Safety and Security


Security กับ Safety นั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแทบจะตลอดเวลา หากแปลตรงตัวตามหลักภาษา คำว่า Security แปลว่า การรักษาความปลอดภัย ขยายความได้อีกว่า เป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุหรือทำให้ความปลอดภัยถูกลดทอนลง หรือเป็นมาตรการที่ต้องการเพิ่มการกำกับดูแลและเฝ้าระวังมิให้เกิดข้อบกพร่องและจุดอ่อนที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินในระหว่างการเดินทาง

ถึงแม้ว่าเที่ยวบินในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นเที่ยวบินสั้นๆใช้เวลาเดินทางไม่นานนัก 

แต่มาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของผู้โดยสารไม่ได้ลดหรือหดสั้นลงไปด้วย 

ที่ผ่านมามีบ้างที่ผู้โดยสารอาจไม่เข้าใจเจตนาของพนักงานในการปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ 

วันนี้ผมจึงขออธิบายหลายๆเหตุการณ์ให้เข้าใจตรงกันครับว่ามีความเป็นมาอย่างไรและมีผลกระทบกับท่านอย่างไร

การควบคุมและจัดการด้านความปลอดภัยนั้นเป็นการปฏิบัติงานร่วมกันของหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของการท่าอากาศยานหรือพนักงานของสายการบิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องอาศัยความเข้าใจและร่วมมือในการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ต่างๆจากผู้โดยสารด้วยเช่นกันครับ

เริ่มตั้งแต่การเช็คอินของผู้โดยสารที่มีกระเป๋าสัมภาระที่จะต้องบรรทุกใต้ท้องเครื่องบิน

กระเป๋าหรือสัมภาระที่ต้องบรรทุกใต้ท้องเครื่องบินนั้น จะถูกลำเลียงเข้าเครื่อง x-ray ของการท่าอากาศยาน เพื่อทำการ scan วัตถุต้องห้ามว่ามีบรรจุไว้หรือไม่ เช่น วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ บรรจุภัณฑ์อัดแก๊สชนิดต่าง ๆและรวมถึงวัตถุอีกหลาย ๆ ประเภทที่เราอาจคิดว่าสามารถโหลดขึ้นเครื่องบินได้ แต่ความจริงแล้วกลับเป็นวัตถุที่สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อการเดินทางได้อย่างร้ายแรง ตัวอย่างเช่น Power Bank ที่ไม่อนุญาตให้บรรทุกใต้ท้องเครื่องบิน แต่อนุญาตให้พกติดตัวได้ในขนาดไม่เกินที่กำหนดไว้ เพราะว่า หาก power bank มีการชำรุดเสียหายมันสามารถทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ โดยที่ระบบดับเพลิงที่ติดตั้งภายในห้องเก็บสัมภาระใต้ท้องเครื่องไม่สามารถควบคุมเพลิงไหม้ที่เกิดจาก power bank ที่มีส่วนประกอบของลิเทียมไอออนได้

ท่านผู้โดยสารควรศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ก่อนเดินทาง มิเช่นนั้นจะทำให้ท่านต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้น เพราะหลังจากโหลดกระเป๋าที่เคาน์เตอร์เช็คอินแล้ว หากเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานตรวจพบวัตถุต้องสงสัยในระหว่างการ x-ray เจ้าหน้าที่จะขอให้ทางสายการบินติดตามตัวท่านมาเปิดกระเป๋าเพื่อตรวจสอบ และนำสิ่งของต้องห้ามเหล่านั้นออกจากกระเป๋า ผู้โดยสารควรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและผู้โดยสารคนอื่น ๆ ด้วย 

ดังนั้นการเดินทางโดยมีสัมภาระโหลดใน้ท้องเครื่องบินจึงควรเผื่อเวลาในการมาเช็คอินก่อนเวลาเดินทางตามที่กำหนดด้วยครับ (ภายในประเทศ ไม่น้อยกว่า 45 นาที ต่างประเทศมากกว่า 1 ชม.) สายการบินจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้บริการผู้โดยสารอย่างสม่ำเสมอ อย่างเช่นการเช็คอิน ผู้โดยสารที่เดินทางบางสายการบินก็สามารถเช็คอินด้วยตัวเองได้ ผ่านทางคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟนและ Apple Watch (ในกรณีที่ไม่มีสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่อง) ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางกับเด็กทารก ผู้โดยสารที่ต้องใช้เก้าอี้รถเข็น (wheelchair) ผู้โดยสารป่วย หญิงตั้งครรภ์ และพระสงฆ์ ต้องมาเช็คอินที่เคาน์เตอร์เช็คอินเท่านั้น เพราะการโดยสารหรือการระบุที่นั่งจะถูกจำกัดตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการโดยสาร ยกตัวอย่างเช่น

