อย่าทำแบบนี้บนเครื่องบิน

ความสงบเรียบร้อยภายในห้องโดยสารนั้น 

มีส่วนสำคัญในแง่ของความปลอดภัยเวลาที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน

บางครั้งผู้โดยสารอาจไม่เข้าใจเหตุผลว่า  เวลาขึ้นเครื่องบินทำไมต้องให้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ 

“ฉันจะวางของไว้ตรงนี้ไม่ได้หรืออย่างไร 

ฉันจ่ายเงินมานะ ทำไมจะทำไม่ได้”

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้โดยสารยังไม่ทราบว่า การกำหนดให้ปฏิบัติอย่างนั้น อย่างนี้นั้น เป็นเพราะอะไร เรามาลองอ่านเรื่องเบา ๆ ที่ถือเป็นคำแนะนำในการเดินทางให้มีความสะดวกราบรื่นกันครับ

กฏหมายกำหนดให้สายการบินดูแลจัดการเรื่องต่าง ๆ ภายในห้องโดยสารให้มีความเรียบร้อย การเก็บของนั้นถูกกำหนดให้เก็บในที่เก็บที่จัดไว้ให้เท่านั้น และบางที่นั่งอาจไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารบางประเภทนั่ง

ซึ่งเป็นการจัดการของสายการบินเพื่อกำจัดปัญหาหากมีกรณีฉุกเฉิน ไม่ให้สิ่งของหรือข้าวของระเกะระกะ รวมถึงคนที่อยู่ในบริเวณที่กำหนดจะต้องไม่กลายเป็นสิ่งกีดขวางในการอพยพฉุกเฉิน

ประเด็นที่ผมเขียนมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของการปฏิบัติเวลาเดินทางโดยสารเครื่องบิน 

หากมีเรื่องของการไม่ปฏิบัติตามกฏระเบียบที่กำหนดไว้กฏหมายมีการกำหนดบทลงโทษไว้ในพระราชบัญบัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 ซึ่งระวางโทษค่อนข้างรุนแรง นั่นเป็นเพราะว่า กฏหมายพิจารณาว่าการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความสงบเรียบร้อยเป็นการทำให้ผู้อื่นมีโอกาสมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้

เราลองมาดูมาตราต่าง ๆ ตามกฏหมายในพระราชบัญญัติฉบับนี้กันสักเล็กน้อยครับ

“การสูบบุหรี่ในห้องน้ําหรือที่อื่นใดที่มิใช่สถานที่ที่จัดไว้ให้สูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับตามพรบ.ฯสองหมื่นบาท”

ประเด็นเรื่องการสูบบุหรี่คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากก็น่าจะเข้าใจได้ว่าบุหรี่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นเขตอากาศยานหรือที่เรียกว่า Airside นั้นมีอันตรายหรือเกิดเพลิงลุกไหม้ได้ง่ายหากมีประกายไฟ

เนื่องจากบริเวณที่จอดเครื่องบินอาจมีการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่เครื่องบิน หรือมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นต่าง ๆอยู่ ของเหลวประเภทนี้อาจติดไฟได้เมื่อทิ้งก้นบุหรี่ลงไป ในบริเวณเหล่านี้จึงต้องห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

หรือ “การมีสิ่งที่มีประกาศห้ามมิให้นําขึ้นไปในอากาศยานไว้ในการครอบครอง ถ้าเป็นการกระทําเพื่อให้เกิดการขัดข้องแก่อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอากาศยาน 

ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

กรณีนี้จะเห็นว่า เพิ่มโทษที่รุนแรงขึ้นและมีโทษจำคุกด้วยเพราะถือเป็นคดีอาญาหากพิสูจน์ได้ว่าอุปกรณ์ที่นำขึ้นไปนั้นก่อให้เกิดอันตรายแก่เครื่องบินและผู้อื่นได้ กฏหมายถือเป็นการคุกคามด้านความปลอดภัยโดยรวมของเที่ยวบิน

