เรื่องนี้ขนลุก

ข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือ 20,000 hours” ซื้อหนังสือ A Pilot Book ได้ที่ https://shopee.co.th/apilotbook

มีอยู่เที่ยวบินหนึ่ง ผมจำไม่ได้ว่าบินจากประเทศไหนไปประเทศไหน แต่คิดว่าเป็นการบินข้ามทวีปกลับมาเมืองไทย เพราะเราต้องมีการเปลี่ยนผลัดในการนั่งประจำที่

อธิบายเรื่องการเปลี่ยนผลัดกันหน่อยดีกว่า คือ เที่ยวบินที่เดินทางไกลๆบินนานๆ จะมีนักบินไปบนเที่ยวบินหลายคนเพื่อที่จะสลับเปลี่ยนกันนั่งประจำหน้าที่ อย่างเช่น กรุงเทพ ไป กรุงลอนดอน สมมติว่า ใช้เวลาบินประมาณ 12 ชั่วโมง ใช้นักบิน 4 คน ในช่วงตอนวิ่งขึ้นจากสนามบิน นักบินทั้ง 4 คนก็จะนั่งประจำที่นั่งอยู่ในห้องนักบินด้วยกันหมด พอเครื่องบินบินขึ้นไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว เราก็จะจัดเวลาเพื่อแบ่งพักให้มี 2 คนนั่งประจำหน้าที่ในตำแหน่งด้านหน้า และอีกสองคนไปพักเพื่อรอเปลี่ยนผลัด ซึ่งโดยปกติก็จะแบ่งผลัดให้ไม่ยาวเกินไปและเฉลี่ยให้ทุกคนได้พักเท่าๆกัน แต่การจัดพักก็มีหลายวิธีหลายรูปแบบครับ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละเที่ยวบินและสถานการณ์ของวันนั้นๆด้วย เช่น บางเที่ยวบินใช้ 3 คน การจัดพักก็จัดให้พักได้ทีละคนเดียว

ลองยกตัวอย่างให้ดูดีกว่า

สมมติว่า เที่ยวบิน 12 ชั่วโมง และใช้นักบินทั้งหมด 4 คน พอเครื่องบิน airborne ปุ๊ป สมมติว่าเวลา 1800z (Z หมายความว่า UTC) บินขึ้นไปสักระยะหนึ่ง นักบินที่นั่งในเก้าอี้ 1st และ 2nd observer ซึ่งคือ นักบินเสริม (relief หรือ reinforce pilot) ไม่ได้นั่งอยู่ในเก้าอี้ด้านหน้า ไม่ได้บังคับเครื่องบิน จะเริ่มการคำนวณเวลา
ในการบินจาก flight plan จริงๆแล้วระบบ FMS บนเครื่องบินก็มีการคำนวณเวลาตาม flight plan (ที่ใส่ไว้) เมื่อได้เวลา ETA (estimate time of arrival) 

กัปตันเห็นว่าเหมาะสมแก่เวลาก็จะบอกนักบินที่นั่งอยู่ด้านหลังให้จัดพักเริ่มที่เวลา…ถึง… โดยกัปตันจะบอกว่าเค้าจะเลือกนั่งช่วงไหน การที่กัปตันเลือกนั่งช่วงเวลาไหนของการพักก็มีเรื่องให้คิดๆหลายอย่างครับ เช่น ช่วงนั้นอากาศไม่ค่อยดี ช่วงเวลานั้นการติดต่อสื่อสารไม่ค่อยสะดวก ช่วงเวลานั้นๆบินผ่านเหนือเทือกเขาสูงๆเป็น high terrain หากมีวิกฤติเกิดขึ้นกัปตันก็จะได้แก้ปัญหาได้ แบบนี้เป็นต้น
สมมติว่า ETA 0605zให้เริ่มจัดพัก 1840 ถึง 0520 คือ จะเผื่อเวลาสำหรับก่อนลงสนามประมาณ 45 นาที เพื่อที่จะเตรียมให้ร่างกายตื่นตัวและพร้อมสำหรับการบิน เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะมีช่วงเวลาพัก 5 ชั่วโมง 20 นาที

Rest Period ก็จะมีหน้าตาประมาณนี้
1840-2120
2120-0000
0000-0240
0240-0520
แบบนี้คือจัดแบบแบ่งเท่ากันหมด

แต่ถ้าจัดแบบยาว-ยาว-สั้น-สั้น ก็อาจจะเป็น

1840-2140
2140-0040
0040-0300
0300-0520
3 ชั่วโมงในผลัดแรกและ 2:20 ในผลัดที่สอง


บางทีก็อาจจะมีการจัดแบบ ยาว-สั้น-สั้น-ยาว ก็ได้เหมือนกันขึ้นอยู่กับทีมวันนั้นคุยกัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ทำการบิน ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ช่วงเวลาของการจัดพักนั้นได้มีโอกาสพักหรือนอนหลับได้จริง

ช่องยูทูปกัปตันโสภณ

ส่วนถ้าเป็นเที่ยวบินที่บินไม่ยาวมากแต่ตามกฏการบินแล้วต้องมีนักบิน 3 คน การจัดพักก็จะต้องจัดแบ่งเวลาออกมาเป็น 3 ช่วง เป็นต้น

กลับมาที่เหตุระทึกๆนิดหน่อยครับ ไม่มากแต่ว่าขนลุกซู่
วันนั้นน่าจะนั่งในพลัดที่ 3 หรือ 4 อากาศดีมาก ท้องฟ้าเงียบสงบและมืดสนิทมากๆ ผมนั่งฝั่งซ้ายซึ่งเป็นที่นั่งกัปตัน ตอนนั้นยังเป็น co-pilot อยู่และมีอาวุโสน้อยกว่าพี่ co-pilot อีกคนที่อยู่ผลัดเดียวกัน ด้วยหลักปฏิบัติคนที่อาวุโสกว่าให้นั่งที่ qualified seat

