Aviation A-Z ศัพท์การบิน L Lima

Landing 

หมายถึง การที่เครื่องบินลดระดับเข้าลงแตะพื้นสนามบิน

Landing Gear 

หมายถึง ระบบฐานล้อของเครื่องบิน main landing gear ก็คือ ระบบฐานล้อที่อยู่บริเวณใต้ปีก ถ้าเครื่องบินบางแบบมีฐานล้ออยู่ที่ลำตัว อย่าง B747  A380 A340 ก็จะเรียกฐานล้อนี้ว่า body gear ส่วนฐานล้อที่อยู่บริเวณหัวเครื่องบินเรียกว่า nose landing gear บางทีก็พูดกันย่อ ๆ ว่า nose gear, main gear

ส่วนล้อเครื่องบินนั้น เรียกว่า wheel ล้อแต่ละล้อที่บริเวณใต้ปีก (main gear และ body gear) จะมีการกำกับเลขเพื่อใช้ระบุให้เข้าใจตรงกันว่า ล้อไหนเป็นล้อไหน เพื่อที่เวลานักบินลงบันทึกเพื่อระบุข้อขัดข้องหรือปัญหาลงใน aircraft technical logbook ช่างจะได้รู้ว่าจะไปจัดการปัญหาที่ล้อไหน เป็นต้น

LEP

ย่อมาจากคำว่า List of Effective Pages ซึ่งเป็นหน้าเอกสารที่แสดงรายละเอียดของข้อมูลหน้าเอกสารปัจจุบันที่อยู่ในคู่มือเล่มนั้น ๆ IATA อธิบายคำว่า LEP ไว้ประมาณนี้ครับ

Detailed list of manual pages and their current revision status 

Life Status

หมายถึง สถานะอายุการใช้งานของอุปกรณ์ที่มีข้อกำหนดในการซ่อมบำรุงตามระยะที่กำหนด (อ่านคำว่า Life-limited Part) IATA อธิบายคำว่า Life Status ไว้ประมาณนี้ครับ

The accumulated cycles, hours, or any other mandatory replacement limit of a life-limited part 

Life-limited Part (LLP) 

คือ ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ใด ๆ ในเครื่องบินที่มีการกำหนดอายุใช้งานและต้องทำการเปลี่ยนใหม่ตามกำหนดเท่านั้น IATA อธิบายคำว่า Life-limited Part ไว้ประมาณนี้ครับ

Any part for which a mandatory replacement limit is specified in the type design, the Instructions for Continued Airworthiness, or the maintenance manual 

Life Vest/Life Jacket

เสื้อชูชีพ ภาษาอังกฤษคือ life vest หรือ บางทีเรียกว่า life jacket เป็นอุปกรณ์ที่เป็นการช่วยพยุงตัวในน้ำ (bouyancy หรือ flotation aid) เวลาขึ้นเครื่องบินในเที่ยวบินที่จะบินห่างออกจากฝั่งมากกว่า 50 ไมล์ทะเล พนักงานต้อนรับจะต้องทำการสาธิตอุปกรณ์ช่วยพยุงตัวในน้ำที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบินลำนั้น ซึ่งโดยปกติก็มักจะเป็น life vast นั่นเอง แต่ก็มีเครื่องบินบางแบบที่ออกแบบให้ใช้เบาะที่นั่งเป็นอุปกรณ์ช่วงพยุงตัว (ดูคำว่า Buoyancy)

Liftoff 

หมายถึง จังหวะที่เครื่องบินเกาะอากาศและกำลังยกตัวหรือลอยตัวขึ้นจากพื้นดินในช่วงของการวิ่งขึ้น (takeoff) จากรันเวย์

Lima 

เป็นการออกเสียงเพื่อติดต่อวิทยุ ตามมาตรฐาน International Radiotelephony Spelling Alphabet ซึ่งหมายถึง ตัวอักษร L (ดูคำว่า Alfa)

Loadsheet

คำว่า loadsheet นั้นหมายถึง เอกสารที่ทำการคำนวณเกี่ยวกับน้ำหนักการวิ่งขึ้นของเครื่องบินในแต่ละเที่ยวบินที่จะต้องคำนวณตั้งแต่จำนวนผู้โดยสาร น้ำหนักกระเป๋าทั้งหมด ส่ิงของต่าง ๆ ที่นำขึ้นเครื่องบินเพื่อเตรียมให้บริการบนเที่ยวบิน น้ำหนักของน้ำ เพื่อรวมเข้ากับน้ำหนักของเครื่องบิน (ตัวเปล่า) และบวกกับน้ำหนักของน้ำมันที่เติมเข้าไปในเครื่องบิน เพื่อที่จะทำการเช็คว่าทุกอย่างนั้นอยู่ในเกณฑ์ปกติที่เครื่องบินสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย 

