Aviation A-Z คำศัพท์การบินตัวอักษร D Delta

Deadhead 

deadhead/dead head หรือบางทีก็เรียกกันอีกอย่างว่า passive crew หมายถึง นักบินและ/หรือพนักงานต้อนรับที่เดินทางไปด้วยบนเที่ยวบินโดยไม่ได้ทำหน้าที่ในระหว่างไฟลท์ แต่เดินทางไปเพื่อทำหน้าที่หลังจากไฟลท์หรือเดินทางกลับบ้าน

กล่าวถึงเฉพาะด้านนักบินเพื่อให้เห็นภาพถึงสถานการณ์ที่ต้องเดินทางเป็น dead head กันครับ ปกตินักบินจะบินเครื่องบินได้เฉพาะแบบ เช่น คนที่บิน B777 ก็บินได้เฉพาะ B777

นักบิน B747 ก็บินได้เฉพาะ B747 นักบิน B777 แม้ว่าจะเคยบิน B747 มาก่อนอยู่ ๆ วันนี้จะบิน B747 เลยไม่ได้

(นักบินนั้นถูกกำหนดตามกฎหมายให้บินเครื่องบินได้เพียงแบบเดียว หากจะบินเครื่องบินสองแบบต้องมีการขออนุมัติและมีมาตรการการฝึกและกำกับดูแลเพิ่มเติม ดังนั้นส่วนใหญ่แล้ว
สายการบินจะให้บินเพียงแบบเดียวเท่านั้นเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหา ไม่ให้เกิดความสับสนและทำให้เกิดข้อบกพร่องในด้านคุณภาพการบิน) 

การทำงานของนักบินจะมีการกำหนดระยะเวลาทำงานสูงสุดที่สามารถทำได้ต่อวัน ซึ่งก็คือประมาณ 11-13 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เริ่มต้นทำงานและโดยปกติแล้วเที่ยวบินที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามเมืองต่าง ๆ ในยุโรปนั้นจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมงขึ้นไป

ดังนั้น เมื่อไปถึงนักบินจึงบินกลับมาเลยไม่ได้ จะต้องลงนอนพักผ่อนที่ปลายทางก่อนที่จะทำการบินกลับ(ดูช่วงเวลาการพักผ่อนขั้นต่ำด้านล่าง) ส่วนเครื่องบินนั้นจะเดินทางรับผู้โดยสารกลับมาเลยในวันเดียวกันนั้นโดยใช้นักบินอีกชุดหนึ่งที่ไปถึงก่อนหน้าแล้ว 1 วัน (ขึ้นอยู่กับตารางการบินและการจัดการด้านการเคลื่อนย้ายกำลังพลด้วย)

เรามาดูตัวอย่างกันชัด ๆ ว่าเมื่อไหร่ต้องมี dead head 

หนังสือ A Pilot book ทาง Shopee

หนังสือนักบิน
สอบสัมภาษณ์ สมัครสอบนักบิน
อีบุ๊คหนังสือเรื่องเครื่องบิน การบินและการเป็นนักบินพาณิชย์

หากวันที่ 1 เครื่องบิน B777 บินไปที่สนามบิน A นักบินก็จะลงนอนค้างคืนเพื่อพักผ่อนก่อนที่จะต้องบินกลับ 

แต่หากวันที่ 2 จำเป็นต้องใช้เครื่องบิน B747 บินไปที่สนามบิน A นักบิน B777 ที่บินไปถึงเมื่อวันที่ 1 ก็จะถูกกำหนดให้เดินทางกลับเป็น dead head บนเที่ยวบินขากลับในวันที่ 2 นั่นเลย นักบินที่บิน B747 กลับในวันที่สองก็คือ นักบินชุดที่เดินทางมากับเครื่องบิน B777 เมื่อวันที่ 1 โดยเป็น deadhead มา

สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแบบเครื่องบินแบบนี้จึงต้องมีการเดินทางของ dead head 

แต่ถ้าวันที่ 3 เครื่องบินก็จะเปลี่ยนไปใช้ B777 ใหม่ นักบินก็อาจจะไม่ต้องเดินทางกลับ บริษัทอาจจะให้พักเพิ่มอีกหนึ่งวันเพื่อรอรับเครื่องบินที่มาถึงในวันที่ 3 และบินกลับไปกรุงเทพฯ นักบิน B747 ก็จะเป็น dead head กลับบนเที่ยวบินของ B777 แบบนี้เป็นต้น

อย่างที่ผมกล่าวมาแล้วในช่วงต้น ๆ ว่า dead head นั้นเป็นนักบินและหรือพนักงานต้อนรับที่เดินทางในเที่ยวบินแต่ไม่ได้ได้ทำหน้าที่ลูกเรือ

dead head จึงถูกกำหนดให้นั่งที่นั่งผู้โดยสารและทำตัวเสมือนเป็นผู้โดยสารทุกประการ แต่หากมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเช่น การที่จะต้องอพยพออกจากเครื่องบิน dead head ก็จะสามารถทำการร่วมช่วยเหลือผู้โดยสารได้

