เหตุการณ์ที่อันตรายที่สุดในชีวิตการบิน

10Oct2022 เผอิญได้อ่านข่าวที่สายการบินแอร์ฟรานส์และแอร์บัสจะต้องขึ้นศาลจากเหตุการณ์เครื่องบินแอร์บัส A340 เที่ยวบิน AF447 ตกที่กลางทะเลระหว่างเดินทางจากริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิลไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2009 เที่ยวบินนี้ประสบกับพายุที่มีความรุนแรงกลางทะเลแอตแลนตกจนทำให้เสียการควบคุมและทุกคนบนเที่ยวบิน 228 คนเสียชีวิตทั้งหมด

กรณีของแอร์ฟรานส์ทำให้นึกถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาและได้เขียนไว้ในหนังสือ A Pilot Book เล่มที่ 5 “20,000 hours” ผมขอเอาตอนนี้มาเขียนให้ผู้ติดตามได้อ่านกันครับ

เหตุการณ์ที่อันตรายที่สุดในชีวิตการบิน

กาฐมาณฑุอาจเป็นสนามบินที่บินลงยากที่สุด และมีอีกหลายสนามที่การบินลงสนามไม่ง่าย เช่น สนามบินคุนหมิง (อันเก่า) สนามบินฮ่องกง ไคตั๊ก (สนามบินนี้เลิกใช้ไปแล้ว) 

การที่มันเป็นสนามบินที่นักบินทำการลงสนามยาก ไม่ได้หมายความมันจะเป็นสนามบินที่อันตรายหรือนักบินเคยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายกับสนามบินเหล่านั้น

สนามบินพาโร ของทิเบต ขึ้นชื่อว่าเป็นสนามบินที่ทำการบินลงสนามยากที่สุดในโลก แต่ก็ไม่ใช่ว่า พาโร คือ สนามบินอันตราย

การอนุญาตให้เครื่องบินทำการขึ้นลงสนามบินใดๆ จะต้องมีการตรวจสอบ คน เครื่องบิน และสนามบิน หากมีข้อจำกัดด้านใดๆ ก็จะมีเรื่องของการฝึกอบรม เรื่องของขั้นตอนกำกับ เรื่องของวิธีการปฏิบัติ ฯลฯ เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆทั้งหมดแล้ว จึงจะอนุญาตให้ เครื่องบินลำนั้น สายการบิน (คน) ที่ผ่านการตรวจสอบ ทำการบินไปที่สนามบินนั้นๆได้ นี่คือ หลักการที่อยู่ในการกำกับดูแลด้วยระบบบริหารความปลอดภัย หรือ SMS 

เพราะฉะนั้น หากดำเนินกิจกรรมผ่านระบบ SMS ได้ดีแล้ว การตรวจสอบของทางการถูกต้องเข้มงวดครบถ้วนดีแล้ว การที่ทางการอนุญาตให้ทำการบินได้ หมายความว่า สนามบินนั้น ปลอดภัย (ด้วยวิธีการหรือข้อกำหนดการปฏิบัติการที่เป็นเงื่อนไขในการบิน)

สนามบินอื่นๆที่เป็นสนามบินธรรมดาๆไม่ได้มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางการบินก็มีอันตรายไม่แพ้กับสนามบินยากๆ

คือ จริงๆอยากจะบอกว่า ทุกสนามบินมีความปลอดภัย (เมื่อผ่านการตรวจสอบที่ครบถ้วน ทั้งสนามบินและสายการบิน)

และทุกสนามบินมีอันตราย

อันตรายจากการบินเกิดได้หลายสาเหตุ

ความไม่พร้อมของสายการบิน

ความไม่พร้อมของเครื่องบิน

ความไม่พร้อมของคนบิน

ความไม่พร้อมของสนามบิน

ความไม่พร้อมของการอำนวยการบิน

อื่นๆ

องค์ประกอบเหล่านี้คือปัจจัยเสี่ยงและอันตรายที่ใน aviation บอกว่า เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ คือ ต้องทำการประเมินทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการปฏิบัติการ หากพบว่ามีความเสี่ยงเกินกว่าที่กำหนดก็ให้ หยุดหรือ ระงับ (stop operations) คือ ไม่บิน หรือ จะถูกห้ามบินก็ว่ากันไป

