Pilot interview

บทนี้จะเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากหนังสือ A Pilot เล่มแรกและเล่มสองครับ จะมีเนื้อหาเบสิค ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการสอบสัมภาษณ์ มีตัวอย่างและเทคนิคพื้นฐานบางเรื่องเพื่อแนะนำให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า การทดสอบบางอย่างนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร 

บทความจากหนังสือ A Pilot Part III

เนื้อหาในหนังสือบทนี้ ไม่ใช่การติวเพื่อสอบนักบินนะครับ การติวเพื่อที่จะสอบนักบินเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่อยู่ในแนวทางและไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการเขียนหนังสือเล่มนี้และ A Pilot Book ทั้งสองเล่มที่ผ่านมาครับ

ปัจจุบันมีคนเปิดติวเพื่อสอบเป็นนักบินกันมากอยู่ครับ เรื่องนี้แล้วแต่ความชอบเลยครับ ส่วนตัวไม่ได้สนับสนุนหรือจะต่อต้านครับ

สำหรับผม เชื่อว่าการได้รู้และเข้าใจที่มาที่ไปและมองเห็นวัตถุประสงค์ในการสอบแต่ละประเภท จะเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับการเข้าใจจุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง และมันจะติดตัวเราไปตลอดอีกทั้งสามารถที่จะต่อยอดไปใช้กับการทำงานอื่น ๆ ได้อีกด้วย

การทดสอบระหว่างสัมภาษณ์

ในการสัมภาษณ์นักบินนั้น ผู้สัมภาษณ์อาจทำการทดสอบปฏิกิริยาต่าง ๆ ของผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อค้นหาว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์นั้น มีจุดอ่อนหรือจุดแข็งตามคะแนนที่กรรมการเห็นอยู่ในมือหรือไม่

แน่นอนครับ ก่อนจะเรียกเข้ามาสัมภาษณ์ กรรมการสอบจะคุยกันสั้น ๆ จากผลคะแนนของการสอบข้อเขียนในรอบที่ผ่านมา และดูประวัติส่วนบุคคล ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน (ถ้ามี) คะแนนเรียนในแต่ละเทอม หรือ คะแนนสอบวัดระดับต่าง ๆ ที่มี เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเริ่มสัมภาษณ์

การแต่งกายการวางตัว การควบคุมอารมณ์ การควบคุมความตื่นเต้น ฯลฯ เรื่องเทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ผมเขียนไว้แล้วในสองเล่มแรก ลองอ่านซ้ำดูนะครับ

การสอบสัมภาษณ์จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพูดคุย แต่อาจจะถูกสอดแทรกด้วยการทดสอบบางอย่างด้วย โดยการทดสอบระหว่างสัมภาษณ์นั้น อาจจะเป็นการทดสอบง่าย ๆ สั้น ๆ เพื่อสนับสนุนหรือทำให้กรรมการเกิดความมั่นใจว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์นั้นได้คะแนนจากการสอบข้อเขียนด้านนี้มาด้วยความสามารถ ไม่ได้ฟลุ๊คตอบถูก หรือบางครั้ง กรรมการอาจจะเลือกทดสอบในด้านที่เห็นว่ามีคะแนนน้อย เพื่อที่จะดูว่า ข้อด้อยเรื่องนั้น ๆ จะไหวไหมประมาณว่า อาจเป็นโอกาสแก้ตัว และให้โอกาสเพื่อไม่ให้ถูกคัดออก

เล่มนี้ตั้งใจจะแนะนำว่า เทคนิคอะไรบ้างที่กรรมการสอบเค้าใช้กัน อาจจะเขียนได้ไม่หมดนะครับ เอาเป็นตัวอย่างแค่สองสามแบบเพื่อเป็นไอเดียก็พอ

Key Personal Factors

ก่อนจะไปเรื่องการทดสอบต่าง ๆ ขอกล่าวถึงลักษณะบุคคลที่กรรมการสอบสัมภาษณ์พิจารณาขณะสัมภาษณ์หรือเวลาทำการทดสอบต่าง ๆ กันก่อนครับ เพราะทุก ๆ เวลาที่เราอยู่ในการสอบนั้น เป็นการประเมินเราทั้งสิ้น เค้าจะมองเราอย่างไรบ้างนะ

กรรมการผู้สัมภาษณ์จะมองหาจุดเด่นและจุดด้อยที่อยู่ในตัวของผู้ถูกสัมภาษณ์ โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก ๆ หรือ Key Personal Factors ดังนี้