เพราะฉะนั้น วัตถุต้องห้ามตามประกาศของสายการบิน ผู้โดยสารควรให้ความสนใจและไม่พกพาขึ้นเครื่องบินนะครับ

“ผู้อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบินผู้ใดทําให้เครื่องตรวจจับควันหรืออุปกรณ์อื่นใด ในอากาศยานที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอากาศยานไม่ทํางาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ“

ข้อนี้เป็นเรื่องของการจงใจที่จะทำให้อุปกรณ์ไม่ทำงาน อย่างเช่น การพยายามสูบบุหรี่ในห้องน้ำ โดยการทำลายเครื่องตรวจจับควันในห้องน้ำให้ไม่ทำงานเพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าแอบสูบบุหรี่อย่างนี้ เป็นต้น                        

     ส่วนเรื่องการทำอนาจารหรือการใช้วาจาลวนลามหรือกิริยาท่าทางอันเป็นลามก การทำให้ผู้อื่นรู้สึกอับอาย ก็มีบทบังคับเอาไว้เช่นกันครับ เพราะกฏหมายถือว่าเป็นการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลและทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยมีบทลงโทษถึงขั้นจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ 

ผู้อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบินผู้ใดทําร้ายร่างกายผู้อื่น ถ้าการกระทํานั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยาน ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ กรณีเป็นความชัดเจนในเรื่องของการทำให้เกิดความไม่สงบ บทลงโทษจึงมีความรุนแรง ทำไมความไม่สงบจึงเกิดปัญหาที่ต้องมีบทลงโทษรุนแรงด้วย เพราะการทำให้เกิดความโกลาหลเป็นเรื่องยากต่อการควบคุมโดยผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบินเพียงไม่กี่คน การก่อการที่ทำให้เกิดความวุ่นวายจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีความเสี่ยงที่เที่ยวบินจะต้องมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงแผนการเดินทางโดยไม่จำเป็น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบินนั้น ๆ ครับ

แต่ถ้าเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้ควบคุม อากาศยาน (นักบิน) หรือเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน ในที่นี้หมายถึง ลูกเรือบนเที่ยวบิน อันนี้กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เพราะเท่ากับเป็นการทำให้เที่ยวบินนั้นเกิดความเสี่ยงภัยขั้นรุนแรง เพราะเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานหรือผู้ควบคุมอากาศยาน อาจจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของเที่ยวบินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ กฏหมายจึงมีบทลงโทษรุนแรงขึ้นอีกและจำคุกไม่เกิน 7 ปี จริง ๆ มาตรานี้รวมถึงการข่มขู่หรือทำให้เกิดความหวาดกลัวไม่ว่าจะทําด้วยการใช้แรงทางกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด

อีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องที่กฏหมายตีความว่าเป็นเรื่องของการกระทำโดยการขาดความรับผิดชอบจึงมีบทลงโทษเอาไว้ตามนี้ครับ

“ผู้ใดแจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และการนั้นเป็นเหตุหรือ น่าจะเป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยานหรือผู้ที่อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบินตื่นตกใจ ผู้กระทํา ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าการกระทํานั้นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ” 

ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ได้จะต้องการทำให้ท่านผู้โดยสารรู้สึกกลังวล หรือคิดว่าเรื่องมากอะไรนะครับ

วัตถุประสงค์หลักจริง ๆ ของผมคือ อยากให้ผู้โดยสารได้รู้และเข้าใจบทบาทและหน้าที่ที่มีความสำคัญของแต่ละคน 

ผู้โดยสารทุกคนมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันอุบัติเหตุและปกป้องความเป็นระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาครับ

กฏหมายหรือข้อบังคับไม่จำเป็นต้องถูกใช้เลยถ้าเรารู้ เข้าใจ ที่มาที่ไปจริงไหมครับ

ขอให้ทุกคนเดินทางได้โดยสะดวกราบรื่นและมีความปลอดภัยครับ

Tags:

Comments are closed
0
0