co-pilot ในดวงใจ

นึกยังไงไม่รู้ ด้วยความที่ไม่ค่อยได้มีตารางขึ้นบินบ่อยนัก แต่ก็นึก ๆ ถึงการบินอยู่ตลอด ตอนที่ทำงานออฟฟิศ ก็ต้องอ่านรายงานเกี่ยวกับการบินและการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการอยู่บ่อย ๆ ก็เลยนึกอยากเขึยนเรื่อง “co-pilot ในดวงใจ” ขึ้นมา โดยวาดโครงเรื่องประมาณว่า นักบินผู้ช่วยแบบไหนนะ ที่เราหรือกัปตันจะอยากบินด้วย คนคนนั้นควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร
โดยส่วนตัวแล้วสำหรับผม ไม่ค่อยเรื่องมากนักว่า น้องที่มาบินด้วยจะต้องเป็นคนอย่างไร แต่จะว่าไปก็อยากได้แบบนี้เหมือนกันครับ

“ไม่ต้องรู้ใจ แต่ต้องรู้งาน”

ส่วนใหญ่นักบินใหม่ ๆ มักพยายามจะเอาใจกัปตัน จะพยายามทำหรือปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกอกถูกใจกัปตันเข้าไว้ เพราะคิดว่าจะทำให้ทำงานง่ายและราบรื่น แต่สำหรับผม ใครมาพยายามเอาใจมาก ๆ ผมกลับรำคาญ สิ่งที่ผมอยากได้จากนักบินคือ การรู้งานครับ การรู้งานมีความหมายมากกว่า การรู้ใจ 

การทำงานโดยที่อยู่บนพื้นฐานของ กฏ กติกา และมารยาท ผมว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญกว่า นักบินที่พยายามเอาใจกัปตันอย่างไร้เหตุผล สุดท้ายก็จะทำให้กัปตันเหลิงและกลายเป็นคนเอาแต่ใจ ลุแก่อำนาจหน้าที่ เวลาตัดสินใจอะไร ก็จะไม่ถามความสมัครใจหรือความเห็นเพื่อนร่วมงาน (แต่บางสถานะการณ์กัปตันก็ต้องตัดสินใจเลย รอถามไม่ได้เหมือนกัน อันนี้อธิบายยากอยู่เหมือนกันครับ) 

ทำอย่างไรล่ะที่จะเรียกว่า รู้งาน 

การรู้งาน คือ การมีความรู้เกี่ยวกับงานในหน้าที่ 

“ต้องไม่จับเสือมือเปล่า” 

ถ้าบินไปสนามบินที่ไม่เคยไป ต้องอ่าน chart ของสนามบินมาอย่างทะลุปรุโปร่ง ต้องทำการบ้านมาก่อน การอ่าน chart อย่างทะลุปรุโปร่งหมายความว่า มีพื้นฐานในการทำความเข้าใจวิธีการบิน มีการวิเคราะห์ทางหนีทีไล่ การเข้าใจโครงสร้างของการเข้าออกของสนามบิน (SID-STAR: Standard Instrument Departure-Standard Arrival Route) และมองเห็นข้อจำกัดในพื้นที่การบินของสนามบินนั้น อาทิเช่น ข้อจำกัดในการเข้า-ออก ของแต่ละทางขับ (taxi-way) การเข้าจอดเครื่องบิน การบินผ่านบริเวณที่มีภูเขาสูงที่มักจะมีข้อกำหนดด้านการใช้ความเร็วและความสูงที่ไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ 

การทำความเข้าใจ IAL (Instrument Approach and Landing) chart คือ การเริ่มต้นเป็นนักบินที่ดี

เพราะต้องวิเคราะห์เป็น และรู้จุดที่ต้องระมัดระวัง สังเกตเห็นความแตกต่างจาก normal หรือ standards procedure อย่างนี้เป็นต้น

0. ต้องหมั่นตรวจสอบ ข้อนี้เป็นคุณสมบัติที่ดีของการเป็นนักบิน หมั่นตรวจสอบ หมั่นสังเกต และคิดวิเคราะห์จากการสังเกตนั้น การทำเป็นประจำจะทำให้เราเห็นปัญหาได้เร็วและการคิดอ่านเป็นระบบมากขึ้น เพราะมีการฝึกวิเคราะห์และสังเกตในแต่ละวันที่ทำการบิน

0. ต้องรู้จักจังหวะที่เหมาะสม อันนี้เป็นศิลปะในทำงานเลย  การทำงานกันแค่สองคน แล้วอีกคนหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่า มีอาวุโสสูงกว่า มีประสบการณ์มากกว่า และในทางกลับกันก็ยากเหมือนกัน เช่น กัปตันอายุน้อยกว่า จังหวะที่เหมาะสม คือ ยังไง บอกยากจัง แต่ง่าย ๆ เลยคือ อย่าเกรงใจ เมื่อคิดว่าต้องเตือน หรือ ต้องทำอะไรแล้วยังไม่ได้ทำ จำไว้แค่ว่า การบินพาณิชย์บินกันสองคนขึ้นไป ไม่ใช่ให้ใครคนใด คนหนึ่งบิน

0. ต้องรู้จักรับ เมื่อทำพลาด การยอมรับความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า เราพร้อมที่จะก้าวต่อไป พัฒนาต่อขึ้นไปอีกขั้น เพื่อลดข้อผิดพลาดเหล่านั้น

0. ต้องรู้จักรับ (อันนี้อีกแบบหนึ่ง) หนึ่งในหน้าที่ของกัปตันคือ การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การบินให้กับนักบินผู้ช่วย เป็นประสบการณ์ทางความคิดอ่าน ซึ่งส่วนตัวแล้วผมมองว่า เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในการบินแต่ละวัน ตลอดเวลาตั้งแต่ผมเป็นนักบินใหม่ ๆ ผมจะคิดเสมอว่า กัปตันทุกคนที่ผมบินด้วย คือ ครู 

ครั้งหนึ่ง วันงานเลี้ยงเกษียณอายุราชการของนักบินที่การบินไทย ผมก็ไปสวัสดีอำลากัปตันท่านหนึ่งที่เคารพรัก ผมพูดว่า “ขอบคุณพี่ที่สอนผมนะครับ” พี่เค้าพูดกลับมาว่า “เฮ้ย อู พี่ไม่เคยเป็นครูนะ”

ผมตอบกลับไปว่า “กัปตันที่ผมบินด้วย เป็นครูของผมทุกคนครับพี่ โดยเฉพาะพี่ มักจะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดและแนะนำผมมาตลอด” ไม่ต้องบอกต่อว่าพี่เค้ามองหน้าผมด้วยความรู้สึกแบบไหนในวันสุดท้ายของการทำงานอาชีพนักบิน

สำหรับผมไม่ใช่ว่าต้องเป็นครูเสมอไปหรอกครับที่จะสอนเราได้ กัปตันหรือแม้กระทั่ง co-pilot ทุกคนที่บินกับเรา คือ ครูของเราทั้งนั้นครับ เพราะเค้าได้ร่วมสร้างประสบการณ์การบินให้กับเราไงครับ 

ลองคิดแบบนี้ดู แล้วจะรู้ว่า “แก้วน้ำของเราจะไม่มีวันเต็ม มันยังสามารถเติมได้อีก เติมได้อีก อย่างไม่มีข้อจำกัด”

co-pilot ในดวงใจของผมประมาณนี้ครับ

Comments are closed
0
0