1. Motivation 

2. Family Context

3. Learning Context

4. Social Context

Motivation

Motivation หรือ แรงจูงใจ แรงผลักดันที่ทำให้มีความอยากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออยากเป็นนักบินนั้นมีอะไรเป็นตัวแปร เกิดแรงกระตุ้นเนื่องจากอะไร หรือมีประสบการณ์และความประทับใจอย่างไร มูลเหตุที่อยากเป็นนักบินเพราะอะไร

การถามคำถามว่า “ทำไมจึงอยากเป็นนักบิน” อาจเป็นคำถามง่าย ๆ ที่ต้องการสื่อสารชวนคุย เพื่อให้แสดงความเห็นและลำดับถ่ายทอดเรื่องราวที่เราคาดว่าจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดแรงผลักดัน หรือแรงบันดาลใจอยากเป็นนักบิน

หลังจากที่เราตอบคำถามนั้นแล้ว ผู้ถูกสัมภาษณ์จะสืบหาเรื่องราวต่อ ๆ ไปเพื่อยืนยันว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็น motivation นั้น เป็นจริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่เพียงลมปากที่เราพูดออกมาเพื่อให้ได้คะแนนความน่าสนใจในข้อนี้ 

วิธีการของผู้สัมภาษณ์คือ การถามและไล่เรียงเรื่องราวต่าง ๆ ว่ามันมีความสอดคล้องกันไหม มันเป็นตัวเราเองจริง ๆ อย่างที่เราพูดหรือบอกออกไป

และ Key factors ที่สำคัญในหมวดของ motivation คือ Driving forces และ Curiosity

โดยปกติอะไรบ้างล่ะที่จะเป็น driving forces หรือ curiosity สำหรับคนที่อยากเป็นนักบิน 

บางคนอาจเริ่มต้นความสนใจอาชีพนักบินจากความประทับใจเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิดความใฝ่ฝันหรือ Dreams to be

การใฝ่ฝันอาจเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี มีความประทับใจ เช่น 

การเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก รู้สึกอยากเห็นโลกกว้างมากขึ้น การเป็นนักบินน่าจะทำให้ได้มีโอกาสนั้นมากกว่าคนอื่น

หรือเคยขึ้นเครื่องบินได้เจอนักบินแล้วมีความรู้สึกว่า “นักบินเท่ห์จัง” หรือมีเหตุการณ์ใดในระหว่างเที่ยวบินแล้วนักบินได้ทำการแก้ปัญหาได้อย่างยอดเยี่ยม มีความน่าประทับใจอยากที่จะเป็นอย่างนั้นบ้าง หรืออยากที่จะเข้าใจและสามารถจัดการมันได้แบบนั้นเหมือนกัน

หรือเคยอ่านหนังสือหรืออ่านข่าว เรื่องนั้น เรื่องนี้…แล้วจึงมีความรู้สึกว่าการเป็นนักบินเป็นงานที่ท้าทายสำหรับตนเอง อยากพิสูจน์ความสามารถของตนเองว่าจะสามารถเป็นนักบินได้หรือไม่ รู้ว่าเป็นงานที่น่าจะทำยากจึงมีความรู้สึกท้าทาย เป็นต้น

curiosity นั้นเป็นความกระหายใคร่รู้ หรือ สงสัยอยากรู้ อยากค้นพบและหาคำตอบ ความอยากรู้ อยากเห็น อยากสัมผัส อาจเพราะไม่มีโอกาส หรือเพราะเคยประสบเหตุแล้วยังมีความสงสัยในที่มาที่ไป ต้องการหาคำตอบ

courage เป็นความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทาย อาจเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากกรอบเดิมที่เป็นอยู่ แต่ต้องเป็นความกล้าที่ดี ที่มีหลักการและมีเหตุมีผล ต้องการค้นความและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แต่ต้องไม่ใช่ “กล้าแบบบ้าบิ่น” หรือ “กล้าได้กล้าเสีย” แบบไม่มีสติหรือการไตร่ตรอง

energy พลังที่จะสนับสนุนความฝัน อาจหมายถึงความมุมานะและความพยายาม ผู้สัมภาษณ์อาจหาวิธีที่จะสอบถามเพื่อดูว่าเรานั้นมีแรงฮึดที่จะต่อสู้หรือพยายามที่จะทำให้สำเร็จหรือไม่

technology & international business or standards คำเหล่านี้ สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อเป็นคะแนนความได้เปรียบ เพราะแน่นอนว่าเครื่องบินต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและต้องปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานสากลในการบินไปในแต่ละประเทศ