เมื่อพูดถึงคำว่า loadsheet นั้นมักจะรวมไปถึง balance sheet ด้วย ตัว balance sheet นั้นเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของ loadsheet ซึ่งเป็นการคำนวณค่าน้ำหนักถ่วงดุลของเครื่องบินที่เราเรียกว่า CG (Center of Gravity) นั่นแหละครับ การคำนวณ CG ของเครื่องบินก็จะอยู่ที่นำ้หนักของแต่ละส่วนทั้งก่อนและหลังการเติมน้ำมัน สรุปคือเป็นเรื่องของการกระจายน้ำหนักตลอดลำตัวของเครื่องบินให้มีความสมดุลและปลอดภัย

สั่งซื้อ Aviation A-Z ทาง shopee

Local Time

หมายถึง เวลาท้องถิ่น (ของแต่ละประเทศ) (ดูคำว่า GMT)

Low Vis Approach

การลงสนามกรณี low visibility approach ซึ่งหมายถึงทัศนวิสัยที่สนามบินต่ำกว่า 550 เมตร หรือ ceiling (vertical visibility) ซึ่งส่วนใหญ่จะดูจากความสูงของฐานเมฆ (lowest cloud base) ต่ำกว่า 200 ฟุต

ก่อนที่นักบินจะสามารถทำการลงสนามด้วยทัศนวิสัยต่ำได้ต้องผ่าน training requirements หลายประการ รวมทั้งเครื่องบินและสนามบินเองด้วยที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์สำคัญต่าง ๆ ตาม requirement จึงจะสามารถให้เครื่องบินทำการลงสนามได้ เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

-สนามบินต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่มีตัวส่งสัญญาณที่มีความถี่เฉพาะที่กำหนด เรียกว่า ILS CAT II หรือ CAT III (Instrument Landing System-Category 2, 3) 

โดยจะต้องมีระบบไฟสำรองสำหรับอุปกรณ์ส่งสัญญาณนั้นและรองรับข้อกำหนดที่มากกว่าปกติจึงจะสามารถให้เครื่องบินลงสนามได้มากกว่า ILS CAT I ธรรมดา 

สำหรับการลงสนาม 

-ILS CAT II (อ่านว่า cat-two) เครื่องบินสามารถลงสนามได้ด้วยทัศนวิสัยเพียง 300 เมตร

-ILS CAT IIIA เครื่องบินสามารถลงสนามได้ด้วยทัศนวิสัยเพียง 200 เมตร

-ILS CAT IIIB เครื่องบินสามารถลงสนามได้ด้วยทัศนวิสัยเพียง 200 เมตรลงไปถึง 50 เมตร

-ILS CAT IIIC เครื่องบินสามารถลงสนามได้ด้วยทัศนวิสัยเป็นศูนย์ เลข 0 ครับ เขียนไม่ผิด ด้วย ILS CAT IIIC นั้นนักบินไม่ต้องมองเห็นข้างนอกเลย ให้เครื่องบินพาลงไปจนถึงพื้นได้เลย

-ระบบไฟของรันเวย์และแท็กซี่เวย์ที่จะต้องเพิ่มความถี่ระหว่างไฟแต่ละดวงให้มากขึ้น คือ ลดระยะห่างของไฟแต่ละดวงให้น้อยลงทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการมองเห็นไฟนำทางได้มากขึ้น เพราะมีทัศนวิสัยน้อย และดวงไฟแต่ละประเภทจะจำแนกด้วยสี เช่น 

ไฟสีขาวเป็นขอบของ runway และ runway centerline 

ไฟสีน้ำเงินเป็นขอบของ taxiway 

ไฟสีเขียวหมายถึง centerline ของ taxiway 

ไฟสีแดงสลับขาวที่อยู่กลาง runway (runway centerline) หมายถึงเหลือระยะทางอีก เพียง 900 เมตรจะสุดทางวิ่งแล้ว 

ถ้าเป็นแดงไปตลอดแสดงว่าเหลือแค่ 600 เมตร 

รวมถึงขอบรันเวย์ด้วยที่จะมีสีแดงบอกว่าเหลือระยะทางจำกัดแล้วต้องรีบหยุดเครื่องบินให้ทัน อีกส่วนหนึ่งคือ สนามบินต้องมีระบบวัดค่าทัศนวิสัยแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่บอกค่าทัศนวิสัยแบบละเอียด ซึ่งเรียกว่า transmissometer 

เครื่อง transmissometer นี้จะทำการวัดค่าทัศนวิสัยออกมาเป็น RVR (Runway Visual Range) อันนี้เป็นเรื่องของระบบที่ตัวสนามบิน 

ถึงแม้ทุกสนามบินจะมีอุปกรณ์ทุกอย่างตามที่ว่ามาคร่าว ๆ นี้อยู่แล้ว แต่ระบบรองรับได้ระดับการลงสนามได้ระดับไหน ได้ถึง CAT IIIC หรือไม่นั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากครับ

