EASA
ย่อมาจาก European Aviation Safety Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบินพลเรือนของสหภาพยุโรป (ดูคำว่า CAA)
Echo
เป็นการออกเสียงเพื่อติดต่อวิทยุ ตามมาตรฐาน International Radiotelephony Spelling Alphabet ซึ่งหมายถึง ตัวอักษร E (ดูคำว่า Alfa)
EGT
Exhaust Gas Temperature หมายถึง ความร้อนของอากาศที่ออกจาก turbine unit บางทีจึงเรียกว่า TOT: Turbine Outlet Temperature
EGT จะแสดงค่าให้นักบินมองเห็นได้ที่ห้องนักบินเพื่อเป็นค่าหนึ่งที่แสดงสถานะของเครื่องยนต์และมีค่าสูงสุดกำกับไว้เพื่อให้นักบินเฝ้าระวัง หากค่า EGT เกินหรือกำลังจะเกินค่าที่กำหนดไว้ อาทิเช่น ช่วงที่ start เครื่องยนต์ หากค่า EGT สูงเกินลิมิต นักบินจะต้องดับเครื่องยนต์ให้ช่างทำการซ่อมบำรุง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ได้รับความเสียหายและทำให้การบินไม่ปลอดภัย
Electronic Flight Bag (EFB)
แปลเป็นไทยง่าย ๆ คือ อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ที่ใช้เป็นเครื่อง-มือสำหรับเก็บข้อมูลทางการบินต่าง ๆ เอาไว้ใช้ในระหว่างทำการบิน อาทิเช่น แผนที่เส้นทางบิน แผนที่สนามบิน คู่มือต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับเที่ยวบิน และอื่น ๆ เป็นต้น
ELT
Emergency Locator Transmitter เป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณบอกตำแหน่งซึ่งมีทั้งแบบที่ทำงานเองอัตโนมัติเมื่อเกิดแรงกระเทก และแบบที่สั่งให้ทำงานเองได้ มีทั้งแบบพกพาและแบบที่ยึดติดอยู่กับเครื่องบิน ตัวมันจะส่งสัญญาณเพื่อแจ้งตำแหน่งให้ทีมกู้ภัยและค้นหาสามารถติดตามตำแหน่งเพื่อเข้าช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น
Emergency Equipment
คำว่า emergency หมายถึง ภาวะเร่งด่วน ภาวะฉุกเฉิน กรณีฉุกเฉิน หรือเหตุปัจจุบันทันด่วน คำว่า ฉุกเฉินหรือเร่งด่วน นั้นหมายถึง มีเวลาที่จำกัดให้ปฏิบัติหรือดำเนินการ
ส่วนคำว่า equipment นั้นหมายถึง อุปกรณ์ เมื่อสองคำมารวมกันเป็น emergency equipment นั้นจึงหมายถึง อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในภาวะฉุกเฉิน มันจึงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญต่อชีวิตที่เอาไว้ใช้งานเพื่อพาให้เราหลุดออกไปจากสถานการณ์อันตรายโดยเร็ว (ต้องแข่งกับเวลา)
สงสัยไหมครับว่า อะไรบ้างล่ะที่เป็น emergency equipment ตัวอย่างเช่น ไฟฉาย เสื้อชูชีพ ELT หน้ากากออกซิเจน ถังดับเพลิง เป็นต้น
ลองยกตัวอย่างความสำคัญของอุปกรณ์เหล่านี้กันหน่อยครับ
อุปกรณ์แรกคือ เข็มขัดนิรภัยหรือ safety belt ที่มีติดตั้งอยู่ทุกที่นั่ง เข็มขัดนิรภัยนั้น ผมเคยเขียนแนะนำไปในฉบับก่อน ๆ นี้แล้วว่า เมื่อไหร่ที่นั่งอยู่กับที่นั่ง ขอให้คาดเข็มขัดเอาไว้เสมอ เพราะเราไม่รู้หรอกครับว่า เครื่องบินอาจจะตกหลุมอากาศแบบฉับพลันขึ้นเมื่อไหร่ โดยเฉพาะสภาพอากาศแปรปรวนในหน้าฝนที่กำลังจะเปลี่ยนฤดูไปเป็นฤดูหนาวในปลายเดือนตุลาคม ลักษณะของสภาพอากาศอาจจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรง รวมทั้งอาจเกินกว่าที่นักบินและเรดาร์ตรวจอากาศจะสามารถพยากรณ์ได้ ปลอดภัยไว้ก่อน คือ คาดเข็มขัดเอาไว้ครับ
