House of Airmanship

จะเป็นนักบินที่ดีต้องมี Airmanship

เรื่อง airmanship นั้นผมเคยเขียนไปแล้วสั้น ๆ ในหนังสือ A Pilot เล่มแรก วันนี้จะมาเขียนอีกครั้งแบบเต็ม ๆ ว่า Airmanship นั้นมันคือ อะไร ยังไง

เรื่องการบินนั้น แน่นอนต้องมีเครื่องบินกับนักบิน

แต่การบินพาณิชย์นั้นไม่ได้บินคนเดียว ลำเดียว การบินพาณิชย์มีเครื่องบินอยู่บริเวณเดียวกันหลาย ๆ ลำ Airmanship สำหรับการบินพาณิชย์จึงมีองค์ประกอบของการมีมารยาทที่จะบินด้วยกันบนน่านฟ้าด้วย เรื่องนี้นักบินด้วยกันรู้ดีว่า การเอาเปรียบกันบนน่านฟ้าแบบไหน ที่เรียกว่า นักบินขาด airmanship

เกริ่น ๆ ไว้เท่านี้ครับ

พูดถึงเรื่อง airmanship ตามทฤษฏีกันดีกว่า

airmanship นั้นหมายถึง การที่นักบินมีการตัดสินใจที่ดีต่อการปฏิบัติการบินในสถานการณ์ใด ๆ หรือตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ในการบิน บางทีผมอยากแปลว่า มารยาทในการบินเข้าไปด้วย

ผมแปลจากความเข้าใจและประสบการณ์นะครับ ไม่ได้อ้างอิงตำรับ ตำราที่ไหน จะเข้าเป้าตามหลักวิชาการขั้นปริญญาเอกหรือเปล่าไม่ทราบ เอาเป็นว่า airmanship แบบผม เป็นแบบนี้

องค์ประกอบของการที่นักบินคนหนึ่ง จะมีความสามารถที่จะตัดสินใจอะไร ๆ ระหว่างการบินได้อย่างถูกต้องนั้นมีหลายองค์ประกอบร่วม ตาม House of Airmanship ของ Kern ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

ส่วนพื้นฐาน หรือ Bedrock Principles

ส่วนของความรู้ หรือ Pillars of Knowledge

และส่วนที่เป็นผลลัพธ์จาก สองส่วนแรก หรือ Capstone of outcomes

ส่วนของ bedrock principles นั้นหมายถึง ต้นทุนที่มีอยู่ในตัวนักบิน ซึ่งมี 3 ส่วนคือ

discipline (วินัยและการฝึกฝน), skill (ทักษะ), proficiency (ความสามารถ)
ความหมายน่าจะตรงตัวอยู่แล้วนะครับ มีวินัยและได้รับการฝึกฝนเพิ่มทักษะอยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น

สะสมความรู้และประสบการณ์ ทั้งตนเอง เครื่องบินที่เราบิน การทำงานเป็นทีม สภาพแวดล้อมและรู้ว่าอะไรคือ ความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอันตราย
ส่วนของ Pillars of Knowledge จึงประกอบไปด้วย Self, Aircraft, Team, Environment, Risk จะเห็นว่า ส่วนนี้ตั้งใจให้เป็นเสาตั้งขึ้น หมายถึง การเพิ่มพูนความรู้เพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ หลังคาก็จะสูงขึ้น เป็นการเพิ่มความสามารถในการระแวดระวังหรือประเมินสถานการณ์ในภาวะต่าง ๆ ซึ่งหมายถึง Situation Awareness เมื่อมี situation awareness ที่ดีก็จะทำให้มีความสามารถที่จะตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี (Judgement) ส่วนสูงสุดหรือ Captstone of outcomes นั้นจึงจะอยู่สูง

Airmanship สามารถพัฒนาได้ ถ้าเปิดมุมมองในการรับรู้สิ่งใหม่ ๆ และใส่ใจในความก้าวหน้าของวิทยาการอยู่เสมอ เป็นนักบินต้องไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ อย่าหลงตัวเองว่าเป็นนักบิน บินมานาน บินเก่ง ไม่เคยเป็นหรือมีปัญหาอะไร หากหลงปล่อยให้ตัวเองเป็นแบบนั้นเมื่อไหร่ หากวันใด โอกาสของอุบัติเหตุนั้นเล็ดลอดเข้ามาได้เพราะการไม่ระวังตัว ระวังตน ประมาท เลินเล่อ และ excessive confidence คือ ม่านบังตาทำให้ไม่เห็นปัญหา และเมื่อเห็นปัญหาแล้ว ก็ไม่มีปัญญาที่จะแก้ไข เพราะ pillars of knowledge ต่ำเกินไป การตัดสินใจจึงเกิดความผิดพลาด ถ้าไม่ร้ายแรง ก็อาจมีโอกาสแก้ตัวใหม่ แต่หลาย ๆ คนไม่เคยมีโอกาสได้แก้ตัว

“complacency” หรือ ความเพลิดเพลิน ย่ามใจ และมีความหลงระเริงในตัวเอง คือ หลุมพลางแห่งหายนะของนักบิน

สะสมทุก ๆ เรื่องในโลกแห่งการบินยุคใหม่ ทั้ง Safety Management System (SMS), Reporting System, Quality Management System (QMS), Security Management System (SeMS), Dangerous Good Regulation, Load Control, Weight and Balance, Crew Resource Management (CRM), Human Factors (HFAC), Threat and Error Management (TEM), Hazard Identification and Risk Management (HIRA), Root Cause Analysis (RCA) ยังไม่นับรวมถึงพิธีการบินในแบบต่าง ๆ ที่นักบินต้องเรียนรู้และสะสมประสบการณ์

เตือนน้อง ๆ เอาไว้ ต่อไปเป็นนักบินพาณิชย์

ไม่ว่าจะบินมาแล้วกี่ปี หรือเป็นกัปตันมานานสิบ ๆ ปี “จงอย่าเป็นนักบินน้ำเต็มแก้ว” เพราะมันอันตรายที่สุดสำหรับการบินพาณิชย์

เครื่องบินพาณิชย์บินกันสองคน และผู้ร่วมงานมีทั้งลูกเรือ ช่าง และพนักงานภาคพื้นอื่น ๆ เมื่อไหร่ที่ไม่ฟังใคร สุดท้ายก็ไม่มีใครอยากให้ความร่วมมือ ถ้าจะบินคนเดียวให้ไปบิน Cessna 152 (ผมชอบรุ่นนี้ ปีกบน เห็นวิวชัดดี บิน slow flight นี่ลมพัดแรง ๆ แทบคว่ำ)

ค่อย ๆ เก็บเกี่ยวทุก ๆ วันที่บิน House of Airmanship ก็จะสูงขึ้น ๆ ไม่ว่าปัญหาหรืออุปสรรค์ใด ๆ ในการบินเกิดขึ้น จะเกิดจาก hazard ที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เราก็จะสามารถใช้ airmanship ของเราในการจัดการกับปัญญานั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

“Airmanship คือ หัวใจของนักบินอาชีพ”

Tags:

Comments are closed
0
0