กว่าจะเป็นกัปตัน
(edited 16Sep2022) เมื่อ 29 ปีก่อน ผมเรียนขับเครื่องบิน ที่ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน (หัวหิน) ด้วยทุนนักบินฝึกหัด (Student Pilot Scholarship) การเรียนเป็นนักบินที่หัวหิน ใช้เวลา กิน นอน อยู่กับเพื่อน ๆ ในรุ่นที่สนามบินหัวหิน 1 ปีเต็มๆ เพื่อเรียนหนังสือ และขับเครื่องบินเล็ก การเรียนภาคพื้นเป็นเรื่องพื้นฐานความรู้ในด้านการบินต่าง ๆ เช่น Meteorology, Radio Communication, Navigation, Power Plants, Fuel, Aerodynamics, Basic Flight Control ฯลฯ หลังจากเรียนพื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องบินได้ระดับหนึ่งแล้วก็จะเริ่มขึ้นบินกับเครื่องใบพัดลำเล็ก ๆ เริ่มต้นจากเครื่องบินเครื่องยนต์เดียว และฝึกฝนทักษะการบินจนบินเครื่องบินที่มี 2 เครื่องยนต์ หลังจากสะสมประสบการณ์การบินต่าง ๆ ตามหลักสูตร การฝึกบินนั้นจะมีทั้งการบินในเวลากลางวัน เวลากลางคืน การฝึกบินอยู่ในสภาพอากาศสมมุติ (ใช้หน้ากากปิดบังไม่ให้มองไปด้านหน้า และให้บินโดยใช้เครื่องวัดประกอบการบินในการนำร่องเพียงอย่างเดียว เรียกภาษานักบินว่า Instruments Flying)
ตอนแรก ๆ ต้องบินกับครูการบินไปก่อนจนกระทั่งครูเห็นว่า สามารถบินได้แล้วจึงจะปล่อยให้ขึ้นบินคนเดียวได้ พวกเราเรียกกันว่า “ปล่อยเดี่ยว”
วัน “ปล่อยเดี่ยว” เป็นอีกวันที่มีความหมายของการเป็นนักบินฝึกหัด เป็นวันที่น่าตื่นเต้นและจดจำสำหรับชีวิตนักบินทุกคนครับ (Last Solo จะโดนจับโยนทะเล) การเรียนพื้นฐานเกี่ยวกับการบินนั้น เพื่อให้ได้รู้ถึงวิธีการบินต่าง ๆ จนสามารถที่จะประกอบอาชีพเป็นนักบินพาณิชย์ได้ (Commercial Pilot License) โดยเมื่อบินครบหลักสูตรแล้วจะต้องมีชั่วโมงบินไม่น้อยกว่า 250 ชั่วโมง (โดยมีข้อกำหนดรายละเอียดมากมาย ปัจจุบันอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว)
ถ้าเป็นหลักสูตรเพื่อบินเครื่องบินส่วนตัว (ห้ามบรรทุกผู้โดยสาร) จะกำหนดไว้เพียง 50 ชั่วโมงบินเท่านั้น แต่ต้องผ่านการทดสอบด้านการบินและความรู้พื้นฐานบางส่วนด้วย เรื่องนี้ผู้ออกใบอนุญาตจะเป็นผู้รับผิดชอบ หลังจากจบหลักสูตรของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนแล้ว จึงจะได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงานของบริษัท
ผมเข้าทำงานกับบริษัทหลังจากหนึ่งปีให้หลัง แม้ว่าเราจะเรียนพื้นฐานมาจากหัวหินแล้ว แต่หลาย ๆ อย่าง บริษัท ก็ให้เราเรียนเพิ่มอีกครั้งและเราต้องเรียน กฏระเบียบและกฏหมายอื่น ๆ ที่เป็นมาตรฐานสากล รวมทั้งขั้นตอนการปฏิบัติงานตามแบบที่บริษัทกำหนดไว้ รวมทั้งเรียนรู้วิธีการบินที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของเครื่องบินพาณิชย์ต่าง ๆ เช่น การบินในสภาพอากาศที่เลวร้าย อย่างเช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ลมกระโชกแรง หรือสภาพอากาศปิดมองไม่เห็นนอกเครื่องบินเลย แต่เครื่องบินจะสามารถลงสนามอย่างปลอดภัยได้อย่างไร เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะพาเครื่องบินลงสนามได้หรือไม่ และเมื่อไหร่ที่ควรตัดสินใจยกเลิกการลงสนาม ช่วงนี้จะใช้เวลาอีก 1-2 เดือนในการศึกษาตำรับตำราต่าง ๆ ระยะเวลาที่ใช้เรียน ถือว่าสั้น แต่เนื้อหาถือว่ามากมายแสนสาหัสเมื่อเทียบกับเวลาที่มีอยู่
