Cabin Baggage

—————————–
มีคำถามที่อยากสอบถามค่ะ

คือ สงสัยเรื่อง การที่ผู้โดยสารขนกระเป่าแบบ Hand Carry ขึ้นเครื่อง
ทำไมเขาถึงมีกฏว่า ห้ามใหญ่เกินกว่า 20 นิ้ว และ หนักไม่เกิน 7 กก คะ ?

อย่าง ไม่เกิน 20 นิ้ว นี่ คิดว่าคงจะเป็นที่ช่องใส่สัมภาระมีเนื้อที่จำกัด

แต่น้ำหนัก 7 กก. นี่ เพราะเหตุใดคะ ?

และ … ถ้า ผดส. เขา “แอบ” เอากระเป๋า (อาจจะขนาดไม่เกิน 20 นิ้ว) แต่เกิน 7 กก. ขึ้นไป มันจะมีผลอะไรกับระบบการบินไหมคะ ?

ขอบคุณมากค่ะ

—————————————

กระเป๋าแบบ hand carry หรือ carry-on baggage ที่เราเอาขึ้นเครื่องบินติดตัวไปได้
สำหรับการบินไทยมีการกำหนดให้ได้หนึ่งชิ้น
ขนาดไม่เกิน 56x36x23 cm หรือ
Dimension (วัดสามด้านของกระเป๋ารวมกัน กว้าง+สูง+หนา) ไม่เกิน 115cm
ถ้าเป็นนิ้วก็ประมาณ 22x16x10 inches/45 inches

และน้ำหนักไม่เกิน 7 kg./15 lbs.

การที่ต้องกำหนด size ของกระเป๋านั้นก็เพื่อให้
กระเป๋านั้นสามารถเข้าช่องที่เก็บสัมภาระที่อยู่เหนือหัวเราได้
โดยไม่เบียดเบียนเนื้อที่เก็บสัมภาระของผู้โดยสารคนอื่น (แบ่ง ๆ กันครับ)
ช่องเก็บหนึ่งช่องจะได้ใส่ได้หลาย ๆ ใบ
โดยเฉพาะเมื่อมีผู้โดยสารจำนวนมากหรือเต็มลำ ช่องเก็บสัมภาระจะถูกใช้จนเต็มทั้งหมดทุกช่อง

และโดยกฏข้อบังคับการบินสากลเพื่อความปลอดภัยของเที่ยวบินจะไม่อนุญาตให้กระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารวางไว้เกะกะทั่วไปโดยไม่มีช่องเก็บหรือไม่มีที่ยึดเหนี่ยวให้อยู่กับที่
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการที่สัมภาระเกิดการเคลื่อนที่ไปมาหากเครื่องบินเข้าสภาพอากาศแปรปรวน
ซึ่งจะไปทำอันตรายให้กับผู้โดยสารท่านอื่น ๆ ได้ หรืออาจจะทำให้อุปกรณ์บนเครื่องบินได้รับความเสียหายเป็นอันตรายกับทุก ๆ คนบนเที่ยวบินได้
ดังนั้นเที่ยวบินที่มีผู้โดยสารเต็มลำ เจ้าหน้าที่จะเข็มงวดมากเรื่องการนำสัมภาระขึ้นเครื่อง เพราะที่เก็บจะมีจำกัดเนื่องจากจำนวนคนเยอะ

ส่วนเรื่องของน้ำหนัก 7 kg. หรือ 15 lbs. นั้น
ใช้เป็นค่าน้ำหนักเฉลี่ย เพื่อใช้ในการคำนวนน้ำหนักบรรทุกของเครื่องบิน เช่น จะคิดว่าแต่ละคนหนัก 78 kgs. สำหรับเที่ยวบินต่างประเทศ หรือ 75 kgs.สำหรับเที่ยวบินในประเทศ (โดยรวมน้ำหนักกระเป๋า 7 kgs. แล้ว)
ในอดีตมีการคิดแยก ผู้ชาย ผู้หญิง เพื่อให้มีความแม่นยำในการคำนวณน้ำหนักมากขึ้น แต่ปัจจุบัน คิดแยกเพียง ผู้ใหญ่ กับ เด็ก น้ำหนักต่างกัน
จะเห็นว่า บางครั้งมีคนนำกระเป๋าใบใหญ่มาก หรือหนักมากขึ้นเครื่อง
เจ้าหน้าที่ภาคพื้น ก็จะทำการกันไว้เพื่อให้กระเป๋านั้น ถูกนำไปไว้ที่ใต้ท้องเครื่อง
ซึ่งจะต้องถูกชั่งน้ำหนักที่แน่นอนอีกครั้ง เพราะน้ำหนักมากกว่าค่าเฉลี่ย