ในส่วนของหอบังคับการบินเองก็ต้องมีการฝึกด้วยเช่นกันครับ เพราะต้องเป็นผู้ตรวจสอบระบบต่าง ๆ ของสนามบินและเรดาร์ต่าง ๆ รวมทั้งการให้คำสั่งหรือคำแนะนำเรื่องเส้นทางบินและระยะห่างทางการบินเพื่อควบคุมไม่ให้เครื่องบินลำอื่นบดบังสัญญาณภาคพื้นของเครื่องลำที่กำลังจะลงสนาม ไม่ให้ clearance ให้เครื่องบินไปอยู่ใน protected area และต้อง vector เครื่องบินให้มีระยะห่างมากเพียงพอบนอากาศ บางทีต้องให้ลงได้ทีละลำ ถ้าเป็นการลงด้วยทัศนวิสัยต่ำมากๆ แบบ CAT IIIB 

เมื่อสนามบินมีทัศนวิสัยต่ำกว่าที่กำหนด หอบังคับการบินจะประกาศว่าเป็น การลงหรือขึ้นจากสนามบินในสภาพทัศนวิสัยที่ถูกจำกัด (Low Visibility Procedure-LVP in forced)

ตัวเครื่องบินก็ต้อง certified for low visibility approach ซึ่งส่วนใหญ่ 100% ถูกติดตั้งมาแล้วจากโรงงาน แต่สายการบินต้องมายื่นเรื่องเพื่อขออนุมัติจากการบินพลเรือนของประเทศที่จดทะเบียน และตัวนักบินเองก็ต้องทำการฝึกอย่างเข้ม-ข้นเกี่ยวกับการลงสนามในทัศนวิสัยต่ำ เพื่อให้คุ้นเคยกับภาพของรันเวย์ที่มองเห็นรวมถึงการฝึกเพื่อแก้ไขหากการร่อนลงสนามไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ เช่น อุปกรณ์หรือสัญญาณต่าง ๆ มีความผิดพลาด นักบินต้องรู้ว่ามันทำงานผิดพลาดและรีบแก้ไข

การแก้ไขกรณีเป็นการลงสนามด้วยทัศนวิสัยต่ำ โดยเฉพาะ CAT III นั้น ส่วนใหญ่คือ การ go-around บินขึ้นไปก่อน จะมีน้อยกรณีมากที่สามารถดำเนินการลงสนามต่อไปได้ปกติ

รายละเอียดพวกนี้นักบินต้องเข้าใจเป็นอย่างดี และผมคงเอามาเขียนอธิบายในนี้ได้ไม่หมดครับ

โดยสรุปคือตัวนักบินเองที่จะต้อง qualified สำหรับการลงสนามด้วยทัศนวิสัยต่ำกว่า 550 เมตรด้วย นักบินทุกคนทำได้ แต่ ต้องมีการฝึกก่อนและต้องฝึกประจำทุก ๆ การเข้าเครื่องฝึกบินจำลอง แม้ว่าจะเคยมีประสบการณ์มาก่อนก็ต้องฝึกใหม่ โดยเฉพาะเมื่อย้ายแบบเครื่องบินหรือเปลี่ยนสายการบิน 

ซึ่งบางครั้งบางประเทศจะมีข้อกำหนดว่าจะให้ฝึกได้เมื่อบินและคุ้นเคยกับเครื่องบินไปแล้วกี่ชั่วโมง (มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ซับ-ซ้อนครับ)

หากเที่ยวบินไหนไปลงสนามที่อากาศไม่ดีมีหมอกหนา ๆ แต่นักบินยังไม่ได้ฝึกการลงสนามที่ทัศนวิสัยต่ำ (ต้องทั้งสองคน คือ ทั้งกัปตันและโคไพลอต) 

ก็จะทำการบินลงสนามนั้นไม่ได้ จะต้องทำการบินวนรอ เพื่อพิจารณาว่า ทัศนวิสัยจะดีขึ้นหรือไม่ 

หากทัศนวิสัยไม่ดีขึ้นก็ต้องบินไปลงสนามบินสำรองแทน หากฝืนทำการบินลงไป เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติอาจจะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดได้ 

เช่น หากลงสนามโดยมองไม่เห็นรันเวย์ ไม่เห็น centerline เครื่องบินอาจจะลงไม่ตรงสนามโดยไม่รู้ตัว หรือลงสนามแล้วก็วิ่งออกนอกทางวิ่งไปเพราะไม่ได้ฝึกบังคับเครื่องบินที่ทัศนวิสัยน้อยๆ มาก่อน เมื่อเป็นแบบนี้ก็จะเป็นอันตรายกับผู้โดยสารทั้งหมดนั่นเอง

Low Visibility Operations (LVO) 

หมายถึง การวิ่งขึ้นในทัศนวิสัยต่ำ และการบินลงสนามโดย Category II หรือ III  IATA อธิบายคำว่า LVO ไว้ประมาณนี้ครับ

The conduct of Category II or Category III approach operations and takeoffs in low visibility conditions 

LT 

เป็นตัวย่อของคำว่า Local Time (ดูคำว่า GMT)

ช่องยูทูปกัปตันโสภณ

สอบสัมภาษณ์ สมัครสอบนักบิน
https://youtu.be/V1ov2HwIEpE
Comments are closed
0
0