คำถามที่พบบ่อยเมื่อเครื่องบินดีเลย์

การจัดการปัญหาการดีเลย์ ถ้าเครื่องบินดีเลย์ตีเครื่องเปล่าไปรับได้ไหม

ดีเลย์ขนาดไหนเราสามารถขอยกเลิกไฟล์ทได้ โดยไม่เสียค่าตั๋วไปฟรีๆ 
แบบว่าชั้นไม่ไปแล้ว ดีเลย์มากมาย

ก่อนอื่นขอเกริ่นกันก่อนครับว่า
สายการบินต้นทุนต่ำนั้น จะต้องวางแผนในการใช้งานเครื่องบินอย่างเต็มขีดความสามารถ 

เครื่องบินแต่ละลำจะต้องบินมากกว่า 11-12 ชั่วโมงต่อวันเป็นอย่างน้อย

ดังนั้นเครื่องบินจะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องบินเส้นทางไหนบ้างในแต่ละวัน
ทางสายการบินจะกำหนดกันวันต่อวันทุก ๆ วันว่า 

พรุ่งนี้เครื่องบินลำนั้น ๆ จะบินเที่ยวบินใดบ้าง จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหมเพราะบางทีเครื่องบินมีกำหนดเข้าตรวจเช็ค
หรือต้องซ่อมบำรุงเปลี่ยนอะไหล่ตามอายุเวลาที่กำหนด

สมมติว่า เครื่องบินทะเบียน HS-XXA วางแผนไว้ให้บิน 5 รอบวันนี้
เริ่มจากตอนเช้าให้บินไป เชียงใหม่ กลับมา ไปภูเก็ต กลับจากภูเก็ตมา ให้บินไปอุบล กลับมาก็ให้บินไป หาดใหญ่ กลับมาจากหาดใหญ่ให้ไปต่อ เชียงใหม่อีกรอบ ก่อนจะกลับมาดอนเมืองแล้วจอดนอนค้างคืนรอออกตอนเช้า

ส่วนอีกลำหนึ่ง ก็อาจจะสลับ กันออกเดินทาง ตามแผนบิน อาจจะเริ่มต้นที่เส้นทางต่างกันและอาจไปจอดนอนค้างคืนที่สนามบินต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ

ถ้าสายการบินมีเครื่องบินอยู่ 20 ลำ ก็จะมีการวางตารางการบินของเครื่องบินทั้ง 20 ลำไว้  โดยที่แล้วแต่ทางสายการบินว่าอาจจะมีการวางแผนเผื่อเครื่องบินสำรองไว้บ้างสักหนึ่งลำ ถ้าหากมีเครื่องบินขัดข้องจะได้สับเปลี่ยนได้ แต่ในบางครั้ง เมื่อเผื่อเครื่องบินว่างไว้บางช่วง ๆ ละ 1 ลำ แต่ก็ดันมีเครื่องบินมีปัญหาพร้อม ๆ กันเกินหนึ่งลำ

การจัดการก็ต้องมีปัญหาล่าช้าบ้าง อย่าลืมนะครับว่า หากเผื่อเครื่องบินให้ว่างหลาย ๆ ลำในแต่ละช่วงก็เท่ากับต้นทุนของสายการบินเพิ่มขึ้นเพราะไม่ได้เอาเครื่องบินไปใช้งาน
ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้เครื่องบินไม่สามารถออกได้ตามเวลาที่วางเอาไว้
สมมติว่า เครื่องบิน HS-XXA ที่ผมยกตัวอย่างว่าจะต้องออกเดินทางตอนเช้าไปเชียงใหม่
หากเมื่อบินไปถึงเชียงใหม่แล้ว เกิดสภาพอากาศไม่ดี จำเป็นต้องบินวนรอ จากเดิมที่วางกรอบเวลาทำการบินไว้ 1 ชั่วโมงและเผื่อเวลาสำหรับภาคพื้นอีกครึ่งชั่วโมงรวมเป็น 1:30 ชั่วโมงนับเวลาถึงลบด้วยเวลาออกเดินทาง (STA-STD) พอต้องบินวนรอเวลา 1:30 ไม่พอแล้ว