เด็กทารก ที่อายุไม่ถึง 14 วัน จะไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่องบิน เรื่องนี้เป็นความปลอดภัยของเด็กเองครับ เพราะทารกอายุน้อยมาก ๆร่างกายยังไม่แข็งแรง การปรับสภาพความดันอากาศและแรงสั่นสะเทือนที่อาจเกิดขึ้นกระทันหัน อาจทำอันตรายให้กับตัวเด็กได้ ผู้โดยสารที่เดินทางกับเด็กทารกจึงต้องนำหลักฐานมาแสดงด้วยว่า เด็กทารกที่เดินทางมาด้วยอายุมากกว่า 14 วัน (สายการบินส่วนใหญ่จะไม่คิดค่าโดยสาร เด็กทารกมักจะเดินทาง ฟรี ครับ)

ผู้โดยสารป่วย เช่น เพิ่งได้รับการผ่าตัด หรือออกจากโรงพยาบาล ผู้โดยสารต้องมีหลักฐานใบรับรองแพทย์มาแสดงว่า มีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะเดินทางโดยเครื่องบิน (แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้วินิจฉัย) ผู้โดยสารต้องเข้าใจว่าการเดินทางโดยเครื่องบินนั้น มีเรื่องของความดันอากาศหรือความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเครื่องบินเปลี่ยนระดับความสูง หากเพิ่งผ่านการผ่าตัดมาไม่นาน แผลที่เย็บยังไม่สนิท (บางทีภายนอกอาจดูว่าปกติแต่สภาพภายในอาจจะยังไม่สมบูรณ์) เมื่อเดินทางโดยเครื่องบินอาจจะเป็นอันตรายทำให้บาดแผลที่เย็บอยู่เกิดการขยายตัวและได้รับอันตรายได้ เพราะฉะนั้น หากเพิ่งออกจากโรงพยาบาลควรปรึกษาแพทย์และขอใบรับรองแพทย์มาด้วย กรณีการป่วยอื่นๆที่ไม่ใช่การผ่าตัดก็จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเดินทางนะครับ ทั้งนี้เพื่อให้การเดินทางราบรื่น 

ตรงนี้ต้องขอความเห็นใจแก่พนักงานของเราด้วยครับที่บางครั้งจำเป็นต้องตรวจสอบ และห้ามหรือปฏิเสธการเดินทางของผู้โดยสารหากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายในระหว่างเที่ยวบิน ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้โดยสารเอง และความสะดวกสบายในการเดินทางของผู้โดยสารท่านอื่น ๆ บนเที่ยวบินครับ

การผ่านเข้าสู่ตัวอาคารผู้โดยสารก็เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง ที่เราเรียกว่า Security Check 

ก่อนที่จะผ่านเข้าไปภายในบริเวณทางเดินเพื่อไปขึ้นเครื่องบิน สิ่งของหลาย ๆ อย่างที่เรานำติดตัวไปนั้น อาจจะถูกเจ้าหน้าที่ยึดและนำไปทำลายได้ อย่างเช่น ของเหลวเกินปริมาณที่กำหนด ของมีคมจิปาถะ สิ่งของเหล่านี้สามารถนำไปใช้ผิดประเภท ผู้โดยสารจึงควรทำการตรวจสอบตามเอกสารแนะนำว่าไม่พกสิ่งของต้องห้ามติดตัวไปในกระเป๋าขึ้นเครื่อง ของเหลวและครีมต่างๆต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนดไว้เท่านั้น

การดูแลและตรวจตราความถูกต้องในการบรรทุกสัมภาระและสิ่งของที่สามารถนำติดตัวไปได้นั้น เป็นการตรวจสอบและรับผิดชอบโดย การท่าอาศยานแห่งประเทศไทย หรือกรมท่าอากาศยาน (ขึ้นอยู่กับว่าสนามบินนั้น ๆ ใครเป็นเจ้าของหรือรับผิดชอบในการกำกับดูแล) 

เมื่อถึงหน้าประตูทางเข้าเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ของสายการบิน จะทำการตรวจสอบบัตรที่นั่งหรือ Boarding pass ของผู้โดยสารทุกคน เพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นคนเดียวกับที่จองที่นั่งบัตร อันนี้เป็นข้อบังคับและเป็นการนับจำนวนผู้โดยสารว่าครบตามจำนวนการจองที่นั่งในระบบหรือไม่ 

มาตรการเหล่านั้นเป็นการป้องกันปัญหาและเพิ่มความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของการเดินทาง

หลังจากที่ท่านขึ้นเครื่องบินแล้ว พนักงานต้อนรับของเราจะเป็นผู้ดูแลท่านตลอดการเดินทาง 

