Flying Phobia

Flying Phobia

ปัญหาของผู้ที่รู้สึกกลัวการขึ้นเครื่องบินมาก แต่จำเป็นต้องเดินทางบ่อยๆ “โดยเฉพาะเที่ยวบินต้องบินไกลเป็นสิบชั่วโมงจะยิ่งรู้สึกกลัวมาก”

“จะใช้ยานอนหลับได้หรือไม่ 

เพื่อจะได้หลับไปเลยระหว่างเดินทาง 

ไม่ต้องรู้สึกเป็นกังวล”

อาการกลัวเครื่องบินที่เรียกว่า flying phobia, flight phobia, หรือ aerophobia นั้น คือ ความรู้สึกเป็นกังวล มีอาการหวาดระแวง กลัว มือสั่น เหงื่อแตก รู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก ยิ่งเครื่องสั่นหรือตกหลุมอากาศจะยิ่งทำให้มีอาการเหล่านั้นเพิ่มขึ้น บางคนเคยขึ้นเครื่องบินมาแล้ว ไม่ได้รู้สักกังวลหรือหวาดกลัว แต่ภายหลังมาเจอเครื่องบินตกหลุมอากาศ หรือมีเหตุฉุกเฉินมีความรุนแรง หรือการเสพข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องบินมากเกินไป จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจ 

การแก้ปัญหาเรื่องการกลัวการขึ้นเครื่องบินนั้นดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่เป็นเฉพาะบุคคลและขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมาของคนๆนั้นด้วยว่า สาเหตุที่ไม่อยากขึ้นเครื่องเกิดจากอะไรถ้าเคยขึ้นเครื่องบินมาก่อน แล้วมากลัวทีหลัง แสดงว่า ได้รับประสบการณ์ไม่ดีจนเกิดความกังวล

เรื่องที่นั่งบนเครื่องบินก็อาจมีส่วนเช่นกันครับ ที่นั่งที่คับแคบของชั้นประหยัด อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และไม่สามารถพักผ่อนได้ในระหว่างที่ต้องเดินทางไกล ๆ ไม่สามารถหลับได้ เหมือนต้องตื่นอยู่ตลอด บรรยากาศภายในห้องโดยสารก็มีส่วน คนที่ไม่ชอบที่แคบ เมื่อเดินทางในชั้นโดยสารที่แออัด ก็จะรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สบายและเริ่มหงุดหงิด เมื่อเครื่องบินบินผ่านสภาพอากาศแปรปรวนเล็กน้อย ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกเป็นกังวล
ตัวระบบสันทนาการบนเครื่องบิน (Inflight Entertainment :IFE) ช่วยได้ระดับหนึ่งครับ หาภาพยนต์ ดนตรี หรือเกมส์ที่ช่วยให้ผ่อนคลายระหว่างการเดินทางเป็นทางออกที่ดีกว่าการใช้ยานอนหลับ

การใช้ยานอนหลับ แม้ว่าจะยังไม่มีกฏหมายบังคับใช้กับผู้โดยสาร แต่โดยส่วนตัวผมไม่สนับสนุนนะครับ การใช้ยานอนหลับหรือยากล่อมประสาทประเภทต่าง ๆ ทั้งนักบินและพนักงานต้อนรับมีกฏบังคับใช้ว่ายาตัวไหนใช้ได้ ตัวไหนใช้ไม่ได้ ยานอนหลับต้องทานก่อนมาทำการบินไม่น้อยกว่าช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 12, 18, 24 ชม.หรือมากกว่านั้น เป็นต้น

 “ไม่เห็นด้วยที่จะใช้ยานอนหลับ

ระหว่างเดินทางโดยเครื่องบิน”

โดยเฉพาะถ้าจะใช้แบบแรงที่ทำให้หลับแบบไม่รู้สึกตัวเลยนี่ยิ่งไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะหากเครื่องบินเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างทางขึ้นมาเราจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และไม่รู้เลยว่ากัปตันและลูกเรือบอกให้ทำอะไร ตอนไหน เมื่อไหร่

ผมเคยเขียนเรื่อง lying sick passenger หรือผู้โดยสารป่วยที่ต้องเดินทางแบบนอนไป ผู้โดยสารคนนั้นต้องนอนไปตลอดโดยการให้ยานอนหลับ เค้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เช่นกันแต่ lying sick passenger นั้น ถูกกำหนดให้เดินทางได้ก็ต่อเมื่อมี escort คือ คุณหมอและ/หรือพยาบาล เดินทางไปด้วยเท่านั้น เพราะหมอหรือพยาบาลจะต้องดูแลผู้โดยสารท่านนั้นไปตลอดการเดินทางครับ


อีกวิธีหนึ่งเพื่อคลายความกังวลคือ ให้บอกลูกเรือหรือหัวหน้าพนักงานต้อนรับสักนิดก็ได้ครับ ว่าผม/ดิฉัน กลัวการขึ้นเครื่องบินนะ มีอะไรช่วยบอกช่วยเตือนด้วย ไม่ต้องอายครับ เพราะทางลูกเรือจะได้รู้ว่า ท่านต้องการความช่วยเหลือ หากมีสถานการณ์ที่ผิดปกติ หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้ท่านเองสบายใจขึ้นอีกนิดว่า มีคนจะมาช่วยมาดูแลหากเกิดอาการช๊อค หรือหมดสติขึ้นมา (หวังว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น) 

จริง ๆ แล้ว พนักงานต้อนรับที่มีประสบการณ์จะสามารถสังเกตได้ครับว่า ผู้โดยสารท่านใดมีอาการผิดปกติหรือไม่อย่างไร และก็จะเข้าไปถามไถ่ปัญหาเอาไว้ก่อนล่วงหน้าครับ เรื่องนี้มีผลทางด้านจิตวิทยา คือ การได้พูดได้คุย ได้ระบายความอึดอัดออกมาบ้างไม่มากก็น้อย 

การพูดคุยกับเพื่อนเดินทาง หรือเดินทางพร้อม ๆ กันกับเพื่อนก็ช่วยให้ผ่อนคลายไปได้มากครับ

สายการบินต่าง ๆ ก็รับรู้ปัญหาตรงนี้และพยายามที่จะทำบรรยากาศในการให้บริการระหว่างเที่ยวบินมีความเป็นกันเอง เสมือนมีเพื่อนเดินทางไปด้วยกัน

การประกาศจากห้องนักบินก็มีผลเช่นกันนะครับโดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ที่ผู้โดยสารรู้ว่าเกิดความผิดปกติ การคลายความกังวลของผู้โดยสารคือ เสียงของกัปตันหรือนักบินที่ควบคุมเครื่องบิน การประกาศบอกว่า เกิดอะไรขึ้น และควบคุมสถานการณ์เหล่านั้นได้แล้ว ผู้โดยสารไม่ต้องเป็นกังวล คือถ้าได้ยินอย่างนี้ ผู้โดยสารน่าจะหายกังวลได้จริง ๆ (รึเปล่า)

Tags:

Comments are closed
0
0