อย่างเช่นกรณีนี้ พี่ co-pilot ก็นั่งเก้าอี้ด้านขวาและทำหน้าที่ 1P ตัวผมก็จะเป็น 2P สมัยก่อนเรียก 1P/2P ซึ่ง 1P ก็คือ PF หรือ Pilot Flying ในปัจจุบันและ 2P ก็คือ PM หรือ Pilot Monitoring เราทั้งสองคนนั่งด้วยกันมาแล้วหนึ่งผลัด และนี่เป็นผลัดที่ 2 ก่อนถึงที่หมาย ผลัดนี้ก็ไม่ค่อยได้คุยอะไรกันมาก นั่งเงียบๆ แต่สังเกตุว่า พี่เค้ามองไปด้านหลังอยู่บ่อยครั้ง

คือ ในห้องนักบินของเครื่องบินโบอิ้ง 747-400 จะค่อนข้างกว้าง นอกจากมีเก้าอี้สองตัวแล้ว ก็มีส่วนที่เป็น crew rest เป็นเตียงนอนสองเตียงสำหรับนักบินโดยเฉพาะ ซึ่งถ้านักบินเปิดประตูห้องนอนก็จะเห็นภายใน cockpit ตรงส่วนของเก้าอี้ 1st observer และ co-pilot และถัดจากประตู crew rest ก็จะเป็นประตูที่เปิดออกไป upper deck cabin คือออกไปนอก cockpit เพื่อเข้าห้องน้ำ

วันนั้นผมเองก็มองไปด้านหลังบ่อยเหมือนกัน คือ เพราะว่ารู้สึกเหมือนมีคนยืนอยู่ด้านหลัง ไม่แน่ใจว่าพี่กัปตันออกมาจากห้องนอนหรือเปล่า ก็จะได้เปิดไฟในห้องให้สว่างขึ้นพี่เค้าจะได้เดินออกไปข้างนอกได้

คือ สองคนรู้สึกคล้ายๆกันว่ามีคนอยู่ พี่เค้าเปิดไฟดู ไม่มีอะไร เราก็ไม่คิดอะไรมาก นั่งบินไปเรื่อยจนมารู้สึกหนักๆเลยคือ หันมามองตากันสองคนด้วยจังหวะหันหน้าพร้อมๆกันแล้วพี่เค้าก็พูดว่า 

“มึงรู้สึกเหมือนกูรึเปล่า”

เท่านั้นแหละครับ ไฟสว่างขึ้นในห้องนักบิน โดยที่เราไม่ได้เปิดสวิตช์ พลันที่ไฟสว่างจ้าขึ้นผมกับพี่เค้าก็หันไปดูนะ มันว่างเปล่าไม่มีใคร แล้วสักพักหนึ่งไฟก็ดับไป แค่เพียงไม่กี่วินาทีหรอกครับ แต่ว่า “มันขนลุกอ่ะ” ไม่ได้งมงายเรื่องผีสางครับ แต่วันนั้นเจอแบบนี้ ไม่ได้อยากให้เชื่อหรือหลงงมงายเรื่องนี้นะครับ เพราะส่วนตัวแล้วผมไม่เคยเจอผีสางแบบเห็นจะจะสักที เคาะๆ ไม่ได้อยากเจอนะครับ ไม่ต้องมา

สรุปว่า วันนั้นมี Human Remain กลับบ้านกับเราด้วย ก็เลยอยากมาอยู่เป็นเพื่อนนักบิน คงกลัวนักบินง่วง แอบหลับ หรือไม่ก็อยากเข้ามาส่องดู cockpit สักหน่อย

สมัยนั้นการเข้ามาเยี่ยมชม cockpit ถือเป็นเรื่องปกตินะครับ คือสามารถที่จะทำได้โดยไม่ผิดกฏระเบียบอะไรครับ ต่างจากปัจจุบันนี้หลังจากที่มีเหตุการณ์ 911 การเข้าห้องนักบินยึดเครื่องบินบังคับเครื่องบินไปชนตึกเวิร์ดเทรด ตั้งแต่นั้นมา การเข้าออกห้องนักบินจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง sensitive มาก

อธิบายคำว่า Human Remain อีกสักหน่อยครับ

Human Remain หมายถึง ศพคนตายแล้วที่ทำการขนส่งกลับประเทศอยู่ในห้องเก็บสัมภาระใต้ท้องเครื่องบิน ถ้าใน electronic loadsheet (EDP) จะใช้ code ว่า HUM เพื่อให้นักบินได้รับทราบว่ามีสัมภาระนี้ อยู่ใต้ท้องเครื่องบินครับ การส่ง Human Remain นั้นต้องมีพิธีการเรื่องของบรรจุภัณฑ์ตามหลักการขนส่งสินค้าทางอากาศครับ จะนำใส่โลงไปเฉยๆไม่ได้ครับ

หนังสือนักบินมีทั้งหมด 5 เล่ม

สั่งซื้อหนังสือผ่าน shopee https://shopee.co.th/apilotbook

https://youtu.be/hHQwYTxaN_A

ติดตาม A Pilot Club ได้ทาง
ยูทูปช่อง Captain Sopon https://www.youtube.com/c/SoponPhikanesuan
เฟสบุ๊ค https://wwwfacebook.com/apilotbook
เว็บไซต์ http://www.apilotclub.com/
เป็นเพื่อนกับเราทางไลน์ออฟฟิศเชียล https://lin.ee/BQyGDbK
ซื้อหนังสือ A Pilot Book ได้ที่ https://shopee.co.th/apilotbook

Tags:

Comments are closed
0
0