เมื่อเครื่องบินจอดที่เชียงใหม่ ปกติต้องใช้เวลาให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน ทำความสะอาดเครื่องและเตรียมให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องเพื่อเดินทางกลับอย่างน้อย ๆ ก็ 25-30 นาที เราเรียกเวลาช่วงนี้ว่า ground time หากลงสนามบินช้ากว่ากำหนดมาก ๆ โอกาสที่เครื่องบินลำนี้ HS-XXA จะออกเดินทางกลับได้ตามเวลาก็น้อยลงไป นี่คือการเริ่มต้นการดีเลย์

บางสายการบินอาจวางกรอบเวลา ground time ให้ยาวหน่อย เช่น ยืดไว้สัก 45 นาทีหรือหนึ่งชั่วโมง ก็อาจจะช่วยทำให้โอกาสที่จะทำเวลากลับมาเข้าเวลาการออกเดินทางที่กำหนดไว้ได้ง่าย แต่ก็แลกมาด้วยโอกาสในการที่จะใช้เครื่องบินต่อวันน้อยลงไปซึ่งหมายถึงต้นทุนสูงขึ้นรวมถึงเสียค่าที่จอดแพงขึ้นด้วย (สายการบินพรีเมี่ยมแอร์ไลน์ มักจะวางแผนให้มีเวลา ground time เยอะกว่าสายการบินต้นทุนต่ำ)

สมมติว่า ถึงเชียงใหม่ดีเลย์ไป 5 นาที ผู้โดยสารไม่รู้สึกอะไร ทุกคนแฮปปี้
ตอนจะออกจากเชียงใหม่ ผู้โดยสารขึ้นเครื่องก่อนเวลาออก ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พนักงานสายการบิน นักบินและลูกเรือเริ่มรู้แล้วว่าเค้าต้องเร่ง เพราะมีโอกาสที่จะออกเดินทางจากเชียงใหม่ช้าไป 5 นาที (หรือมากกว่า)

เมื่อมาถึงที่กรุงเทพ จะดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิก็เหมือนกัน หากต้องบินวนรอเพราะปริมาณการจราจรมาก เสียเวลาเพิ่มไปอีก 10 นาที กลายเป็น 15 นาทีแล้ว ลองนึกภาพเป็นทอด ๆ กันไปแบบนี้กว่าจะถึงตอนเย็น กลายเป็นชั่วโมง ๆ แต่สายการบินก็จะไม่ปล่อยเลยตามเลยแบบนั้นนะครับ

หน่วยงานจัดการการใช้งานเครื่องบิน เมื่อมองเห็นแนวโน้มที่จะเกิดการดีเลย์ต่อเนื่อง ก็จะพยายามทำการสลับเครื่องบินกับเที่ยวบินแต่ละลำเพื่อเป็นการลดความล่าช้า ตย.เช่น HS-XXA พอกลับจากภูเก็ตมีแนวโน้มดีเลย์ต่อเนื่องมากเกินไปแล้ว ก็อาจจะสลับเอาเครื่อง HS-XXB ที่กลับมาจากนครศรีธรรมราชไปบินอุบลฯก่อน

ส่วนตัว HS-XXA อาจจะไปบินนครศรีธรรมราชแทนเพื่อที่จะตัดวงจรการดีเลย์ต่อเนื่อง ซึ่งการที่จะทำแบบนี้ได้ต้องมีเครื่องบินที่มีช่วงเวลาว่างเป็นช่วง ๆ อยู่ด้วย

ทีนี้มาลองสมมติ เคสแย่ ๆ เช่น หากเครื่องบิน HS-XXA เกิดสตาร์ทเครื่องยนต์ไม่ติด จำเป็นต้องเปลี่ยน Ignition (เรียกว่า หัวเทียน เข้าใจง่ายเลย) โอกาสที่จะออกจากเชียงใหม่ตามเวลาคือ แถมไม่มี ทีนี้ก็ต้องมาลุ้นกันว่า เสียเวลาเท่าไหร่ แต่หากซ้ำร้ายตรงที่ ไม่ใช่ หัวเทียนบอด แต่เป็นเรื่องอื่น ๆ ที่จะต้องทำการซ่อมแซมนาน หรือ หากเป็นประเด็นประเภท ออกนอกทางวิ่ง ยางแตก น้ำมันรั่ว อะไรประมาณนี้ เครื่องบินอาจจต้องจอด เราเรียกว่า AOG ย่อมาจาก Aircraft on ground คือ เครื่องบินต้องอยู่ที่พื้น เครื่องเสียว่างั้นเถอะ