สมัยนั้นผมต้องยอมจ่ายเงินเช่าอพาร์ทเม้นต์หลังบริษัท อยู่กับเพื่อน 2-3 คน เพื่อให้มีเวลาอ่านหนังสือทบทวนมากขึ้น แม้ว่าบ้านจะอยู่ไม่ไกลจากบริษัทนัก หลังจากผ่านการสอบประเมินความเข้าใจในแต่ละเรื่องที่บริษัทให้ทำการศึกษา ก็จะเริ่มเรียนรายละเอียดของเครื่องบินที่เราจะบิน เรียนทุกระบบ ตั้งแต่ ความกว้าง ความยาวของเครื่องบิน ระบบเครื่องยนต์ การติดเครื่องยนต์ ระบบปรับความดัน ระบบปรับอากาศ ระบบฐานล้อ และระบบการควบคุมเครื่องบินอัตโนมัติต่าง ๆ รวมทั้งระบบและวิธีการช่วยเหลือผู้โดยสารในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ (Emergency Procedures) ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดด้วย
เมื่อเสร็จสิ้นการเรียนภาคพื้นแล้วก็เป็นการเตรียมตัวเพื่อเข้าฝึกบินในเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) ของบริษัทตามแบบเครื่องบินที่เราเรียน นักบินพาณิชย์ที่จะบินเครื่องโดยสารจะบินเครื่องบินได้ทีละแบบเท่านั้น จะบินสลับไปมาไม่ได้ ไม่เหมือนขับรถที่เราสามารถเปลี่ยนขับได้หลายยี่ห้อหลายรุ่นในวันเดียว แต่สำหรับนักบินถ้าจะเปลี่ยนรุ่น เปลี่ยนยี่ห้อ ต้องไปเรียนหนังสือใหม่ก่อน
จากนั้นก็ต้องเข้าฝึกกับเครื่องฝึกบินจำลองอีก การฝึกในเครื่องฝึกบินจำลองจะทำการฝึกเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในคู่มือฉุกเฉิน (Emergency/Malfunction Checklist) รวมถึงการนำความรู้ที่ได้เรียนมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นการฝึกปฏิบัตทั้งด้านเทคนิคของเครื่องบิน (Aircraft Technical) และด้านขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นการเฉพาะของเครื่องบินแบบนั้น ๆ (Checklist & Flight Procedures) กว่าจะผ่านการฝึกใน simulator นั้นจะต้องถูกตรวจสอบความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น ระเบียบปฏิบัติในการบิน ข้อบังคับสากล ข้อปฏิบัติของแต่ละประเทศที่บินผ่านที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากมาตรฐานกลาง และอื่น ๆ อีกมากมาย (Standard Operating Procedures, Rules and Regulations, Country Supplementary Information etc.) ตรงนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน
เมื่อผ่าน simulator มาแล้ว ก็จะได้ขึ้นบินกับเครื่องบินจริง ๆ โดยยังไม่รับผู้โดยสาร เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า “School Flight” ซึ่งเป็นการ นำเครื่องบินขึ้นลง ให้นิ่มนวลและปลอดภัย ก่อนที่จะบินจริงกับเครื่องที่มีผู้โดยสารปกติ การฝึกบินให้ปลอดภัยนั้น ได้ทำการฝึกแล้วใน simulator แต่จำเป็นต้องทำ school flight เพื่อให้มั่นใจและคุ้นเคยกับการบังคับจริง เมื่อผ่าน school flight มาแล้ว ก็ได้ขึ้นบินเที่ยวบินจริง แต่ยังมีครูการบินไปตามประกบอยู่ด้วยอีกระยะหนึ่ง ยังคงเรียกว่าเป็นการฝึกอยู่ แม้ว่าตามกฏหมายจะสามารถบินได้แล้ว แต่บริษัทจะกำกับดูแลจนกว่าจะมั่นใจแล้วว่าได้ตามมาตรฐานที่ดีพอ จึงให้เป็นนักบินผู้ช่วย (co-pilot) เราเรียกว่า “Base release for co-pilot” คือ ไปบินเป็นนักบินผู้ช่วยกับกัปตันคนไหนก็ได้ (ไม่ต้องบินกับครูการบินก็ได้) ถือเป็น “line pilot” ไม่ต้องมีคำว่า trainee ติดตัวแล้ว นักบินฝึกหัดแต่ละคนจะใช้เวลาในการผ่านขั้นตอนนี้ไม่เท่ากัน บางคนเร็ว ก็แค่ 4-5 เดือน บางคนช้า อาจจะนานถึงเกือบหนึ่งปี