ความไม่รู้ คือ อันตรายสูงสุดในการทำการบิน 

อาทิเช่น 

  • การไปบินโดยไม่รู้จักข้อจำกัดของเครื่องบิน
  • การไปบินโดยไม่รู้จักข้อจำกัดของสนามบิน
  • การไปบินโดยไม่รู้จักข้อจำกัดของเส้นทาง
  • การไปบินโดยไม่มีการเตรียมตัวรองรับแผนฉุกเฉินที่อาจมีหรืออาจเกิดขึ้น
  • การไปบินโดยไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน
  • ฯลฯ

ความไม่รู้เพราะไม่เตรียมการ เป็นการปฏิบัติการที่ไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ เหมือนเป็นการทำการบินโดยใช้ดวง คือเครื่องบินไม่ชนกันง่ายๆ เครื่องบินไม่ตกง่ายๆ ก็เลยไม่ต้องเตรียมการไม่ต้องสอนกัน แต่ผมมองว่า เอาเปรียบผู้โดยสาร มันเหมือนเป็นการรอความซวยมาเยือน โดยที่ไม่พยายามทำให้ดีเสียก่อน

ตามหลักการของ Safety Management System หรือ SMS นะครับ ทุกๆสนามบินต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงในการปฏิบัติการบิน

สนามบินไหนที่มีข้อจำกัดต้องสื่อสาร

สนามบินไหนที่เครื่องบินที่จะใช้บินมีข้อจำกัดต้องทำให้รับรู้

เส้นทางบิน ต้องตรวจสอบข้อจำกัดในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น หากเครื่องบินเกิด decompression สูญเสียระบบความดันอากาศ เครื่องบินจะต้องบินลดระดับความสูงลงมาสู่ที่ต่ำเพื่อให้ผู้โดยสารและลูกเรือทุกคนสามารถหายใจได้ หากเส้นทางที่บินไปนั้นมีภูเขาสูง เครื่องบินไม่สามารถลดระดับให้ต่ำลงมาได้ เครื่องบินก็ต้องมีระบบที่สามารถจ่ายออกซิเจนให้กับผู้โดยสารทั้งลำได้นานเพียงพอสำหรับระยะเวลาที่จะต้องทำการบินเพื่อให้พ้นภูเขาสูงเหล่านั้น ข้อนี้สำคัญมาก เพราะหากเกิดเหตุขึ้นจริงๆคือ ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งลำหมดสติเพราะขาดอากาศหายใจและตายในที่สุดถ้าสมองขาดอากาศนานเกินไป

ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า สายการบินจะต้องคิดให้รอบ เพื่อที่จะรับผิดชอบชีวิตคนทั้งลำให้ได้ ไม่มีการปล่อยไปบินโดยไม่ไตร่ตรองเรื่องแบบนี้ หรือไม่มีการทำการบินโดยที่สภาพเครื่องบินไม่สมบูรณ์ (ตามข้อกำหนดขั้นต่ำ)

กับเครื่องยนต์ของแอร์บัส A340

ครับกลับมาที่ เหตุการณ์ที่อันตรายที่สุดในชีวิต

หากเราพิจารณาเรื่องต่างๆครบถ้วน ทั้งคน ทั้งเครื่องบิน ทั้งสนามบินและเส้นทางบิน ตัวแปรที่เป็นความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะอยู่ในข้อกำหนดแล้ว โอกาสที่มันจะทำให้เกิดอันตรายก็ลดน้อยลงไป

เพราะฉะนั้นตัวแปรอื่นๆที่สำคัญมากต่อการบินคือ Natural Hazard

อันนี้คือตัวร้ายกาจที่สุดครับ เพราะเราควบคุมไม่ได้ แต่หลีกเลี่ยงได้ในบางกรณี คือ ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ต้องเลี่ยง แต่บางทีมันเลี่ยงไม่ได้เพราะมันวิ่งมาหาเรา เช่น นก เป็นต้น