แบบนี้ จะทำอย่างไร
หนึ่งคือ เครื่องต้องวางแผนซ่อม ซ่อมนานแค่ไหน กี่ชั่วโมง
แล้วผู้โดยสารจะทำอย่างไร ถ่ายโอนไปสายการบินพันธมิตร ได้ไหม 
ถ้าไม่จำเป็นโลว์คอสจะไม่ค่อยอยากส่งต่อสายการบินอื่นหรอกครับ แม้จะทำข้อตกลงร่วมกันแล้วก็ตาม ราคาเฉลี่ยก็ยังสูงอยู่ดี ขาดทุนชัวร์

หนทางแรกคือ โอนถ่ายไปกับเที่ยวบินของตนเองที่จะเดินทางมา ถ้าเป็นสายการบินพรีเมี่ยม เค้าอาจเปลี่ยนเครื่องลำใหญ่มา (ถ้ามี เครื่องบิน และถ้าบินมาแล้วคุ้ม) ไปไม่พอค่อยโอนให้สายการบินพันธมิตร ถ้าสายการบินพันธมิตรก็เต็ม ผู้โดยสารก็ต้องรอเที่ยวบินถัดไปของสายการบิน

A Pilot Book หนังสือนักบิน การบิน ฝึกบินและประสบการณ์ในการสอบสัมภาษณ์นักบิน เรื่องเล่าทางการบิน
หนังสือชุด 4 เล่ม ใกล้หมดแล้ว แอดไลน์นี้ LINE@a-pilot

“ทำไมไม่ตีเครื่องเปล่ามารับ” 

มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เหมือนกันครับ การตีเครื่องเปล่ามารับ แต่ไม่ใช่วิธีที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า สายการบินต้นทุนต่ำ เครื่องบินทุกลำจะถูกใช้งาน โอกาสที่จะมีเครื่องบินว่างมีน้อย หรือถ้ามีก็คือ ต้องตัดเที่ยวบินอื่นหรือเปลี่ยนเครื่องบินเส้นทางอื่นเพื่อเอาลำใหญ่มาใช้ให้ลำเล็กไปบินแทน กรณีมีเครื่องบินแบบเดียววิธีนี้ไม่ต้องคิด มีทางเดียวคือ พยายามย่นเที่ยวบิน ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะไม่มีเครื่องบินแล้ว

ทีนี้เข้ามาสู่ประเด็นที่ว่า ทำไมไม่แจ้งล่วงหน้าว่าจะดีเลย์
อันนี้หากสายการบินไม่ทำการแจ้งล่วงหน้าให้แก่ผู้โดยสารก็ต้องถือว่า ทำไม่ถูกต้อง
แต่เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับสายการบินด้วยนะครับ ก่อนที่จะตัดสินว่าสายการบินผิดจริงหรือไม่ ไม่แจ้งจริง ๆ เหรอ
เราต้องทำการตรวจสอบก่อนว่า “สายการบินไม่แจ้งล่วงหน้าจริง ๆ ไหม” หรือว่า “แจ้งแล้วแต่ผู้โดยสารไม่รู้ ไม่ได้รับข้อมูล“
หรือพยายามแล้วแต่ผู้โดยสารปิดช่องทางการติดต่อทำให้ไม่ได้รับข้อมูล

ตัวอย่างเช่น การแจ้งทางโทรศัพท์หรือทาง SMS แต่เราไม่ได้เปิดมือถือ หรือลืมเอามือถือมา
หรือเอาโทรศัพท์มาแต่ไม่ได้เอาโทรศัพท์เบอร์ที่ลงทะเบียนกับสายการบินไว้ติดตัวมาด้วย หรือตอนซื้อตั๋วมีคนอื่นซื้อให้ แล้วก็ใส่เบอร์โทรคนซื้อไม่ใช่เบอร์คนเดินทาง คือ มีความเป็นไปได้หลายอย่างที่ทำให้ข้อมูลมีโอกาสไม่ถูกต้อง อันนี้รวมถึงการส่งอีเมล์ด้วย

