ว่าด้วยเรื่องยางของเครื่องบิน

ก่อนจะเขียนเรื่องที่จั่วหัวไว้ อยากพูดถึงสมรรถนะของยางก่อนนะครับ ทุก ๆ ครั้งก่อนการออกเดินทาง จะมีช่างหรือนักบินเดินตรวจสภาพของเครื่องบินก่อนเสมอและสิ่งหนึ่งที่ต้องดูทุกครั้ง คือ สภาพของยาง

เราต้องมั่นใจมันว่า จะทำหน้าที่ได้อย่างดี ยางสำคัญมากสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ ถ้าการลงสนามก่อนหน้านี้ ยางเข้าสู่สภาพไม่ดี มีรอยปริ หรือแตก หรือ เนื้อยางถูกเฉือนหายไปก็จะต้องทำการเปลี่ยนยางเส้นใหม่ทันที

tire failure, tire blown-out หมายถึง ยางแตก จะแตกด้วยสาเหตุอะไรก็ว่าไป
ส่วน flat tire หรือ deflated tire หมายถึง ยางแบน อาจจะไม่ระเบิด
คำสองประเภทนี้ไม่เหมือนกัน แต่ผลของมันเหมือนกันคือ ยางไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน

Remember Wrinks White Gel (white jel)

ส่วนคำว่า inflated tire คือ ยางที่เติมลมแล้ว
ล้อเครื่องบินนั้นเติมด้วยความดันที่ค่อนข้างสูง แล้วแต่ขนาดและแบบของเครื่องบิน ซึ่งอยู่ราว ๆ 190-220 psi (ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) ยางรถยนต์เรา 30-35 psi เท่านั้น
การ service ยางของเครื่องบิน ก็มีโอกาสเกิดอันตรายจากการระเบิดได้แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า pressure relief valve แล้วก็ตาม

ยางของเครื่องบินนั้นบังคับให้เติมลมด้วย nitrogen เท่านั้น เพราะก๊าชไนโตรเจนเป็นก๊าซที่มีการขยายตัวน้อยเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น และที่สำคัญคือ ไม่ติดไฟ

“เปลี่ยนยางแล้วต้องวัดลมยางด้วยทุกครั้งว่าความดันลมอยู่ในระดับที่ต้องการหรือไม่ เรียกว่า ความดันลมยางเมื่อมี load หรือ weight-on-wheel
เครื่องบินไม่เหมือนรถยนต์ น้ำหนักรถยนต์มีเพียง 2-3 ตัน อาจทำให้ความดันลมยางเปลี่ยนไปได้ไม่ถึง 1 psi. แต่เครื่องบินนั้นมีน้ำหนักมากหลายร้อยตัน ความดันลมยางเปลี่ยนแปลงมากนะครับ ระหว่าง load กับ upload”

โดยปกติแล้วยางของเครื่องบินนั้นจะต้องมีความทนทานและยืดหยุ่นสูง เพราะว่ามันจะอยู่ในสภาพที่มีความร้อนสูงมาก ๆ เวลาที่เครื่องบินบินลงสนาม และมันมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่ค่อนข้างรวดเร็ว ลองนึกภาพบินมา 10 กว่าชั่วโมง อุณหภูมิบนฟ้าติดลมหลายสิบองศา ลงมาสัมผัสพื้น อุณหภูมิที่จานเบรคบางทีขึ้นถึง สองร้อยกว่าองศาเซลเซียส ถ้าเกิน 300 องศานี่ยางแตกเรียบแน่ๆ
เครื่องบินบางแบบจึงมีการติดพัดลมที่ล้อ เพื่อที่จะทำการระบายอากาศที่จานเบรค

การลงสนามนั้น มีโอกาสทำให้เกิดยางแตกได้มากกว่าการวิ่งขึ้น เพราะการลงสนาม ยางจะมีความเร็วก่อนสัมผัสพื้นเป็น 0 แต่เครื่องบินมีความเร็วราว ๆ 120-140 knots (222-259 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

