ทุก ๆ Landing คือ การเตรียม Go-Around
ใช่ครับ สำหรับนักบินที่มีประสบการณ์การบินผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านเหตุการณ์หลายๆอย่างมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง สิ่งที่จะต้องคิดถึงอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปกติ หรือมีสภาพอากาศไม่ค่อยดีทางการบิน ก่อนที่นักบินจะทำการลงสนามจะคำนึงถึง การที่ไม่สามารถลงสนามได้แล้วจะต้องทำการยกเลิกการลงสนาม นั่นคือ การ go around นั่นเอง บางทีการใช้คำศัพท์เทคนิคอาจมีคำหลายคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น คำว่าว่า missed approach และคำว่า aborted landing ซึ่งจะใช้ในสถานการณ์แตกต่างกันไป โดยรวมๆคือการไม่ทำการลงสนามแล้วบินไต่ระดับขึ้นไปใหม่ ใช้คำว่า go around รวมๆกันไปครับ
เรื่องการบินเป็นเรื่องของการคำถึง worst case scenario หมายความว่า การที่นักบินจะต้องประมาณหรือประเมินสถานการณ์ว่าจะมีอะไรร้ายๆเกิดขึ้นหรือไหม โดยมีหลักและกฏเกณฑ์ต่างๆเป็นตัวชี้วัดว่า สถานการณ์มันต้องระวัง take caution มากหรือน้อยขนาดไหน
การบินคือการประเมินตลอดทุกๆเวลาว่า ณ เวลานั้น ๆ เครื่องบินมีความเสี่ยงที่ทำให้ความปลอดภัยถูกลดลงไปหรือไม่ อะไรบ้างที่ถูกประเมิน ก็หลักคร่าวๆ คือ
- คน หมายถึง นักบิน ลูกเรือ ช่าง (ถ้ามี) และผู้โดยสาร สิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนเครื่องบิน อยู่ในสภาพไหน มีความพร้อมหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น มีคนป่วย เกิดการโกลาหลควบคุมไม่ได้ อย่าง unruly passenger หรือ เหตุการณ์ร้ายๆอื่นๆ สำหรับในส่วนของนักบินยังมีเรื่องของ qualification ต่างๆทางการบินรวมอยู่ด้วย เช่น low visibility approach นักบินต้องผ่านการฝึกมาก่อนจึงจะลงสนามบินได้ เป็นต้น
- เครื่องบิน สภาความพร้อมของเครื่องบิน มีอุปกรณ์อะไรที่ทำงานไม่สมบูรณ์บ้างแล้วมันมีผลกระทบกับการบินลงสนามหรือไม่ เรื่องต่างๆเกี่ยวกับเครื่องบินจะต้องได้รับการรีวิว ตรวจสอบ snag ของเครื่องบินก่อนที่จะทำการลงสนาม
- สนามบิน (และวิธีการบินเข้าสู่สนาม) อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยการบินต่างๆของสนามบินเป็นไปตามที่กำหนดและเพียงพอต่อการลงสนามหรือไม่ หากไม่ครบ จะต้องคำนวณและประเมินข้อมูลการลงสนามว่ามันเหมาะสมสำหรับการลงสนามในวันนั้น (เครื่องและคนสอดคล้องกับวิธีการลงสนาม)
- สภาพอากาศ ตรงนี้คือตัวแปรสำคัญ สำหรับการลงสนาม ถ้าอากาศดีไปเลยก็โอเค ถ้าอากาศไม่ดีไปเลยก็โอเคเหมือนกัน คือไม่ลงสนามไง บินวนรอหรือตัดสินใจไปลงสนามบินอื่นเลย หากสภาพอากาศอยู่ในสภาพที่ marginal weather เรียกว่า กึ้มๆ ประมาณว่า คาบลูกคาบดอก คือ ไม่ใช่ไม่ดีและก็ไม่ใช่ว่าจะดี หมายถึง เพียงพอตามข้อกำหนด และไม่เกินกว่า limitation ในการปฏิบัติ แบบนี้แหละที่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ
เวลาร่อนลงสนาม Approach to Land ช่วงของการลงสนามถือเป็นช่วงที่นักบินมี high workload สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเฟสอื่น ๆ
โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดเพราะตัวคน ก็ย่อมมีมากไปด้วย