การจัดการปัญหาเกี่ยวกับการดีเลย์ ประเด็นสำคัญคือ
ความรวดเร็วและชัดเจนของข้อมูลที่เป็นสิทธิของผู้โดยสาร
พนักงานภาคพื้นที่เป็น frontline เป็นหน้าด่านที่จะต้องอยู่กับผู้โดยสารต้องได้รับข้อมูลหรือตัดสินใจบนพื้นฐานที่ชัดเจน จึงจะสามารถทำให้ผู้โดยสารพึงพอใจได้ในภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจอย่างกรณีดีเลย์เป็นเวลาหลายชั่วโมง

เรื่องการปฏิบัติตามกติกาหรือไม่ของสายการบิน หน่วยงานของรัฐคือ กพท. (CAAT) จะเป็นผู้ดูแลสิทธิของผู้โดยสารโดยการตรวจสอบกับทางสายการบินโดยตรง

ทางสายการบินเองก็รู้หน้าที่แล้วว่าจะต้องดำเนินการชี้แจงข้อมูลให้กับสำนักงานฯทราบตามระเบียบที่บังคับไว้
หากสายการบินมีความผิดจริง ไม่ได้ดำเนินการตามกรอบปฏิบัติเกี่ยวกับการแจ้งข่าวสารให้กับผู้โดยสารทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของเที่ยวบิน

หรือแม้กระทั่งการดูแลผู้โดยสารตามกรอบของการคุ้มครองสิทธิ ในประกาศกระทรวงคมนาคม 

เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้ บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจําภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๓”
ทาง กพท.ก็จะดำเนินการต่อสายการบินตามระเบียบต่อไป ซึ่งในบางกรณีอาจมีการเปรียบเทียบปรับเป็นเงินหรือเป็นการตัดคะแนนในการประกอบกิจการการเดินอากาศ เป็นต้น

ที่นี้เรามาดูเรื่อง สิทธิของผู้โดยสารตาม 

ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้ บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจําภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๓” กันดีกว่า
ผมขอจับประเด็นย่อความสั้น ๆ เกี่ยวกับกรณีเที่ยวบินในประเทศเกิดความล่าช้านะครับ
ดูจากรูปที่ทาง CAAT ทำไว้ครับ เข้าใจง่ายดี ถ้าจะอ่านละเอียด ๆ ให้กดดูตามลิ้งค์ด้านล่างที่แนบไว้ให้ครับ

การคุ้มครองสิทธินี้ใช้กับสายการบินของไทยและเที่ยวบินภายในประเทศเท่านั้นนะครับ

How One Woman Discovered the Female Fat-Loss Code Missed by Modern Medicine And Lost 84lbs Using a Simple 2-Step Ritual That 100% Guarantees Shocking Daily Weight Loss

สปอนเซอร์

ถ้าอ่านรายละเอียดจากประกาศฯ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ
การคืนเงินตามสิทธิ ตรงนี้สำคัญครับ

ประกาศกระทรวงฯ ว่าไว้ตามนี้ครับ

“การคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่น หรือเงินส่วนต่างให้แก่ผู้โดยสาร ด้วยวิธีการที่ผู้โดยสารเลือก เช่น เงินสด โอนผ่านบัญชีธนาคาร เช็คธนาคาร เป็นต้น ภายในระยะเวลาที่นับจาก วันซึ่งสายการบินได้รับแบบแสดงความจํานงและเอกสารที่จําเป็นครบถ้วนแล้ว ดังนี้ 

(ก) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยเงินสดต้องดําเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายใน ระยะเวลาไม่เกิน ๗ วัน 

(ข) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยบัตรเครดิตต้องดําเนินการคืนให้เสร็จส้ินภายใน ระยะเวลาไม่เกิน ๔๕ วัน”

หากผู้โดยสารไม่ได้รับเงินคืนตามสิทธิและตามกรอบเวลา ผู้โดยสารสามารถฟ้องร้องสิทธิได้
กรณีการชำระเงินคืนล่าช้า สายการบินจะถูกปรับเป็นจำนวนวันที่เกินกว่ากรอบเวลาที่กำหนดข้างต้น
บางรายได้เงินคืนเกินค่าตั๋วไปอีกเยอะเลยครับ

ประกาศกระทรวงฯ มาตราที่ว่าด้วยเรื่องการคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่น

