Tail Strike
หมายถึง การที่หางเครื่องบินครูดไปกับพื้น การเกิด tail strike นั้นสามารถเกิดได้ทั้งช่วงที่ทำการ takeoff หรือ landing โดยสาเหตุการเกิดนั้นคือ การที่เครื่องบินมีมุมเชิดหัวขึ้น (มุมเงย) สูงเกินไปจนทำให้ส่วนท้ายของเครื่องบินแตะกับพื้นรันเวย์ ส่วนคำว่า tail skid ก็ประมาณว่า หางไถพื้นรันเวย์ ประมาณว่าไม่ถึงกับกระแทกแต่ถูหรือลื่นไถลไปกับพื้น
บริเวณส่วนท้ายของเครื่องบินบางแบบ เช่น B737 จึงมี tail skid indicator เพื่อใช้เป็นตัวบ่งบอกว่าส่วนท้ายของเครื่องบินนั้น ครูดไปกลับพื้นรันเวย์หรือไม่ มากหรือน้อย กระแทกแรงมากหรือเปล่า โดยดูจาก indicator นี้นั่นเอง ถ้าตัว tail skid indicator นั้นยุบเข้าไปมาก เกินลิมิตนั่นหมายความว่า จะต้องทำการตรวจเช็คโครงสร้างส่วนท้ายเครื่องบินอย่างละเอียด เพราะโครงสร้างอาจได้รับผลกระทบจากการที่หางของเครื่องบินกระแทกหรือถูไปกับพื้น
Takeoff
หมายถึง ช่วงเวลาที่เครื่องบินเริ่มเร่งเครื่องยนต์เต็มกำลัง (ที่คำนวณไว้) เพื่อที่จะลอยสู่อากาศ
Tango
เป็นการออกเสียงเพื่อติดต่อวิทยุ ตามมาตรฐาน International Radiotelephony Spelling Alphabet ซึ่งหมายถึง ตัวอักษร T (ดูคำว่า Alfa)
Tarmac
มีความหมายเดียวกับคำว่า apron และ ramp (ดูคำว่า Apron)
Taxi
หมายถึง การเคลื่อนตัวของเครื่องบินโดยใช้กำลังของเครื่องยนต์ในระหว่างอยู่ที่พื้น Taxi-in หมายถึง การพาเครื่องบินหลังจาก vacate runway เพื่อไปสู่ที่หลุมจอด Taxi-outหมายถึง การที่เครื่องบินเริ่มเคลื่อนตัวเพื่อที่จะไปเตรียมตัววิ่งขึ้นจากสนามบิน
Taxiway
หมายถึง เส้นทางเพื่อให้เครื่องบินเคลื่อนที่ภายในสนามบิน
TCAS
Traffic Collision Avoidance System เป็นระบบเตือนเพื่อป้องกันการบินชนกันของเครื่องบิน โดยที่เครื่องบินทั้งสองลำนั้นจะต้องติดตั้ง transponder และระบบ TCAS
ระบบ TCAS นั้นมีการแจ้งเตือนอยู่ 3 แบบหลัก ๆ คือ
Proximity Traffic เป็นการบอกตำแหน่งของเครื่องบินลำอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ เครื่องบินของเรา
Traffic Advisory (TCAS TA) คือ การแจ้งเตือนด้วยเสียงและสัญลักษณ์ภาพเพื่อบอกเตือนว่าเครื่องบินมีโอกาสเข้าใกล้กันมากเกินไป
Resolution Advisory (TCAS RA) เป็นการแจ้งด้วยสัญลักษณ์และบอกเตือนด้วยเสียงเพื่อให้นักบินบังคับเครื่องบินให้ออกจากโอกาสที่เครื่องบินจะชนกัน RA นั้นจะบอกให้บังคับเครื่องบินด้านความสูงโดยจะพูดบอกให้ ไต่หรือร่อน เพื่อหลบหลีกไม่ให้เกิดการชนกันกลางอากาศ นอกจากเสียงเตือนแล้ว ยังมีสัญลักษณ์เตือนขึ้นในหน้าจอบังคับเครื่องบินให้นักบินทำการบินตาม SOP (ดูคำว่า ACAS)
ภาพจาก EuroControl
Techlog
ย่อมาจาก Technical Logbook ซึ่งชื่อเติม ๆ คือ Aircraft Technical Logbook ซึ่งหมายถึงสมุดปูมเดินทางที่บอกประวัติการเดินทางและการซ่อมบำรุงของเครื่องบิน
Techlog สำหรับเครื่องบินพาณิชย์นั้นแบ่งออกเป็น 2 เล่ม คือ flight deck log กับ cabin log สำหรับเครื่องบินลำเล็ก ๆ อาจจะใช้แค่เล่มเดียวเรียกรวม ๆ ไปว่า aircraft logbook