สิ่งแรกที่ผมอยากให้ผู้โดยสารสนใจทุกครั้งก่อนออกเดินทาง คือ แผ่นพับอธิบายเรื่องมาตรการความปลอดภัยและวิธีปฏิบัติกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เราเรียกแผ่นพับนี้ว่า Safety On Board Card หรือ Safety Pamphlet 

ทุก ๆ ครั้งที่เดินทาง เมื่อเก็บสัมภาระเข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว ขอให้หยิบ Safety Onboard Card ออกมาศึกษาก่อนเลย เพราะว่า วิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนปฏิบัติในเครื่องบินแต่ละแบบจะแตกต่างกันออกไป อาทิเช่น จำนวนประตูทางออกของเครื่องบินแต่ละชนิดมีทางออกอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน เป็นต้น 

Safety On Board Card จะทำออกมาให้สวยงาม มีความน่าอ่าน สะอาดดูง่าย  โดยมีการแสดงแผนภาพ และคำอธิบายสั้น ๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย อ่านถึงตรงนี้แล้ว ถ้าใครยังไม่ได้หยิบอ่าน กรุณาหยิบมาดูด้วยครับ

นอกจากการดูแลความสะดวกเรียบร้อยภายในห้องโดยสารตามปกติแล้ว การควบคุมและดูแลผู้โดยสารถือเป็นหน้าที่หลักของพนักงานต้อนรับเช่นกันครับ 

ตัวอย่างเช่น การช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้โดยสารที่เจ็บป่วยกระทันหัน ขอเน้นว่าป่วยหลังจากขึ้นเครื่องบินครับ ถ้าผู้โดยสารป่วยก่อนขึ้นเครื่องบินควรให้แพทย์วินิจฉัยก่อนเดินทาง แม้จะเป็นการเดินทางสั้นๆ ก็ประมาทไม่ได้ครับ  เครื่องบินต้องมีการวางแผนการเดินทางว่าจะขึ้นจะลงสนามบินไหนอย่างไร ลงได้หรือไม่ได้ มีข้อจำกัดมากมาย ไม่เหมือนรถยนต์ที่จะแวะจอดตรงไหนก็ได้ทันที และการที่มีผู้โดยสารเจ็บป่วยจนทำให้ต้องเปลี่ยนแผนการบินนั้นจะทำให้ผู้โดยสารท่านอื่นๆ เดือดร้อนไปด้วย ตรงนี้ถือเป็นสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ทั้งนี้ในระหว่างขึ้นเครื่องหากพนักงานต้อนรับเห็นว่าท่านป่วย หรือมีอาการที่ไม่สู้จะดีนัก พนักงานมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้ท่านเดินทางได้นะครับ โดยเฉพาะเมื่อท่านไม่มีใบรับรองแพทย์กำกับมาด้วย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของตัวท่านเองเป็นหลักแล้วก็เพื่อความราบรื่นในการเดินทางของผู้โดยสารท่านอื่นๆด้วย

การสอดส่องดูแลความเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสัมภาระ การนั่งประจำที่นั่งตามบัตร ท่านั่ง การรัดเข็มขัดนิรภัย

หลักปฏิบัติในการดูแลเหล่านี้ ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ย้ำอีกครั้งครับว่าไม่ใช่แค่เพื่อตัวท่าน แต่เพื่อไม่ให้ท่านทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย

งานดูแลความปลอดภัยและการช่วยเหลือผู้โดยสารโดยเฉพาะกรณีฉุกเฉินต้อง “เป๊ะ” 

เราใส่ใจเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในห้องโดยสารเป็นอันดับหนึ่ง (นอกเหนือจากความปลอดภัยโดยรวมของเที่ยวบิน) ลูกเรือจึงได้รับการฝึกและทดสอบอย่างเข้มงวดเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดครับ

นักบินและลูกเรือของสายการบินจะถูกกวดขันและฝึกฝนด้านมาตรฐานอย่างเข้มงวดเพื่อให้การเดินทางทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้มเสมอ

(คัดดัดแปลงบางส่วนจากข้อเขียนของผมจาก “Captain Speaking” ในนิตยสาร JIBjib Nok Air In-Flight Magazine เดือนกรกฏาคม 2559)

หนังสือนักบินมีทั้งหมด 5 เล่ม

สั่งซื้อหนังสือผ่าน shopee https://shopee.co.th/apilotbook

https://youtu.be/hHQwYTxaN_A

ติดตาม A Pilot Club ได้ทาง
ยูทูปช่อง Captain Sopon https://www.youtube.com/c/SoponPhikanesuan
เฟสบุ๊ค https://wwwfacebook.com/apilotbook
เว็บไซต์ http://www.apilotclub.com/
เป็นเพื่อนกับเราทางไลน์ออฟฟิศเชียล https://lin.ee/BQyGDbK
ซื้อหนังสือ A Pilot Book ได้ที่ https://shopee.co.th/apilotbook

Comments are closed
0
0