หลังจากเป็น co-pilot อาจจะเริ่มต้นจากเครื่องบินพาณิชย์ลำเล็ก ไม่ใหญ่ไม่โต ขนาด 140-260 ที่นั่ง ทำการบินในเส้นทางบินใกล้ๆ บินอยู่สักปี สองปีก็จะขยับขึ้นไปบินเครื่องบินที่มีพิสัยการบินไกลขึ้น (Long haul flight) นักบินก็จะต้องไปเข้าขั้นตอนการเรียนหนังสือและทำการฝึก ตั้งแต่ต้นใหม่หมดทุกขั้นตอนเหมือนเป็นการทบทวนความรู้กันใหม่ และล้างระบบของเครื่องบินแบบเก่าทิ้งไปทั้งหมดเพราะข้อบังคับสากลแล้ว ห้ามบินเครื่องบินที่มีระบบบังคับแตกต่างกันในคราวเดียวกัน เช่น เดิมบิน A300-600 จะไปบิน B777 เลยไม่ได้ ต้องมาฝึกใหม่หมดเส้นทางนักบินในบริษัทที่มีเครื่องบินหลายประเภท ยกตัวอย่าง ของผมเอง เริ่มต้นด้วยการเป็น
นักบินดูแลระบบเครื่องบิน (System Operator) Boeing B747-200/300
Co-Pilot Airbus A300-600
Co-Pilot Boeing B777
Co-Pilot Boeing B747-400
เข้าทำการเรียนและฝึกแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นรวมแล้ว 4 ครั้งตามกฏระเบียบก่อนจะได้รับการฝึกเป็นกัปตันของการบินไทยต้องเป็นนักบินมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี และต้องเป็นนักบินผู้ช่วยอาวุโส ซึ่งเราเรียกว่า Senior Co-Pilot มาไม่น้อยกว่า 4 ปี แต่โดยส่วนใหญ่นักบินจะใช้เวลาการเป็นนักบินผู้ช่วยอยู่ประมาณ 10 ปี หรือมากกว่านั้นกว่าจะได้เข้ารับการฝึกเพื่อเป็นกัปตัน การเป็นนักบินผู้ช่วยอาวุโสนี่แหละคือสิ่งที่สายการบินอื่นต้องการ
ทำไม?
เพราะนักบินผู้ช่วยอาวุโสนั้น นอกจากต้องสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก (ATPL: Airline Transport Pilot License) แล้ว ยังต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของบริษัทมาแล้วอย่างเข้มข้น
ตัวอย่างเช่น
– การผ่านขั้นตอนการฝึกตามที่กล่าวมาข้างต้น หลายครั้ง
– การฝึกระหว่างเส้นทาง การศึกษาหาความรู้กฏเกณฑ์ของแต่ละประเทศที่บินผ่าน
– การฝึกและเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบิน (Future Air Navigation)
– เทคโนโลยีใหม่ ๆ ของสนามบิน
– การตรวจสอบมาตรฐานการบินใน simulator ปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 2 session ๆ ละ 4 ชม.
– การเช็คมาตรฐานบนเที่ยวบินจริง โดย Supervisory Pilot
– การเรียนรู้เกี่ยวกับกฏข้อบังคับสากลใหม่ ๆ ทั่วโลก
– การแก้ปัญหาฉุกเฉิน และเรื่องสินค้าอันตราย ฯลฯ
การเป็นนักบินนั้นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะโลกแห่งการบินพัฒนาเพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบายเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ (แต่เป็นภาระให้นักบินเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน)
สั่งซื้อหนังสือผ่าน shopee https://shopee.co.th/apilotbook
ติดตาม A Pilot Club ได้ทาง
ยูทูปช่อง Captain Sopon https://www.youtube.com/c/SoponPhikanesuan
เฟสบุ๊ค https://wwwfacebook.com/apilotbook
เว็บไซต์ http://www.apilotclub.com/
เป็นเพื่อนกับเราทางไลน์ออฟฟิศเชียล https://lin.ee/BQyGDbK
ซื้อหนังสือ A Pilot Book ได้ที่ https://shopee.co.th/apilotbook