ผมเคยบินชนนก แต่เครื่องบินไม่เป็นไรมาก

ผมเคยโดนฟ้าผ่า แต่เครื่องบินไม่เป็นไรมาก

และที่น่ากลัวที่สุดคือ เมฆฝนฟ้าคะนอง บางทีมันหลบไม่ทัน หลบไม่ได้

ผมมีประสบการณ์กับการบินเข้า thunderstorm อยู่หลายครั้งและมีอยู่ครั้งหนึ่งที่รู้สึก หวั่นใจ เป็นการบินเข้า thunderstorm ที่แรงที่สุดในชีวิต เกิดขึ้นตอนเป็น co-pilot เครื่องบิน A300-600 ตอนนั้นบินขึ้นมาจากสนามบิน ละฮอร์ Lahore ประเทศปากีสถาน เมืองละฮอร์นั้นอยู่ติดชายแดนต่อกับประเทศอินเดีย เราวิ่งขึ้นใช้รันเวย์ขึ้นเหนือ หลังจากวิ่งขึ้นไปแล้วหันหัวกลับลงใต้เพื่อที่จะบินเข้าเขตประเทศอินเดียกลับกรุงเทพ

สมัยนั้นวิทยุสื่อสารไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก เรายังต้องใช้ความถี่ HF ในการติดต่อกับหอบังคับการบินของนิวเดลี ทาง Lahore ให้ clearance บินขึ้นมาได้ที่ระดับความสูงหนึ่ง หลังจากนั้นเราจะต้องติดต่อกับทางอินเดียเพื่อขอระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น 

เส้นทางบินในอินเดียนั้นมีปริมาณการจราจรทางอากาศคับคั่งมากครับ เราจึงถูกกดความสูงเอาไว้ก่อน จนกว่าจะประสานกับทางอินเดียได้จึงจะสามารถที่จะไต่ระดับขึ้นบินต่อได้

เรื่องมันไม่สนุกตรงที่ว่า วันนั้นเมฆก้อนมหึมามากที่ขวางทางเราอยู่ คือจะบอกว่า บริเวณนี้ช่วงอินเดียและปากีสถานเป็นแหล่งชุมนุมของ thunderstorm จริงๆครับ วันนั้นเราเจอเมฆที่โตขึ้นมาอย่างรวดเร็วมากมัน active สุดๆ และการที่เรากำลังไต่ระดับขึ้นมา ก็พยายามหาช่องทางที่สามารถหลบหรือผ่านให้ได้ แต่ในจอเรดาห์วันนั้นมันแดงไปหมด เครื่องบินก็สั่นสะเทือนรุนแรงมาก ความรู้สึกของเราแทบจะเหมือนขวดน้ำวางแนวนอนแล้วถูกจับเขย่า ผมนั่งบินอยู่ด้านหน้า นักบินที่นั่งอยู่ด้านหลังช่วยติดต่อวิทยุกับอินเดียเพื่อขอไต่ความสูงเพิ่มขึ้น ทั้งหมดใช้เวลากว่า 20 นาทีที่เราถูกจับเขย่าขวด

ผมจำนักบินทุกคนบนไฟล์ทนั้นได้อย่างแม่นยำไม่เคยลืม โดยเฉพาะกัปตัน ทุกครั้งที่เราเจอกัน เหมือนเป็นการรู้สึกและระลึกถึงเที่ยวบินนี้ด้วยกันทุกครั้งไป

ไฟล์ทนี้ไฟล์ทเดียวแหละครับ 

ที่ทำให้ใจหวั่นๆได้อย่างยาวนานที่สุด

สภาพอากาศที่เลวร้าย

ใครไม่เคยเจอไม่รู้หรอกว่ามันน่ากลัวขนาดไหน

หลบได้หลบ อย่าฝืน
หนังสือนักบินมีทั้งหมด 5 เล่ม

สั่งซื้อหนังสือผ่าน shopee https://shopee.co.th/apilotbook

https://youtu.be/hHQwYTxaN_A

ติดตาม A Pilot Club ได้ทาง
ยูทูปช่อง Captain Sopon https://www.youtube.com/c/SoponPhikanesuan
เฟสบุ๊ค https://wwwfacebook.com/apilotbook
เว็บไซต์ http://www.apilotclub.com/
เป็นเพื่อนกับเราทางไลน์ออฟฟิศเชียล https://lin.ee/BQyGDbK
ซื้อหนังสือ A Pilot Book ได้ที่ https://shopee.co.th/apilotbook

Comments are closed
0
0