การลงสนามก็ต้องใช้ทักษะ ความสามารถในการบังคับเครื่องบินมากกว่าช่วงอื่น ๆ ด้วย
หากมีตัวแปรอื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น ฝนตก มีกระแสลมแรง การบังคับเครื่องบินก็จะยิ่งมีความยากเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ดังนั้น การบินจึงมีการกำหนดข้อจำกัดบ่งบอกเอาไว้ว่า หากกระแสลมมากกว่าที่กำหนดไว้
โอกาสที่จะทำการลงสู่สนามโดยราบรื่นมีต่ำลง หรือพูดอีกอย่างคือ มีความเสี่ยงที่จะไม่ปลอดภัย และการแก้ไขสามารถทำได้ยาก
การกำหนด limitation ต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น โดยอาศัยการทดลองบินด้วยนักบิน test flight ของบริษัทผลิตเครื่องบิน
เช่น การลงสนามต้องมีลมขวางน้อยกว่า 30 Knots เป็นต้น
การบินอยู่ในสภาพอากาศแปรปรวน อย่างกระแสลมกระโชก หรือเข้าเมฆฝน มีทัศนวิสัยต่ำ
นักบินต้องทำการแก้ไขบังคับเครื่องบินอยู่ตลอดเวลา หากเห็นท่าไม่ดีว่าเครื่องบินอาจจะหลุดออกนอกกรอบที่วางไว้ และทำให้การบินไม่ปลอดภัย
นักบินก็ต้องตัดสินใจยกเลิก โดยการบินไต่ระดับขึ้นใหม่ หรือเรียกว่า Go-Around
บางครั้งมองไม่เห็นรันเวย์เมื่อถึงระดับความสูงต่ำสุดที่จะลดระดับลงไปได้แล้วนักบินก็ยังมองไม่เห็นรันเวย์ ก็จะต้องทำการ Go-around นำเครื่องบินขึ้นไปใหม่ก่อน
หรือในบางทีก็อาจจะต้องทำการ Go-Around โดยไม่ต้องรอลดระดับลงไปถึงความสูงนั้น ตัวอย่างเช่น Go-Around เนื่องจากมีกระแสลมเฉือน (windshear) เครื่องบินสามารถจะ detect windshear
ดังนั้นหากมีการแจ้งเตือนนักบินก็ต้องทำการ Go-Around ทันที มีเรื่องหรือสาเหตุที่นักบินต้องทำการ Go-Around อยู่หลายรูปแบบครับ
ดังนั้น นักบินต้องจำให้ขึ้นใจไว้เสมอว่า ทุก ๆ ครั้งที่ลงสนาม หากต้อง Go-Around จะต้องทำอย่างไรบ้าง บินไปทางไหน
สำหรับผู้โดยสารหากอ่านมาถึงตรงนี้ ก็ขอให้เข้าใจตรงกันเลยนะครับว่า
การ Go-Around นั้นถือเป็นเรื่องปกติของการบินที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาของการร่อนลงสู่สนาม
นักบินทุกคนต้องผ่านการฝึก Go-Around มาแล้ว เพราะฉะนั้นการ Go-Around ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล แต่ผู้โดยสารบางคนที่ไม่เคยเจอมาก่อน ครั้งแรกอาจจะตกใจเล็กน้อยครับถึงตรงนี้จึงอยากจะขอให้ผู้โดยสารเข้าใจว่า
ทุก ๆ landing นั้นมีโอกาสที่จะต้อง Go-Around ได้เสมอ
สำหรับผู้โดยสาร การรัดเข็มขัดนิรภัย การเก็บโต๊ะหน้าที่นั่ง การปฏิบัติตามที่ลูกเรือประกาศ ทุกครั้งก่อนทำการลงสนามคือการเตรียมความพร้อมหากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น อย่างเช่น การ go around หรือ หากเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุไถลออกไปนอกรันเวย์ เราก็จะลดโอกาสในการบาดเจ็บลงได้ครับ
สั่งซื้อหนังสือผ่าน shopee https://shopee.co.th/apilotbook
ติดตาม A Pilot Club ได้ทาง
ยูทูปช่อง Captain Sopon https://www.youtube.com/c/SoponPhikanesuan
เฟสบุ๊ค https://wwwfacebook.com/apilotbook
เว็บไซต์ http://www.apilotclub.com/
เป็นเพื่อนกับเราทางไลน์ออฟฟิศเชียล https://lin.ee/BQyGDbK
ซื้อหนังสือ A Pilot Book ได้ที่ https://shopee.co.th/apilotbook