เครื่องบิน B747-400 นั้นมีที่นอนสำหรับนักบินอยู่ 2 ที่ แม้ว่าจะเป็นห้องเล็ก ๆ แต่ส่วนตัวแล้วผมว่า พักผ่อนได้สบายกว่าเก้าอี้นั่งของผู้โดยสาร เพราะเป็นเตียงนอนราบแต่ไม่ได้มีอุปกรณ์ในการให้ความบันเทิงใด ๆ เหมือน A380 หรือเครื่องบินรุ่นหลัง  ซึ่ง pilot rest facility นั้นเป็นเตียงที่มีจอ LCD เพื่อให้ดูหนัง ฟังเพลงได้ เพราะจุดประสงค์ไม่ได้เอาไว้นอนอย่างเดียว เค้ามีไว้เพื่อให้ผ่อนคลายหรือพักผ่อนในระหว่างเที่ยวบิน

เตียงที่ติดตั้งนั้นจะมีเพียง 2 เตียง และอยู่ใกล้หรืออยู่ในส่วนที่เป็นห้องทำงานของนักบินหรือ cockpit และทั้งสองเตียงนั้นมีไว้เพื่อนักบินที่เป็น active crew ปกติยุโรปใช้นักบิน 4 คน โดยหลังจากเครื่องบินวิ่งขึ้นไปแล้ว นักบิน 2 คนจะถูกจัดตารางให้ไปพักผ่อนเพื่อมาสลับกับชุดที่นั่งประจำที่นั่งด้านหน้าเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ดังนั้นเตียง 2 เตียงจึงถูกใช้งานตลอดทั้งไฟลท์ ไม่ได้มีไว้สำหรับ dead head 

บางสถานการณ์ dead head จะต้องมีสถานที่พักผ่อนที่เหมาะสม (suitable rest facility) คือสามารถนอนราบได้ 180 องศา duty period จึงจะไม่นับช่วงเวลาที่พักผ่อนที่ว่านี้ว่าเป็น duty period 

เรื่อง suitable rest facility นี้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการด้านของความเหนื่อยล้า fatigue risk

ที่นั่ง first class ก็จัดเป็น suitable rest facility หรือ สถานที่พักผ่อนที่เหมาะสม

แต่ที่นั่ง business class นั้นเป็นเพียง adequate rest facility หรือ สถานที่พักผ่อนที่เพียงพอ

เรื่องของ duty period และ flight duty period ของนักบินนั้นเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เนื่องจากนักบินนั้นมีข้อจำกัดที่ถูกกำหนดชั่วโมงสูงสุดในแต่ละเรื่องกำกับเอาไว้ละเอียดยิบย่อย เช่น

ภายในทุก ๆ 7 วัน ต่อเนื่องกัน 

(ก) ลูกเรือจะมีชั่วโมงบินได้ไม่เกิน 34 ชั่วโมง 

(ข) ครูการบินจะมีช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่การบินได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมง 

(ค) ศิษย์การบินจะมีช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่การบินได้ไม่เกิน 30 ชั่วโมง 

ภายใน 28 วัน ต่อเนื่องกัน 

(ก) ลูกเรือจะมีชั่วโมงบินได้ไม่เกิน 110 ชั่วโมง 

(ข) ครูการบินจะมีช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เกิน 150 ชั่วโมง 

(ค) ครูการบินจะมีช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่การบินได้ไม่เกิน 120 ชั่วโมงและมีชั่วโมงบินได้ไม่เกิน 90 ชั่วโมง 

เพราะด้วยความที่ flight duty period นั้นถูกจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่สูงสุดเอาไว้ แม้ว่าจะเป็น dead head ก็จำเป็นจะต้องควบคุมเรื่องของ duty period เพราะหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นักบินเพื่อบินเที่ยวบินใด ๆ ที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงตาราง หรือมีเครื่องบินแบบไหนเสียต้องใช้เครื่องบินอีกแบบหนึ่งเพื่อบินทดแทนขึ้นมา dead head อาจจะไม่สามารถไปบินทดแทนการขาดกำลังพลได้เพราะติดเรื่องของ maximum duty period จริง ๆ รายละเอียดเรื่องนี้เขียนอธิบายให้ชัดเจนได้ไม่มากนัก เพราะมันคงจะยืดยาวเกินไปครับ

Deck

หมายถึง พื้น หรือชั้น ความหมายเดียวกับคำว่า floor สำหรับเครื่องบินที่มีห้องโดยสารสองชั้น เรียกว่า double deck โดยจะเรียกห้องโดยสารชั้นบนว่า upper deck และห้องโดยสารชั้นล่างเรียกว่า lower deck หรือบางทีก็อาจจะเรียก main deck อย่างเช่นในเครื่องบิน Boeing 747 นั้น upper deck มีขนาดเล็ก lower deck นั้นมีขนาดใหญ่ยาวตลอดลำตัวจึงเรียกว่า main deck