flight deck log ชื่อก็บ่งบอกว่าเป็นส่วนบังคับเครื่องบินหรือห้องนักบิน แต่สมุดปูมเล่มนี้จะใช้บันทึกข้อมูลระบบต่างๆของเครื่องบินทั้งลำ ทั้งภายนอกและภายในเครื่องบิน ตั้งแต่การเปลี่ยนยาง เติมลมยาง เติมน้ำมันเครื่อง น้ำมันไฮดรอลิก เปลี่ยนหลอดไฟ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนถ่านไฟฉาย เพื่อที่ข้อมูลทุกชนิดจะถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานในการซ่อมบำรุง
ส่วน cabin log นั้น เป็นสุมดบันทึกส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการบริการภายในห้องโดยสารทั้งหมด เช่น ระบบอุ่นอาหาร เครื่องชงกาแฟ ช่องเก็บสัมภาระ ระบบสารสนเทศด้านความบันเทิงแก่ผู้โดยสาร เป็นต้น ยกเว้น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการดำเนินงานและมีผลให้เกิดข้อจำกัดในด้านความปลอดภัย ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์สำหรับกรณีฉุกเฉินทุกชนิด ตั้งแต่ ประตู ถังดับเพลิง ถังออกซิเจน เครื่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประจำเครื่อง เป็นต้น อุปกรณ์เหล่านี้ต้องบันทึกข้อบกพร่องใน flight deck log เพื่อให้นักบินรับทราบข้อมูล เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดข้อจำกัดด้านความปลอดภัยในการให้บริการแก่ผู้โดยสารในระหว่างเที่ยวบินและเที่ยวบินขากลับ เป็นต้น
ดังนั้น สมุดปูมเดินทางจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการถ่ายทอดประวัติความเป็นมาของตัวเครื่องบินลำนั้น และเป็นหลักฐานที่ต้องมีการทำสำเนาเก็บไว้ที่ศูนย์ข้อมูลการซ่อมบำรุง เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุ (accident) อุบัติการณ์ (incident) ต่างๆอีกด้วย
Transponder
หมายถึง ตัวรับและส่งสัญญาณเพื่อบอกตำแหน่งหรือบอกความสูงของเครื่องบินไปพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของ transponder ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบิน โดยสัญญาณที่ส่งไปนั้นจะบอก aircraft identification ของเครื่องบินออกไปด้วย สัญญาณจะถูกประมวลผลด้วยเรดาร์รับสัญญาณที่ภาคพื้นของหอบังคับการบิน ทำให้รู้ตำแหน่งและความสูงของเครื่องบินแต่ละลำ หรือระหว่างเครื่องบินแต่ละลำก็จะมองเห็นเครื่องบินอีกลำที่บินอยู่ใกล้กันได้ด้วย การจะเห็นกันได้ใกล้ไกลขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าติดตั้งระบบไว้แบบไหน (ดูคำว่า TCAS)
THAIPA
THAI Pilots Association สมาคมนักบินไทย เป็นสมาคมที่มีสมาชิกเป็นนักบินชาวไทยที่บินอยู่ทั้งในสายการบินและการบินประเภทอื่น ๆ THAIPA เป็นสมาชิกของ IFALPA (ดูคำว่า IFALPA)
Throttle
หมายถึง อุปกรณ์ในห้องนักบินที่ใช้สำหรับบังคับอัตรากำลังของเครื่องยนต์ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง
- เครื่องยนต์ใหม่ของเครื่องบิน บี-52
- คนขนกระเป๋าล่าฝันการเป็นนักบินจนสำเร็จ
- วิศวกรโบอิ้ง ทำลายสถิติโลก เครื่องบินกระดาษ