คำถามมีอยู่ว่า ถ้าหลาย ๆ คน นำขึ้นมาหนักมาก ๆ นำ้หนักจะรวมจะเกินหรือไม่
ถ้าหากผู้โดยสารมีจำนวนไม่มากนัก
ปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินอาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะตัวหารเฉลี่ยมีน้อย
หากผู้โดยสารมีจำนวนมากก็จะถัว ๆ กันไป
แต่อย่างไรก็ตาม ระบบของเครื่องบินจะมีการคำนวณน้ำหนักบรรทุกที่สามารถจะประเมินน้ำหนักระวางบรรทุกให้อยู่ในค่าที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เพื่อใช้ในการคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันระหว่างบิน อันนี้จะมีเจ้าหน้าที่เฉพาะในการพิจารณาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญกว่ากรณีแรกในเรื่องของการจำกัดน้ำหนัก 7 kgs. ก็คือ

ความสามารถในการรับน้ำหนักของช่องเก็บสัมภาระที่อยู่เหนือหัวเราเมื่อใส่ของรวม ๆ กัน

แม้ว่ากระเป๋าจะใส่ในช่องเก็บได้แต่เป็นของที่มีน้ำหนักมากกว่าปกติมาก ๆ
ก็จะเกิดอันตรายได้โดยเฉพาะเมื่อเครื่องบินบินเข้าบริเวณที่มีสภาพอากาศแปรปรวน
เครื่องบินเกิดการสั่นสะเทือนรุนแรง
เหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้ช่องเก็บสัมภาระต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นกว่าน.น.จริงของสิ่งของอีกหลายเท่าตัว

น้ำหนัก 7 kgs. อาจกลายเป็นน้ำหนักกดลงบนเครื่องถึง 20 kgs ในสภาพอากาศแปรปรวน

เราจะเห็นว่า บ่อยครั้งที่เราเห็นเครื่องบินเข้าสภาพอากาศแล้วมีผู้บาดเจ็บ
ข้าวของกระจัดกระจาย
เพราะการเขย่านั้นรุนแรงจนช่องเก็บสัมภาระยึดปิดไว้ไม่อยู่
ยิ่งถ้าเราใส่ของหนักเกินไป ไม่ต้องเขย่าแรง ช่องเก็บก็อาจจะเปิดแล้วของก็จะหล่นลงมาใส่หัวคนที่นั่งอยู่ด้านล่างจนเกิดอันตรายได้

หลาย ๆ สายการบินจะเข้มงวดมากเรื่องน้ำหนักของสัมภาระต่อใบ
แต่อาจจะไม่เข็มงวดที่เราหอบของพะรุงพะรังหลาย ๆ ชิ้น
เห็นบ่อย ๆ เวลาบินกลับจากญี่ปุ่น ผู้โดยสารคนไทยซื้อขนมที่สนามบินกันเยอะมาก หิ้วสัมภาระกันหลาย ๆ ชิ้น เจ้าหน้าที่ก็อาจจะปล่อย ๆ บ้าง อะลุ้มอะหล่วยกัน แต่เวลาเที่ยวบินที่คนเยอะ ๆ เค้าก็จะเข็มงวด อย่าไปว่าเค้านะครับ

ดังนั้น

กระเป๋าใบใหญ่ ๆ หนัก ๆ ไม่ควรน้ำขึ้นเครื่อง

เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองนั่นแหละครับ

ช่องยูทูปกัปตันโสภณ

หนังสือนักบิน
สอบสัมภาษณ์ สมัครสอบนักบิน
https://youtu.be/V1ov2HwIEpE

Tags:

Comments are closed
0
0