Family Context 

เรื่องพื้นฐานครอบครัวและการเติบโต รวมถึงสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตหรือบรรยากาศรอบ ๆ ตัวใน ทุก ๆ วัน

“การอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก ๆ ไม่ได้หมายความว่า
พื้นฐานครอบครัวหรือคะแนนส่วนนี้จะติดลบ”

ความสำคัญของ Key Factors นี้คือ การมีครอบครัวที่ดี ไม่ได้หมายถึง ร่ำรวย หากคนที่ไม่มีพ่อ แม่ หรือเป็นเด็กกำพร้า ผู้สัมภาษณ์ก็อาจจะต้องค้นหาตัวตนของเราเพิ่มขึ้นว่า เรายอมรับความจริงตรงนั้นอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร แตกต่างจากคนอื่นไหม แล้วการเลี้ยงดูหรืออบรมสั่งสอนให้เติบโตขึ้นมานั้น มีความเป็นมาอย่างไร

อะไรคือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจในด้านความไม่สมบูรณ์ของสภาพครอบครัว 

เรื่อง Family Context นี้จะว่าไปแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า key factors อื่น ๆ เลยทีเดียวครับ แต่ก็ใช่ว่า คนที่เกิดมาเป็นเด็กกำพร้า มีปู่ย่า ตายายเป็นคนเลี้ยงดูมาแต่เล็ก ๆ จะต้องถูกตัดสิทธิ หรือเหมาว่าเป็นบุคคลมีปัญหาครอบครัวนะครับ เรื่องนี้น่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาประกอบกับเรื่องอื่น ๆ อีกหลาย ๆ อย่าง สภาพจิตใจที่เข็มแข็ง การยอมรับความจริงของชีวิต และปรับตัว ปรับสภาพจิตใจให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ดี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่ทำตัวเป็นปัญหาสังคม หรือเกเรก้าวร้าว ถือว่าประเด็นเรื่องกำพร้า หรือไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญใด ๆ เลย

Learning Context

ความสามารถในการเรียนรู้ การปรับตัวในการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ การถ่ายทอดข้อมูลและการลำดับข้อมูล และวิธีการหรือขั้นตอนในการที่จะวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ประเด็นนี้อาจหมายรวมถึง ความมั่นอกมั่นใจหรือความสามารถในการที่จะพัฒนาตนเองจากการเรียนรู้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น 

Working Memory ความสามารถในการจำ ความจำที่เป็น short term memory และ long term memory มีความสำคัญพอ ๆ กันในด้านการบิน 

มนุษย์ทุกคนมีขีดจำกัดในการจดจำ และเวลาก็เป็นตัวแปรสำคัญในการที่จะทำให้เราจดจำเรื่องต่าง ๆ ได้ดีหรือไม่อย่างไร การจดจำโดยการผูกเรื่องราวต่าง ๆ เป็นเทคนิคที่สำคัญ โดยปกติแล้วการจำเรื่องที่เป็นทฤษฏีต่าง ๆ เป็นการจำโดยอยู่บนพื้นฐานหรืออาศัยความเข้าใจ แต่การจำบางประเภทที่ไม่ได้เกี่ยวกับการทำความเข้าใจ เป็นการจำเฉพาะกิจ ที่เราต้องการใช้ข้อมูลเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แล้วก็ทิ้งไป การจดจำประเภทนี้เป็น short term memory ที่ทางการบินต้องใช้บ่อย ๆ เช่น การฟังการติดต่อสื่อสารระหว่างนักบินกับหอบังคับการบิน เป็นต้น

เวลาเข้ามาเป็นนักบินแล้วจะต้องพัฒนาเรื่องนี้ อย่างเป็นระบบ แต่เวลาทำงานจริง ๆ ระบบปฏิบัติการหรือแนวทางในการปฏิบัติงานจะพยายามให้นักบินทำงานโดยใช้ความจำน้อยที่สุดครับ ยกเว้น short term memory ที่ยังไงก็ต้องใช้ในชีวิตประจำวันของการทำการบิน

การที่การบินเครื่องบินจะพยายามใช้ความจำน้อยที่สุด เพราะการจำเพื่อทำงานหลาย ๆ ชนิดพร้อม ๆ กัน โอกาสที่จะทำผิดพลาดง่าย นักบินจึงต้องใช้ checklist ในการทำงานเป็นหลัก แต่ที่ต้องมีคือ ความเข้าใจระบบและวิธีการใช้งาน ในบทต่อไป ผมจะเขียนตัวอย่างของการทดสอบ short term memory