ที่สำคัญคือ ให้ลองปลดและใส่เข็มขัดดูด้วยนะครับ การปลดเข็มขัดนิรภัยนั้น จะใช้วิธีดึงง้างออกเพื่อปลด จะไม่เหมือนกับเข็มขัดนิรภัยของรถยนต์ครับ สำหรับผู้โดยสารที่เพิ่งเคยขึ้นเครื่องบินครั้งแรก ควรสร้างความคุ้นเคยกับการใช้งานครับ เพราะว่าหากมีความจำเป็นต้องรีบออกจากเครื่องบินเราจะได้ทำได้โดยไม่ชักช้าครับ
อุปกรณ์ที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่เราคงไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ใช้งานในการเดินทางปกติ แต่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตอย่างมากหากมีภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับระบบปรับความดันอากาศภายในห้องโดยสาร
อุปกรณ์ชนิดนี้จะหล่นลงมาจากเพดานเครื่องบิน
หน้ากากออกซิเจน หรือ passenger oxygen Mask นั้นจะมีบรรจุอยู่ในช่องเก็บบนเพดานเหนือศีรษะเราครับ และจะมีอยู่เกินกว่าจำนวนที่นั่งด้วยนะครับ เพราะบางครั้งผู้โดยสารเดินทางพร้อมกับลูก ๆ โดยเฉพาะทารกที่ต้องนั่งบนตักหรืออุ้มกอดไว้โดยคุณพ่อคุณแม่
เวลามีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น เรามักจะเห็นภาพข่าวที่ผู้โดยสารใช้หน้ากากออกซิเจนไม่ค่อยถูกวิธี รวมทั้งมีการร้องเรียนว่าหน้ากากออกซิเจนใช้งานไม่ได้ ผมจะขอเขียนเรื่องการใช้งานหน้ากากออกซิเจนให้ละเอียดสักหน่อย เพื่อที่อย่างน้อยผู้อ่านจะสามารถใช้หน้ากากออกซิเจนได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัยต่อชีวิตของตนเองครับ
ในช่องเก็บเอกสารในพนักเก้าอี้ที่ด้านหน้าที่นั่งของผู้โดยสารทุกคนจะมีแผ่นพับที่ใช้อธิบายถึงการใช้งานหน้ากากออกซิเจนอยู่แล้ว เราเรียกมันว่า safety card และก่อนเดินทางพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินก็จะทำการสาธิตการใช้งานก่อนที่เครื่องบินจะวิ่งขึ้นในทุก ๆ ครั้งครับ คำแนะนำของแอร์โฮสเตสนั้นค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ผู้โดยสารบางท่านอาจไม่ได้สนใจหรือไม่มีสมาธิที่จะฟังเท่าไหร่นัก (ใครไม่ได้ฟังหรือดูการสาธิตบ้าง เที่ยวหน้าต้องตั้งใจดูและฟังนะครับ) ผมจึงขอเอามาเขียนอธิบายให้เข้าใจที่มาที่ไปของการสาธิตดังนี้ครับ
หน้ากากออกซิเจนนั้น ก่อนจะสวม ให้ออกแรงกระตุกหน้ากากลงมาเล็กน้อย เพื่อที่อุปกรณ์ผลิตออกซิเจนจะได้เริ่มทำการผลิตออกซิเจน เราเรียกมันว่า oxygen cylinder การกระตุกหน้ากากลงมาเล็กน้อยก็เพื่อที่จะทำให้ safety pin ของอุปกรณ์ ที่เป็นเหมือนสลักป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ทำงานนั้นหลุดออก และอุปกรณ์ก็จะเริ่มกระบวนการผลิตออกซิเจนออกมาให้เราในทันที
เมื่อกระตุกแล้วจึงค่อยสวมทั้งปากและจมูก เน้นว่าทั้งปากและจมูก แล้วจึงหายใจตามปกติ ไม่จำเป็นต้องพยายามสูดแรง ๆ เพราะออกซิเจนจะถูกผลิตออกมาในอัตราที่เพียงพอต่อการใช้งานอยู่แล้ว
