การฝึกบินนั้นต้องใช้ทักษะหลาย ๆ อย่างประกอบกัน

หลาย ๆ ครั้งที่มักถูกถามว่า ในห้องนักบินมีปุ่มต่าง ๆ มากมาย จำได้หมดหรือ

แล้วมีวิธีจำยังไง

การใช้ความจำมีหลายแบบครับ 

ผมขอจำแนกอย่างง่าย ๆ ได้ สองแบบ คือ 

จำด้วยความเข้าใจ กับ จำโดยไม่ต้องเข้าใจ

แบบที่หนึ่ง การจำด้วยความเข้าใจ คือ การจำเรื่องที่เป็นพื้นฐานความรู้หรือหลักสำคัญของการทำงาน เป็นการจำแบบที่ต้องใช้เหตุและผล เพื่อใช้งานเรื่องเหล่านั้นในภายหลัง เป็นการจำที่ต้องทำการศึกษาเพื่อให้รู้ถึงเหตุและผลจึงจะเกิดความเข้าใจ 

การจำแบบนี้เป็นการจำที่จะทำให้สามารถพัฒนาความคิดและต่อยอดความรู้ออกไปได้อีกเมื่อได้รับข้อมูลเพิ่มเติมใหม่ ๆ หรือได้รับประสบการณ์เพิ่มขึ้นจากการทำงานซ้ำ ๆ 

การจำแบบแรกนี้จึงมีความสำคัญมาก และต้องอาศัยความทุ่มเทในการพยายามทำความเข้าใจ แต่หากมีพื้นฐานหรือหลักการในการเรียนหรือทำความเข้าใจแล้ว การจำแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

แต่บางคนใช้ความจำแบบที่ไม่ต้องเข้าใจมาใช้ทำงานกับเรื่องที่ต้องจำด้วยความเข้าใจ อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด 

โดยเฉพาะหากเป็นนักบิน การใช้ความจำอย่างเดียว เพื่อทำงานที่ต้องมีหลักความเข้าใจร่วมด้วยนั้นเป็นอันตราย

ดังนั้น นักบินจึงจะต้องถูกฝึกให้คิด และถูกกำกับการทำงานด้วย checklist เพื่อป้องกันไม่ให้การทำงานหรือการแก้ไขสถานการณ์ไม่ทำหรือปฏิบัติข้ามขั้นตอน ซึ่งอาจกลายเป็นทำให้เกิดภาวะอันตรายเพิ่มขึ้น

ไม่ใช่ทุก ๆ เรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจหรอกครับ 

เพราะบางครั้งแราแค่ต้องจำเฉย ๆ เช่น หากเพื่อนบอกเบอร์โทรศัพท์ หรือเบอร์บัญชีธนาคาร เราคงไม่ต้องทำความเข้าใจกับตัวเลขเหล่านั้น แต่เราสามารถจำได้ระยะหนึ่ง หากผ่านไปนานเช่น 15-20 นาที เราก็คงจะจำมันไม่ได้ หรือ อาจจะไม่มั่นใจว่ามันถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับว่า เราต้องจำตัวเลขหรือรายละเอียดที่ต้องจำนั้นมากน้อยแค่ไหน

การจำแบบที่ไม่ต้องทำความเข้าใจแบบนี้ 

ก็มีความสำคัญกับการบินเช่นกันครับ 

แต่จะใช้กับบางเรื่อง

และไม่ต้องใช้ความสามารถพิเศษมากนัก (แต่ต้องฝึก)

สำหรับการบินการจำแบบนี้ก็มีความสำคัญมากทีเดียวครับ

อาทิเช่น

การจำสิ่งที่หอบังคับการบินพูด และทวนคำพูดเหล่านั้น หลังจากผ่านระยะเวลาหนึ่งต้องทำในสิ่งที่ได้รับคำแนะนำหรือคำสั่งให้ทำนั้นให้ครบถ้วนหรือถูกต้อง

ตัวอย่างการที่ต้องจำอย่างไม่มีเหตุผล (แต่อาจจะต้องใช้มโนภาพหรือการผูกการจำนั้นเข้ากับการปฏิบัติ)

สมมุติว่า หอบังคับการบินพูดประโยคนี้

“NOK AIR one-two-three-four, turn right to heading three-six-zero, climb to flight level three-three-zero and expedite climb until passing flight level two-four-zero, cancel speed and altitude restriction, contact Bangkok control one-two-three-decimal-four-five-six”

นักบินของเที่ยวบิน NOK AIR 1234 ก็จะต้องพูดทวนคำสั่ง (readback clearance) ประโยคข้างบนนั้นทั้งหมด โดยไม่ตกหล่นข้อความสำคัญ และหากเป็นไปได้ ควรเรียงลำดับด้วย แต่บางอย่างก็อาจจะสลับตำแหน่งในการพูดได้ โดยไม่ผิดความหมาย

เราเรียกการจำเรื่องสั้น ๆ หรือประโยคสั้น ๆ เพื่อใช้ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ แบบนี้ว่า “short term memory”

จะเห็นว่า การจำประเภท short term memory นั้น ดูเหมือนว่าอาจจะไม่ได้ต้องอาศัยความเข้าใจหรือหลักเหตุและผล แต่ความจริงแล้วมันผูกรวมเข้ากับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในขณะที่ทำงาน

ถ้าจะให้เห็นภาพชัดขึ้นของการใช้ short term memory น่าจะเป็นเรื่องของการบอกทิศทาง

หรือการบอกลักษณะของสิ่งของ เพื่อให้เลือกตามสเปคที่ต้องการ เช่น ให้ซื้อส้ม และฝรั่งอย่างละ 2 กิโล องุ่นเขียว 1 กิโล และขนมปัง 1 แถว หากต้องซื้อหลาย ๆ อย่างเราก็คงใช้วิธีจดลงกระดาษ แล้วไปเดินเลือกซื้อให้ได้ของที่ต้องการเรามีเวลาเดินหรือมีเวลาท่องจำ

แต่สำหรับนักบิน นั้นไม่ได้มีเวลามากในการฟังและการตอบ เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา 

ฟังครั้งเดียว เข้าใจ และทวนคำสั่งได้ครบถ้วน

Short term memory ฝึกได้ครับ ฝึกบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้เราจำเรื่องราวได้มากขึ้น รับข้อความได้ยาวขึ้น และคิดไวขึ้น

Short term memory จึงเป็นคุณสมบัติหนึ่งสำหรับการเป็นนักบินที่ดี เพราะมันช่วยให้สามารถทำงานหลาย ๆ อย่างได้พร้อม ๆ กัน อาจกล่าวได้ว่า short term memory เป็นตัวเสริมสำหรับพัฒนาการด้าน multitasking skill ซึ่งเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่นักบินพึงมีครับ

หากไม่ฝึกเลยความสามารถด้านนี้ก็จะหายไปนะครับ