Listening ความสามารถในการฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง สำหรับนักบินแล้ว การฟังให้เข้าใจโดยไม่ผิดเพี้ยนเป็นสิ่งสำคัญมากต่อชีวิตการทำงานอย่างปลอดภัย เรื่องภาษาอังกฤษอาจเป็นเพียงปัจจัยร่วมเท่านั้น แต่ปัจจัยหลักคือ ความสามารถในการรับฟังอย่างเข้าใจ และสามารถจดจำมันได้ในระยะสั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องที่ใช้การจำอย่างเดียวโดยไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันในสิ่งที่จำ หรือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเข้าใจและพื้นฐานความรู้ในการวิเคราะห์ทำให้การฟังนั้นสามารถจำได้ยาวนานกว่า

Thinking วิธีคิดคือการคิด อาจหมายรวมถึงตรรกะในการคิดด้วย กระบวนการหรือวิธีการใช้ความคิดนั้นหากเป็นสิ่งที่ต้องทำการวิเคราะห์หรือเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน หรือต้องใช้การลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังที่เป็นเหตุเป็นผลและสอดคล้องกัน เพื่อที่จะหาวิธีในการแก้ไขหรือทำให้ได้มาซึ่งคำตอบหรือวิธีการแก้ไขปัญหา เราเรียกการคิดแบบนี้ว่าเป็น Logical Reasoning

Observing การสังเกตหรือความสามารถในการสังเกตและรับรู้สถานการณ์ ตรงนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่น ๆ ครับ การที่สามารถมองเห็นความแตกต่างหรือบอกความผิดปกตที่เกิดขึ้นได้และใช้เวลาอันรวดเร็ว การใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าจึงมีความสำคัญต่อการบินครับ เช่น เมื่อได้ยินเสียงผิดปกติ เมื่อมีระบบไฟแจ้งเตือน เมื่อเกิดการสั่นสะเทือน ได้กลิ่นเหม็นไหม้ ฯลฯ

นอกจากนี้ก็จะเป็นการประเมินเรื่องทั่ว ๆ ไปอื่น ๆ อย่าง ทักษะการพูด (Talking) ทักษะการเขียน (Writing) ทักษะการอ่าน (Reading) 

กรรมการหรือผู้สัมภาษณ์ก็จะประเมินเราในระหว่างที่สัมภาษณ์หรือแบบฟอร์มที่เรากรอกข้อมูลในการสมัครสอบหรือระหว่างทดสอบนั่นแหละครับ

Social Context

การประเมินด้านสถานภาพและความสัมพันธ์ทางสังคม เรื่องนี้อาจจะเป็นการประเมินที่ค่อนข้างยากหากจะประเมินจากการสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว ในระยะหลัง ๆ ของการสอบ Aptitude test จึงมีการเพิ่ม group test เข้ามา เป็นการทดสอบพื้นฐานด้านสังคม ที่เน้นไปที่ ความมั่นใจในตัวเองในการสื่อสารหรือสร้างสัมพันธ์ในการทำงานเป็นกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น การวิเคราะห์หรือถกปัญหา หรือการแสดงภาวะผู้นำและผู้ตาม เป็นประเด็นสำคัญของการเก็บคะแนนส่วนบุคคลทางด้านนี้

กลุ่มคนที่เป็นประเภทรักสันโดษ ไม่พูดไม่จากับใคร ๆ ในการใช้ชีวิตปกติเลย ประมาณ Loneliness ไม่ค่อยมีเพื่อน หรือไม่ค่อยจะคบหาสมาคมกับใคร ก็อาจจะประสบปัญหาค่อนข้างมากในการที่จะทำการทดสอบประเภทนี้ เพราะการทดสอบนี้เน้นไปที่ Relations, Networking, Communication skill และ Teamwork

เพราะฉะนั้น การเข้าสังคม การรู้จักพูด รู้จักคุย การรู้จักการทำงานเป็นทีม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมเพื่อสรุปงานต่าง ๆ เรื่องเหล่านี้เป็นการเสริมสร้างความสามารถของเราไปโดยปริยายครับ

ช่องยูทูปกัปตันโสภณ

หนังสือนักบิน
สอบสัมภาษณ์ สมัครสอบนักบิน
https://youtu.be/V1ov2HwIEpE
Comments are closed
0
0