เครื่องบินชื่อ บางกอก หางกระแทกพื้น

6 Oct 2022 ไม่ใช่เครื่องบินของบางกอกแอร์เวยส์ แต่เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 787 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์

โบอิ้ง 787-9 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ (Ethiopian Airlines) ทะเบียน ET-AYC เครื่องบินลำนี้มีชื่อเล่นว่า “Bangkok” หรือ บางกอก เที่ยวบิน ET877 เดินทางจากเมือง Lilongwi ประเทศมาลาวี (Malawi) ไปเมือง Lubumbashi ประเทศคองโก ส่วนหางกระแทกถูไปกับพื้นอย่างแรงขณะลงสนาม

วันที่เกิดเหตุไม่มีข้อมูลการรายงานสภาพอากาศอย่างเป็นทางการ (METAR) แต่จากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ถือว่าสภาพอากาศมีทัศนวิสัยดีและมีความเร็วลมไม่มากนักที่ 12 knots ไม่มีลมกระโชก (gust) ไม่มีฝนตก

เครื่องบินลงทางด้านรันเวย์ 07 โดยมีลมเข้าทางทางทิศตะวันออก (ด้านขวาของเครื่องบิน) เมื่อพิจารณาจากสภาพอากาศแล้วถือว่าไม่น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

tail strike มีโอกาสเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง A Pilot Club ให้ความเห็นตามนี้ครับ

ในขณะลงสนามหรือ landing การเกิดหางสัมผัสพื้นหรือกระแทกพื้นนั้นเกิดจาก มุมปะทะของเครื่องบินนั้นมากเกินกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วหากล้อของเครื่องบินสัมผัสพื้นอยู่ มุมเงยของเครื่องบินที่เรียกว่า pitch attitude นั้นจะต้องเกินกว่า 12-13 องศา (แล้วแต่แบบเครื่องบิน) บริเวณหางของเครื่องบินจึงจะลงโดนพื้น (maximum pitch attitude on ground)

แต่ถ้าหากเครื่องบินยังลอยอยู่ในอากาศ การที่หางจะสัมผัสพื้นโดยที่ล้อยังไม่แตะพื้นก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ (ยากกว่า) แต่ก็เกิดขึ้นได้เมื่อเครื่องบินหมดความเร็ว (ไม่เกาะอากาศ) และหากพยายามเปิดมุมปะทะมากขึ้นโดยไม่เติมกำลังของเครื่องยนต์เข้าไปก็จะทำให้เครื่องบินร่วงลงสู่พื้นโดยที่หางแตะพื้นก่อนส่วนอื่น ซึ่งท่าทางในลักษณะนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • high (altitude) flare to land การเงยหัวเครื่องบินในขณะที่เครื่องบินยังไม่อยู่ในระยะสูงที่เหมาะสม คือ อยู่สูงเกินไปแล้วรีบเงยเพราะกลัวชนพื้น อาจเกิดจาก ความเร็วเครื่องบินสูง การกะระยะไม่ถูกต้องทำให้รู้สึกเครื่องบินอยู่ใกล้พื้น หรือ นักบินมือใหม่ ขาดประสบการณ์
  • bounced landing ไม่ว่าจะเป็น high bounce หรือ shallow bounce ก็มีโอกาสทำให้หางโดนพื้นได้หากนักบินทำการแก้ไขไม่ทันเวลา เมื่อเครื่องบินเสียการควบคุมจนกระทั่งมุมเงยของเครื่องบินสูงเกินไปหางก็จะสัมผัสพื้น
  • excessive aircraft rotation rate การเงยเครื่องบินมากเกินไป อันนี้จะคล้ายๆกับ high flare แต่เป็นการเงยเครื่องบินไปเรื่อยจนกระทั่งมุมเงยเกินลิมิตและหางเขี่ย
  • การตัดสินใจที่ผิดพลาดในการบังคับเครื่องบินให้เปลี่ยนท่าทาง attempt a go-around at very low altitude with improper attitude and aircraft power/thrust

ในทางกลับกันหางเป็นการวิ่งขึ้นจากสนามบิน
tailstrike takeoff จะเกิดจากการที่เปิดมุมปะทะมากโดยที่เครื่องบินยังไม่เกาะอากาศ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการที่นักบินใส่แรงในการบังคับเครื่องบินให้เงยขึ้นมากและเร็วเกินไป หรือ การคำนวณความเร็วในการลอยขึ้นสู่อากาศ (rotation speed หรือ Vr) ผิดพลาดไม่สัมพันธ์กับน้ำหนักที่แท้จริงของเครื่องบิน กรณีนี้นักบินอาจจะพยายามที่จะเงยเครื่องบินขึ้นหากเงยไปเรื่อยๆเครื่องบินก็ยังไม่ลอยจากพื้นจนกระทั่งหางของเครื่องบินแตะกับพื้นรันเวย์ได้

การเงยที่ความเร็วสูงกว่า rotation speed หรือ Vr ก็สามารถทำให้เกิดหางเขี่ยพื้นได้เช่นกัน เพราะเครื่องบินพร้อมที่จะทะยานขึ้นสู่อากาศแล้วเมื่อโยกคันบังคับเพียงนิดเดียวเครื่องบินก็ทะยานขึ้น หัวเครื่องบินจะเชิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่ระมัดระวังก็มีโอกาสทำให้มุมเงยนั้นเกินลิมิตของเครื่องบินได้ (maximum pitch attitude on ground)

หนังสือนักบินมีทั้งหมด 5 เล่ม

สั่งซื้อหนังสือผ่าน shopee https://shopee.co.th/apilotbook

https://youtu.be/hHQwYTxaN_A

ติดตาม A Pilot Club ได้ทาง
ยูทูปช่อง Captain Sopon https://www.youtube.com/c/SoponPhikanesuan
เฟสบุ๊ค https://wwwfacebook.com/apilotbook
เว็บไซต์ http://www.apilotclub.com/
เป็นเพื่อนกับเราทางไลน์ออฟฟิศเชียล https://lin.ee/BQyGDbK
ซื้อหนังสือ A Pilot Book ได้ที่ https://shopee.co.th/apilotbook

Comments are closed
0
0