ภาพจาก avherald.com

จังหวะที่ยางสัมผัสพื้นจึงเป็นจังหวะที่มีแรงเฉือนมากมีโอกาสที่ยางจะสึกหรือถูกเฉือนออกไป หรือการที่น้ำหนักตัวของเครื่องบินกดทับหรือกระแทกลง ยางคือส่วนที่รับภาระนั้น ระหว่างที่ล้อสัมผัสและหมุนไปกับพื้นจะเกิดความร้อนที่ยางสูงและเมื่อเริ่มมีการเบรค ความร้อนก็จะเพิ่มขึ้นเพราะแรงเสียดทานที่เกิดจากการเบรคเพื่อลดความเร็วหรือการเหยียบสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ควรอยู่ในรันเวย์ (เราเรียกว่า FOD= foreign object debris) ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้การลงสนามเกิดยางแตกได้ง่ายหากสภาพของยางไม่สมบูรณ์

ส่วนการวิ่งขึ้น (takeoff) ยางสัมผัสกับพื้นอยู่ตลอดและค่อย ๆ เพิ่มความเร็วไปตามความเร็วของเครื่องบิน ความเครียดไม่มี การกระแทกไม่มี ความร้อนไม่มี

โอกาสที่จะเกิดยางแตกก็มีเหมือนกัน เช่น ความเร็วเกินค่าที่กำหนดของสมรรถนะที่ยางจะรับได้เรียกว่า เกิน max tire speed หรือเหยียบวัสดุแปลกปลอม แค่เศษวัสดุเล็ก ๆ ก็ทำให้ยางแตกได้ครับ 

***อย่าลืมว่า ความเร็วของเครื่องบินตอนวิ่งขึ้น บางครั้งอาจมากถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักเครื่องบินก็เป็นหลายสิบถึงหลายร้อยตัน*** เหยียบเศษก้อนหินเล็ก ๆ ก็อาจจะระเบิดแล้วครับ

เข้าเรื่องดีกว่าครับ คำถามมีอยู่ว่า

“ตอน takeoff แล้วเกิดยางแตก เราจะหยุด (abort takeoff) หรือ ไปต่อ (continue takeoff)”

คำตอบคือ แล้วแต่ความเร็วขณะนั้นครับ 

การแตกของยาง

หากความเร็วยังไม่มาก (ไม่เกิน 100 knots) ควรหยุด

แต่ถ้าความเร็วเกินกว่านั้นโดยเฉพาะเมื่อเกิน V1 (critical speed หรือ decision speed สงสัยเรื่อง V1 ให้ลองอ่านเรื่องหยุดหรือไปดีกว่ากันครับ ผมเขียนไว้แล้วใน A Pilot เล่มแรก) ไม่ควรหยุดหรือ abort takeoff เด็ดขาด  ****อันตรายมาก***  ให้บินขึ้นไปแล้วค่อยกลับมาลงจะปลอดภัยกว่า

ทำไมหรือครับ ????

1. ความเร็วต่างกัน

2. การเบรคที่ความเร็วสูงยางต้องรับความเครียดสูง และเกิดความร้อนสูงมากด้วย

3. การเบรคตอน takeoff ต้องใช้เบรคเต็มพิกัด maximum brake pressure (อัดเต็มที่) เพราะว่าระยะทางบนรันเวย์เหลือไม่มากแล้ว 

ภาพจาก news inflight

4. การเบรคเพื่อลดความเร็วโดย ยางหายไปหนึ่งเส้น friction หรือแรงเสียดทาน ก็เหลือน้อยลง ประสิทธิภาพในการเบรคจึงหายไปด้วย

5. ความเครียดที่ยาง หรือน้ำหนักที่กดลงบนยางเนื่องจากการ abort ที่ความเร็วสูงนั้น มากกว่าน้ำหนักจริงของเครื่องบินหลายเท่าตัว

เพราะฉะนั้น ไปต่อ แล้วค่อยกลับมาลง ดีกว่าทุกกรณี

Official line A Pilot Club “@a-pilot” มี @ ด้วยนะครับ

กัปตันโสภณ พิฆเนศวร
เวบ A Pilot Club มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และแชร์ความรู้ข่าวสารต่าง ๆ ให้กับผู้ที่สนใจ
ซื้อหนังสือ A Pilot ได้ที่นี่
http://www.apilotclub.com/books/
สามารถติดตามข้อมูลจากเฟสบุ๊คเพจ *อย่าลืมกด see first ใน news feed นะครับ*
https://www.facebook.com/aPilotBook
หรือเฟสบุ๊คของกัปตันโสภณ
https://www.facebook.com/Capt.sopon

QR code เข้ากลุ่ม Line Square A Pilot Club เพื่อสมาคมกันเรื่องการบินครับ

เข้ากลุ่ม LINE “A PILOT CLUB” SQUARE

Tags:

Comments are closed
0
0