราย” หรือ Dangerous Goods เพราะแอลกอฮอล์เจลเป็น วัตถุไวไฟ (Flammable) ครับ

แอลกอฮอล์เจล ผมจึงคิดว่าไม่สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ทุกกรณี
“ไม่ว่าจะนำติดตัวขึ้นไปบนเครื่อง” หรือ
“ใส่ในกระเป๋าสัมภาระใต้ท้องเครื่องบิน”

แต่ถ้าคำว่า “Hand Sanitizers” หรือ “Alcohol Hand Sanitizers” ประมาณนี้ (มันเป็นของเหลวไม่ใช่เจล) ต่างประเทศกำหนดว่า สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ครับโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับ LAG ปกติ คือ นำติดตัวขึ้นเครื่องจะต้องอยู่ในปริมาตรไม่เกิน 100 มิลลิลิตร

สนับสนุนเสื้อยืด Pilot T-Shirt

ทีนี้ก็เกิดปัญหาในทางปฏิบัติขึ้นแล้วว่า เจ้าแอลกอฮอล์เจล กับ hand sanitizers ที่เราพูดถึงกันนั้นมันหมายถึง ตัวเดียวกันหรือไม่
Hand Sanitizers หมายถึงที่เป็นของเหลว แล้วเจลล่ะ

เท่าที่ลองค้นข้อมูลดูนะครับ Hand Sanitizers
มันขึ้นเครื่องบินไปกับเราได้ หรือจะใส่ในกระเป๋าเดินทางโหลดไปใต้ท้องเครื่องบินก็ได้ด้วย ทั้งๆที่มันก็มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

ปัญหานี้ไม่จบง่ายๆเสียแล้วครับ
คงต้องขอให้หน่วยงานราชการฟันธงล่ะ
เดี๋ยวหาคำตอบมาเฉลยอีกทีครับ
กลับมาอ่านนะ


วันที่ 27 มีนาคม 2563 สำนักงานการบินพลเรือนประกาศเพิ่มเติมว่าให้นำขึ้นเครื่องบินได้และผ่อนผันให้นำขึ้นเครื่องบินได้มากกว่า 100 ml

อัพเดตข้อมูล

“เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้เป็นไปตามแนวทางของ World Health Organization (WHO) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยยังคงมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนตามข้อกำหนดของ แผนรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามข้อ 2 (18) และข้อ 4 (8) ของข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 83 ว่าด้วยการตรวจค้นเพื่อรักษาความปลอดภัยในการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ผู้ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะผ่อนปรนการตรวจค้นเจลล้างมือ (Liquid hand sanitizer) ตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล สเปรย์ที่จะนำขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยานหรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2562 โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
(1) ให้อนุญาตให้ผู้โดยสาร ผู้ประจำหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานบนห้องโดยสารอากศยาน และผู้ปฺฏิบัติงานในสนามบิน นำเจลล้างมือขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยานหรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะได้ในบรรจุภัณฑ์ที่มีความจุไม่เกิน 350 มิลลิลิตร (12 ออนซ์) โดยบรรจุภัณฑ์ต้องมีลักษณะที่ปิดสนิทและมีข้อความระบุความจุดังกล่าวอย่างชัดเจน
(2) ให้อนุญาตให้ผู้โดยสาร ผู้ประจำหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานบนห้องโดยสารอากศยาน และผู้ปฺฏิบัติงานในสนามบิน นำเจลล้างมือตาม (1) ขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยานหรือนำเข้าไปในเขตหวงห้าม ของสนามบินสาธารณะได้คนละหลายชิ้น แต่ต้องมีปริมาณรวมกัน หรือรวมกับของเหลว เจล เสปรย์อื่นๆ สูงสุดได้ไม่เกินคนละ 1,000 มิลลิลิตร
ข้อ 2 กรณีมีเหตุสงสัย พนักงานตรวจค้นสามารถแจ้งผู้โดยสาร ผู้ประจำหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานบนห้องโดยสารอากศยาน และผู้ปฺฏิบัติงานในสนามบิน ให้ทำการทดสอบเจลล้างมือ (Liquid hand sanitizer) ได้ตามวิธีการที่เหมาะสม
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป ทั้งนี้ จนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะสิ้นสุดไปตามประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเกี่ยวกับโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมโรคติดต่อ
ประกาศ ณ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563″

หากฝ่าฝืน จะเป็นการกระทำความผิดพรบ.การเดินอากาศ ตาม

มาตรา ๑๕/๓๑ ห้ามมิให้บุคคลใดส่งหรือพาวัตถุอันตรายหรือสิ่งของต้องห้ามหรือ
ต้องดูแลเป็นพิเศษไปกับอากาศยาน เว้นแต่จะให้หรือสำแดงข้อมูลต่อผู้ขนส่งตามข้อกำหนด หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 80,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Ref: ประกาศ กพท. เรื่องหลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล สเปรย์ (LAGs) ที่จะนำขึ้นห้องโดยสารอากาศยานหรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2562 

Tags:

Comments are closed
0
0