คำถามต่อไปคือ

ทำไมไม่ยกเลิกไฟล์ทไปเลย 

สายการบินยกเลิกไฟล์ทได้ แต่จะยกเลิกไฟล์ทสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้

เพราะจะต้องรับผิดชอบต่อผู้โดยสารที่ขายตั๋วให้ไปแล้ว

หากการยกเลิกเที่ยวบินไม่มีเหตุอันควร เกินกว่าจำนวนเที่ยวบินที่กำหนด สายการบินนั้นก็จะถูกตัดสิทธิการบินหรือไม่ได้รับการพิจารณาในการที่จะเพิ่มความถี่หรือขยายเส้นทางการบิน แบบนี้เป็นต้น

แล้วสายการบินจะยกเลิกเที่ยวบินได้เมื่อไหร่ ด้วยเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ เช่น อากาศไม่ดี มีภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่เป็นเหตุสุดวิสัย แบบนี้ สายการบินประกาศยกเลิกเที่ยวบินได้

สรุปตอบคำถาม ก่อนนะครับ
เราจะขอยกเลิกเที่ยวบินได้ ขอไม่ไปแล้วโดยได้เงินคืนเต็มจำนวน หากความล่าช้าของเที่ยวบินเกิน 3 ชั่วโมง

แต่สายการบินก็มีเทคนิคในการเลื่อนเวลาออกของเที่ยวบินอีกนะครับ การล่าช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมงจะต้องดูให้ดีว่าจากเวลาที่สายการบินเค้าประกาศครับ ไม่ใช่จากเวลาของเที่ยวบินตอนที่ซื้อตั๋วนะครับ 
บางสายการบินก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีกโดยบอกล่วงหน้าตลอดแบบนี้
แต่ถ้าดูจริง ๆ คือ เวลาออกของเที่ยวบินเปลี่ยนไปมากมาย แต่ไม่เข้าข่ายล่าช้า แบบนี้เป็นต้น

การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร (Protection of Passenger Rights)


หากเห็นว่าเราถูกริดรอนสิทธิหรือโดนเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสายการบิน เราสามารถส่งเรื่องร้องทุกข์ไปที่กพท.ได้ แต่ก่อนอื่นขอให้อ่านข้อควรทราบด้านล่างนี้เพิ่มเติมด้วยครับ

ข้อที่ควรทราบก่อนร้องทุกข์หรือร้องเรียน

1. การร้องทุกข์หรือร้องเรียนต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดอยู่หรือสะดุดหยุดลง

2. การร้องทุกข์หรือร้องเรียนต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องเรียนที่จะนำเรื่องร้องทุกข์ หรือร้องเรียนดังกล่าวไปดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยตนเอง

3. กรณีผู้ร้องเรียนได้ไปใช้สิทธิดำเนินคดีในศาลด้วยตนเองแล้วน่าจะเป็นลักษณะว่า เมื่อใช้สิทธิดำเนินคดีที่ศาลแล้วให้ถือว่าผู้ร้องเรียนสละสิทธิในการร้องเรียนต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

4. การรับเรื่องร้องทุกข์หรือร้องเรียน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมีสิทธิไม่รับพิจารณาหรือยุติการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรือร้องเรียนในกรณีดังนี้

        4.1 เรื่องร้องทุกข์ที่ผู้ร้องเรียนได้ไปใช้สิทธิดำเนินคดีทางศาลด้วยตนเองแล้ว

        4.2 เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว

        4.3 เรื่องที่อายุความในการดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว

ช่องทางการร้องทุกข์หรือร้องเรียนปัญหาการเดินทางทางอากาศต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย https://www.caat.or.th/complaint/

หมายเหตุ: เหตุการณ์ในบทความเป็นการยกตัวอย่างกรณีศึกษาไม่ใช่เรื่องจริงจากเหตุการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น
ที่มา: สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้ บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจําภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๓” https://1th.me/passenger-right

กลับหน้าแรก

ติดตาม A Pilot Club ทางเฟสบุ๊ค
www.facebook.com/aPilotBook กด see first เพื่อไม่พลาดข่าวสารจากเพจนะครับ

เสื้อยืดคอวี ผ้าฝ้าย ใส่สบาย ๆ

แอดไลน์นี้ครับ LINE Official @a-pilot
https://line.me/R/ti/p/%40a-pilot

Comments are closed
0
0