เมื่ออุปกรณ์ผลิตออกซิเจนถูกกระตุกให้ใช้งานแล้ว มันจะผลิตออกซิเจนออกมาให้ตลอดเวลาประมาณ 12-18 นาทีแล้วแต่แบบของเครื่องบิน
เวลา 12 นาทีนั้นมากเพียงพอที่นักบินจะจัดการให้เครื่องบินกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยไม่ต้องใช้หน้ากากออกซิเจน ซึ่งโดยปกติแล้วนักบินจะใช้เวลาในการจัดการเกี่ยวกับการลดเพดานบินฉุกเฉินกรณีเกิดการสูญเสียระบบความดันอากาศเพียงประมาณ 5-7 นาทีเท่านั้น
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าวิธีการใช้งานก็คือ การใส่หน้ากากออกซิเจน จะต้องใส่ให้กับตัวเองก่อนเสมอ เพื่อที่เราจะได้มีสติและสามารถช่วยใส่ให้กับลูกหรือเด็กที่นั่งอยู่กับเราได้
หากเรามัวแต่ใส่ให้ลูกยิ่งโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ พอเราจะใส่ให้ตัวเองถึงเวลานั้นเราอาจจะหมดสติไปเสียก่อนเพราะขาดออกซิเจนครับ ทีนี้ลูกก็ไม่สามารถจะมาช่วยเหลือเราได้และสุดท้ายคือ เมื่อเห็นหน้ากากออกซิเจนหล่นลงมา ขอให้หยิบใส่ทันทีห้ามรีรอเด็ดขาด
Embark
หมายถึง การนำผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน มีความหมายเดียวกับคำว่า boarding (ดูคำว่า Boarding)
ERP
Emergency Response Plan คือ แผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน สายการบินและสนามบินจะต้องมีการทำแผนสำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและทำการฝึกซ้อมเพื่อที่จะเตรียมพร้อมในการรับมือหากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ อาทิเช่น การขู่วางระเบิดสนามบินหรือเครื่องบิน เครื่องบินประสบอุบัติเหตุในสนามบิน และภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างนี้เป็นต้น
Evacuation
หมายถึง การอพยพ สำหรับบนเครื่องบินนั้น กัปตันผู้ควบคุมอากาศยานจะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์ว่ามีความเลวร้ายมากขนาดไหน หากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายก็จะทำการประสานกับหอบังคับการบินให้เข้าช่วยเหลือและสั่งให้ทำการอพยพออกจากเครื่องบินในทันที
EVS
Enhanced Vision System เป็นระบบที่ตรวจจับภาพด้านนอก cockpit เพื่อประมวลผลและสร้างภาพลักษณะของภายนอกขึ้นมาบนจอ ส่วนใหญ่ EVS จะใช้ร่วมกับ HUD (Head Up Display) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้นักบินสามารถบังคับเครื่องบินได้อย่างแม่นยำขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่สภาวะที่มีทัศนวิสัยต่ำ ๆ
Excursion (Runway/Taxiway)
หมายถึง การที่เครื่องบินออกไปนอกเส้นทาง เช่น runway excursion ก็หมายถึงเครื่องบินไถลออกไปนอกรันเวย์ในขณะที่ทำการลงสนาม
taxiway excursion ก็หมายถึงการที่เครื่องบินหลุดออกไปนอกทางขับ (taxiway) ในขณะที่เคลื่อนที่บนทางขับ
- The Queen B747: Paris
- ลำตัวเครื่องบินเหมือนหลอดกระดาษ
- รูปแบบของปีกเครื่องบินและ wingtips
- Baggage กระเป๋าขึ้นเครื่อง กับ กระเป๋าเช็คอิน ต่างกันอย่างไร
- TG เฉี่ยว EVA ที่ฮาเนดะ เป็นอุบัติเหตุหรือไม่