Delta 

เป็นการออกเสียงเพื่อติดต่อวิทยุ ตามมาตรฐาน International Radiotelephony Spelling Alphabet ซึ่งหมายถึง ตัวอักษร D (ดูคำว่า Alfa)

Deplane

หมายถึง การที่ผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน มีความหมายเดียวกับคำว่า disembark (ดูคำว่า Boarding)

Descent 

หมายถึง การลดระดับเพดานบินหรือความสูงของเครื่องบิน จากสูงลงต่ำ ตรงข้ามกับคำว่า ascent หมายถึงการไต่ระดับเพดานบินของเครื่องบิน จากต่ำขึ้นสูง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้คำว่า ascent แต่จะใช้คำว่า climb แทน เพราะคำว่า ascent นั้นมันมีความพ้องเสียงกับคำว่า descent ทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย

Disembark

หมายถึง การที่ผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน มีความหมายเดียวกับคำว่า deplane

(ดูคำว่า Boarding)

Dispatch 

แปลตรง ๆ ตัวแปลว่า การส่งออก หรือ ส่งออกไป คำว่า dispatch สำหรับการบิน หมายถึง การอำนวยการบิน คือ เตรียมการด้านเอกสารประกอบการบิน การส่งคำขอหรือส่งแผนการบินของเที่ยวบิน การเตรียมข้อมูลด้านข่าวสารการบิน สภาพอากาศ และ อื่น ๆ เพื่อที่จะให้เที่ยวบินเดินทางโดยสะดวก

Ditching 

หมายถึง การลงไปอยู่ในน้ำ เช่น เครื่องบินจะต้องลงฉุกเฉินในทะเลหรือแม่น้ำ เราเรียกว่า aircraft ditching

Diversion 

หมายถึงการที่เครื่องบินเปลี่ยนเส้นทางไปลงสนามบินอื่นที่ไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้ เช่น เที่ยวบินต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ แต่ระหว่างเกิดมีปัญหาหรือไปถึงเชียงใหม่แล้วลงสนามไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ทำให้ต้องบินไปลงสนามบินใกล้เคียง เช่น เชียงราย แพร่ หรือน่าน หรือแม้กระทั่งการกลับมาลงที่กรุงเทพฯ ก็เรียกว่าเป็นการ diversion 

diversion จะต่างจาก air turn back (หรือ air return คำนี้ไม่ค่อยใช้กัน) ตรงที่ air turn back นั้น เครื่องบินกลับมาลงสนามเดิมที่เพิ่งวิ่งขึ้นไปเพราะเครื่องบินมีปัญหาหรือปัญหาอื่นที่เป็นปัจจุบันทันด่วน เช่น คนป่วยหนัก (flight interrupted) และเป็นการบินที่เพิ่งขึ้นไปไม่นาน ประมาณว่าไม่เกิน 1 ชั่วโมง

DOA

Department of Airport

กรมท่าอากาศยาน สังกัดอยู่กับกระทรวงคมนาคม โดยมีหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานพาณิชย์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่นอกเหนือจากการดูแลของท่าอากาศยานไทย (AOT) และสนามบินทหารที่ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์

Docking System

หรือ Aircraft Docking System หมายถึง ระบบสัญญาณหรืออุปกรณ์ที่บอกสัญญาณเพื่อนำเครื่องบินเข้าสู่จุดจอด (parking spot) ที่ในบริเวณ parking bay หรือ parking stand

Door (Emergency Exit)

หมายถึง ประตู แต่สำหรับเครื่องบินนั้น นอกจากเป็นประตูทางออกแล้ว เครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ที่ประตูนั้นจะติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการอพยพฉุกเฉินที่เป็นทางลาดชันเหมือนกระดานลื่นที่เราเคยเล่นตอนเด็ก ๆ เรียกอุปกรณ์นี้ว่า slide บางประตูนั้นตัว slide จะสามารถปลดออกจากเครื่องบินกลายเป็นแพ (raft) เพื่อบรรทุกคนและลอยน้ำได้ จึงเรียกว่า slide/raft ประตู
เครื่องบินนั้นถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นต้องใช้งานได้ดีเวลาที่มีเหตุฉุกเฉิน มันจึงถูกเรียกว่า emergency exit 

การออกแบบเครื่องบินนั้นจะต้องกำหนดจำนวนประตูให้มีจำนวนสัมพันธ์กับจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร เพื่อให้การอพยพสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยที่กฎการบินมีข้อกำหนดว่าในการอพยพนั้นจะต้องสามารถพาผู้โดยสารทั้งหมดออกจากเครื่องบินให้ได้ภายในเวลา 90 วินาที (ดูคำว่า Slide/Raft)

ช่องยูทูปกัปตันโสภณ

หนังสือนักบิน
สอบสัมภาษณ์ สมัครสอบนักบิน
https://youtu.be/V1ov2HwIEpE

Comments are closed
0
0