- ฟ้าผ่า เครื่องบินเป็นรูขนาดใหญ่
- ปริศนาการหายไปของเครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH370
Threat
หมายถึง ภัยคุกคามต่อการบินหรือเที่ยวบิน
TMA
Terminal Maneuvering Area หมายถึง บริเวนบนอากาศ (ห้วงอากาศ) ที่มีการควบคุมการจราจรทางอากาศโดยหอบังคับการบินทั้งด้านทิศทางและความสูงของเครื่องบิน IATA เขียนอธิบายคำว่า TMA ไว้ประมาณนี้
A designated area of controlled airspace surrounding a major airport where there is a high volume of traffic
Towing
หมายถึง การลากจูงเครื่องบินไปข้างหน้า
Tow bar
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับต่อระหว่างรถดันเครื่องบินกับส่วนล้อหัวของเครื่องบิน เพื่อที่จะใช้สำหรับการลากจูงหรือดันเครื่องบินให้เคลื่อนที่
Track
หมายถึง เส้นทางหรือแนวการเคลื่อนที่ไปของเครื่องบิน ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นทิศทางเดียวกับเข็มทิศเครื่องบิน เช่น เครื่องบินอาจจะบินไปด้วยเข็มทิศหนึ่งแต่หากมีกระแสลมขวางกำลังแรง เส้นทางที่เครื่องบินลอยไปนั้นจะไม่ตรงกันกับเข็มทิศ
Turbulence
ถ้าแปลเป็นไทย ก็ประมาณว่า “ความวุ่นวาย อลหม่าน โกลาหล ปั่นป่วน” สิ่งที่ตามมาก็คือการสั่นสะเทือนของเครื่องบิน
Turbulence มีการแบ่งระดับความรุนแรงของการสั่นสะเทือนออกเป็น 4 ระดับ คือ
Light Turbulence ผู้โดยสารจะรู้สึกเขย่าเล็กน้อย ไม่ได้ทำให้รู้สึกอึดอัดมากนัก แค่รู้สึกว่าไม่ราบเรียบ การให้บริการผู้โดยสารยังสามารถทำได้ (ถ้ามั่นใจว่าไม่แรงไปกว่านี้)
Moderate Turbulence เริ่มมีความรู้สึกไม่สบายในการนั่ง อาจมีการเหวี่ยงแล้วรู้สึกว่าสายรัดเข็มขัดต้องดึงตัวเราติดกับเก้าอี้ไว้ แก้วน้ำเลื่อนเปลี่ยนที่
Severe Turbulence ผู้โดยสารน่าจะรู้สึกอึดอัดเนื่องจากมีการเหวี่ยงมาก อาจมีตัวลอย ถ้าไม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัย (หลายคนคงจับเก้าอื้แน่น) น้ำกระฉอกแล้วหกออกจากแก้ว สิ่งของที่ไม่ได้รัดหรือยึดไว้ให้แน่นจะเคลื่อนย้าย
Extreme Turbulence อันนี้แรงสุด ๆ นักบินจะไม่สามารถบังคับเครื่องบินได้ เหมือนโดนจับเขย่า สิ่งของในห้องโดยสารก็คงไม่ต้องพูดถึงคงกระจัดกระจายไปทั่ว และถ้าเครื่องบินต้องอยู่ในสภาพของ extreme turbulence นาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดการเสียหายของโครงสร้างเครื่องบิน (structural damage) เรียกง่าย ๆ ว่า เครื่องบินแตกหรือหักหรือเสียการควบคุมจนทำ ให้เกิดอุบัติเหตุได้
Typhoon
ไต้ฝุ่น เป็นชื่อเรียก พายุระดับรุนแรง ใช้เรียกเฉพาะพายุที่เกิดอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเฉียงเหนือ (ดูคำว่า Hurricane)
- เครื่องยนต์ใหม่ของเครื่องบิน บี-52
- คนขนกระเป๋าล่าฝันการเป็นนักบินจนสำเร็จ
- วิศวกรโบอิ้ง ทำลายสถิติโลก เครื่องบินกระดาษ
- ฟ้าผ่า เครื่องบินเป็นรูขนาดใหญ่
- ปริศนาการหายไปของเครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH370