Aviation A-Z บทนำ

Aviation A-Z

คำศัพท์การบินเหล่านี้ ผมตั้งใจเขียนและเรียบเรียงตามความเข้าใจและประสบการณ์การทำงาน เพื่อที่จะให้คนที่สนใจด้านการบิน คนที่เรียนบินอยู่ หรือแม้แต่นักบินที่เพิ่งเริ่มต้นการบินอาชีพได้มีโอกาสทำความเข้าใจอย่างง่าย ๆ และเก็บไว้ใช้ทบทวนความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการบินหรืออุปกรณ์การบินต่าง ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยการอธิบายหรือจะต้องอ่านรายละเอียดมากเกินไปนักซึ่งจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและไม่น่าสนใจ

คำอธิบายต่าง ๆ จะเป็นการใช้ภาษาง่าย ๆ ต้องการเน้นให้เกิดความเข้าใจเบื้องต้น ไม่ได้เน้นให้สามารถใช้เป็นตำราอ้างอิงหรือเคร่งในหลักวิชาการมากเกินไป ผู้อ่านจะได้รับพื้น-ฐานความเข้าใจมากขึ้น เวลาอ่านข่าวสารหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางด้านการบินและเกี่ยวกับการบินตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงในเพจ A Pilot Club เองด้วย จะทำให้การอ่านนั้นมีอรรถรสและได้ความรู้ความเข้าใจมากขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

หนังสือเล่มนี้จึงอาจไม่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงหรือเป็นตำราประกอบการเรียน แต่เป็นความรู้ที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์การบินโดยตรงของผมส่งต่อให้แก่ผู้ติดตามทุก ๆ ท่านครับ

กัปตันโสภณ พิฆเนศวร

ธันวาคม 2561

คำศัพท์การบินในหนังสือนี้ จะอธิบายง่าย ๆ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจการบิน เหมาะสำหรับใช้เป็นพื้นฐานความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการบินหรืออุปกรณ์การบินต่าง ๆ

คำอธิบายจึงเป็นการใช้ภาษาพื้น ๆ เพราะต้องการให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการบินคร่าว ๆ ไม่ได้เน้นที่จะอธิบายโดยอิงหลักวิชาการมากเกินไปนัก เพราะฉะนั้นจึงอาจไม่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงอย่างเป็นทางการ

***คำศัพท์ต่าง ๆ นั้นอาจมีความหมายแตกต่างจากภาษาอังกฤษที่มีการใช้งานในกิจวัตรประจำวัน

เริ่มต้นกันที่การออกเสียงตัวอักษรภาษาอังกฤษอย่าง A, B, C, D,…..Z กันก่อนครับ
อักษร A นั้น ในทางการบินเราจะบอกกันด้วยการออกเสียงว่า alpha
B ออกเสียงว่า Bravo
C คือ Chalie
D = Delta
E = Echo
F = Foxtrot
G = Golf
H = Hotel
I = India
J = Juliet
K = Kilo
L = Lima
M = Mike
N = November
O = Oscar
P = Papa
Q = Quebec
R = Romeo
S = Sierra
T = Tango
U = Uniform
V = Victor
W = Whiskey
X = X-ray
Y = Yankee
Z = Zulu

เวลาที่พูดตัวอักษรติดๆกัน เช่น HS ก็จะพูดว่า Hotel-Sierra จะไม่พูดว่า เอช-เอส ทั้งนี้เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าใจตัวอักษรผิดตัว โดยเฉพาะเมื่อนักบินทำการติดต่อสื่อสารผ่านทางวิทยุ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นผู้สนทนาไม่สามารถเขียนให้อ่านได้
การใช้คำออกเสียงเพื่อแทนตัวอักษรจึงมีความจำเป็นและต้องใช้ให้เหมือนๆกันด้วยนำครับ ไม่ใช่นึกอยากใช้แบบไหนก็ได้ อย่างเช่นเวลาที่เราสะกดชื่อกับ call center เรามักจะได้ยินแปลกๆเช่น T-Thailand P-Poland J-Japan อะไรทำนองนี้ หากนักบินพูดกันแบบนี้คงตีความกันยาก และพากันงงทั้งน่านฟ้าแน่ๆ

เรามาเริ่มกันที่คำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร A หรือ Alpha กันครับ

ACARS

Aircraft Communications Addressing and Reporting System เป็นระบบการติดตามและรายงานตำแหน่งหรือสื่อสารข้อมูลระหว่างเครื่องบินและสถานีภาคพื้นหรือศูนย์รับข้อมูลภาคพื้น คล้ายกับการส่ง SMS ของโทรศัพท์มือถือ 

ACAS

Airborne Collision Avoidance System หรือ TCAS-Traffic Collision Avoidance System เป็นระบบที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบิน โดยที่อุปกรณ์นี้จะส่งสัญญาณเตือนเครื่องบินทั้งสองลำที่บินเข้าใกล้กันเกินกว่าระยะห่างที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการบินชนกันกลางอากาศ โดยอาศัยการประมวลผลจากความเร็ว ระยะสูงและอัตราการเปลี่ยนระยะสูงของเครื่องบินทั้งสองลำเข้ามาประเมินโอกาสที่เครื่องบินจะบินชนกัน (ดูคำว่า TCAS)

สั่งซื้อ Aviation A-Z ทาง shopee

Aerobridge

สะพานเทียบเครื่องบินที่ยื่นออกมาจากตัวอาคารเพื่อแนบกับลำตัวของเครื่องบินเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินเข้าตัวอาคารได้โดยสะดวก

Affirm-Affirmative 

เป็นคำที่ใช้สำหรับพูดติดต่อสื่อสารทางวิทยุซึ่งมีความหมายว่า สิ่งที่อีกฝ่ายพูดมานั้นถูกต้อง ใช้กรณี readback เพื่อยืนยันว่า “ใช่แล้ว” “ถูกต้อง” ประมาณนี้

ช่องยูทูปกัปตันโสภณ

AIP

Aeronautical Information Publication เขียนย่อ ๆ ว่า AIP เป็นแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการด้านการบินของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ให้ทราบทั่วไปเพื่อให้สามารถบินผ่านเข้าประเทศนั้น ๆ หรือบินไปลงสนามบินในประเทศนั้นได้ตามระเบียบและวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้ เช่น AIP Thailand ก็จะมีข้อมูลทุกชนิดเกี่ยวกับการเดินอากาศของประเทศไทย อาทิเช่นรายละเอียดของสนามบินต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่แผนที่สนาม-บิน วิธีการบินเข้า-ออกสนามบิน (อ่าน SID/STAR) คลื่นความถี่ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร 

AIP Thailand นั้นจะแบ่งออกเป็นหลาย parts คือ General ทั่วไป , Enroute ข้อมูลตามเส้นทางบิน , Aerodrome สนามบิน และ Aeronautical Charts แผนที่ต่าง ๆ เป็นต้นสามารถดูตัวอย่างและสั่งซื้อ CD-ROM AIP ประเทศไทยได้ที่ www.ais.caat.or.th

Aircrew 

หมายถึง ทั้งนักบินและลูกเรือ บางทีคำว่าลูกเรือนั้นก็ใช้กันจนสับสนเหมือนกันครับ เพราะว่าไปแล้วคำว่า crew นั้นหมายถึงผู้ปฏิบัติงานในงานหนึ่ง ๆ ด้วยกัน บางทีเราใช้คำว่า ลูกเรือ แบบไทย ๆ หมายถึง เฉพาะพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่ฝรั่งเค้าใช้คำว่า crew โดยหมายถึง ทั้งนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 

Airborne

หมายถึง ช่วงเวลาตั้งแต่ล้อเครื่องบินพ้นพื้น จนกระทั่งแตะพื้นอีกครั้งตอน landing

Aircraft Stand 

หมายถึง ตำแหน่งจอดหรือหลุมจอดเครื่องบิน ความหมายเดียวกับคำว่า Parking Stand

Air Turn Back 

หมายถึงการที่เที่ยวบินมีปัญหาหลังจากที่บินขึ้นไปแล้วกลับมาลงที่สนามบินเดิม (สังเกตว่าผมใช้คำว่าเที่ยวบินไม่ใช่เครื่องบิน)

Airspace

แปลเป็นไทยว่า น่านฟ้า หมายถึง พื้นที่บนฟ้าที่ใช้ในการบิน Thailand airspace ก็หมายถึงน่านฟ้าของประเทศไทย Singapore airspace ก็เป็นน่านฟ้าของประเทศสิงคโปร์ 

airspace นั้นยังแบ่งกลุ่มย่อย ๆ ออกไปเป็นหลายประเภท (class) ขึ้นอยู่กับลักษณะการให้บริการการจราจรทางอากาศ ซึ่งจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 กลุ่มคือ controlled airspace และ uncontrolled airspace แบ่งย่อยออกเป็น 7 class คือ Class A, B, C, D, E, F และ G 

แต่ละ class จะมีความแตกต่างกันในแง่ของลักษณะการบิน เช่น VFR IFR หรือใน airspace class นั้น ๆ มีการให้บริการการควบคุมการจราจรทางอากาศหรือไม่ในระดับใด การจะบินผ่านเข้า airspace นักบินก็ต้องมีความพร้อมหรือมีศักย์การบินตามที่กำหนดด้วย เช่น จะบินใน airspace Class A นักบินก็ต้องมี instrument rating เพราะ Class A ไม่ให้บินแบบ VFR เป็นต้น ดูรายละเอียดตามตาราง (อ่าน ATC, ATC Clearance, IFR, VFR)

อาทิเช่น airspace Class A นักบินต้องบินด้วย Instrument Flight Rule (IFR) เท่านั้น เครื่องบินทุกลำต้องได้รับ ATC clearance เมื่อบินอยู่ใน airspace นี้, เครื่องบินทุกลำจะได้รับการควบคุมการจราจรโดย ATC เพื่อจัดระยะห่างของแต่ละลำ เป็นต้น

Alfa

คำว่า Alfa นั้นเป็นการพูดสื่อสารด้วยการออกเสียงโดยหมายถึง อักษรตัว A การใช้การออกเสียงเพื่อแทนตัวอักษรเพียงตัวเดียวนั้นเป็นการพูดเพื่อต้องการสื่อสารให้มีความชัดเจนและไม่ผิดความหมาย เช่น

HS-DBA ถ้าเราพูดว่า เอช-เอส-ดี-บี-เอ ปลายสายหรือปลายทางอาจจะฟังไม่ชัดเจนหรือฟังเพี้ยนกลายเป็นตัวอักษรอื่นที่ออกเสียงคล้ายกัน ทางการบินจึงใช้ระบบการออกเสียงเพื่อแทนตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 26 ตัวตามแบบมาตรฐานการออกเสียงแทนตัวอักษรที่เป็นสากล (International Radiotelephony Spelling Alphabet) ดังนี้ครับ

Alfa, Bravo, Charlie, Delta, Echo, Foxtrot, Golf,  Hotel, India, Juliet, Kilo, Lima, Mike, November, 
Oscar, Papa, Quebec, Romeo, Sierra, Tango, Uniform, Victor, Whiskey, X-ray, Yankee, Zulu

ดังนั้น HS-DBA ก็จะพูดผ่านวิทยุสื่อสารว่า Hotel-Sierra-Delta-Bravo-Alfa

Altitude (Pressure Altitude)

แปลว่าความสูง สำหรับการบินบางทีพูดสั้น ๆ ว่า altitude แต่เป็นที่เข้าใจกันว่ามันคือ pressure altitude ซึ่งเป็นค่าความสูงที่วัดจากระดับความกดอากาศ ไม่ใช่ความสูงจริงเหนือพื้นดิน เวลาบินจึงต้องมีการปรับค่าระดับความสูงจากตัวแปรที่อาจมีผลกระทบกับ pressure altitude ด้วย

Altimeter

มาตรแสดงระดับความสูง

AMK: Airborne Maintenance Kit

หมายถึง อุปกรณ์จำเป็นบางอย่างที่นำติดไปกับเครื่องบินเพื่อใช้สำหรับการซ่อมบำรุง ใน AMK นั้นอาจจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์หรือสารเคมีสำหรับการซ่อมบำรุงจำพวกน้ำมันไฮดรอลิกหรือน้ำมันเครื่อง บางทีอาจเป็นยางอะไหล่ของเครื่องบินด้วยก็ได้แล้วแต่ทางฝ่ายช่างจะพิจารณาถึงความจำเป็น

AOC

ย่อมาจากคำว่า Air Operator Certificate ซึ่งหมายถึง ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ โดยที่สายการบินที่จะได้ใบ
รับรองนี้จะต้องทำตามข้อกำหนด 5 ขั้นตอนหลัก ๆ ที่จะเป็นเรื่องของกระบวนการในการกำกับและตรวจสอบมาตรฐานในการปฏิบัติการของสายการบินว่ามีความปลอดภัยในการที่จะให้บริการแก่ผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี กระบวนการในการตรวจสอบใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศนั้นจะทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับใบอนุญาตไปแล้ว ก็จะต้องรับการตรวจสอบและกำกับมาตรฐานอยู่ตลอดทุก ๆ ปี ปกติใบอนุญาตนี้จะมีอายุ 5 ปี แต่กระนั้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยก็สามารถที่จะออกคำสั่งระงับใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้หากพบว่าสายการบินนั้น ๆ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ข้อกำหนด และข้อบังคับต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้

AOL

ย่อมาจากคำว่า Airlines Operating License หรือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ ใบ AOL นี้จำเป็นจะต้องได้รับก่อนที่จะยื่นขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศได้ อาทิเช่น ถ้าต้องการตั้งสายการบินใหม่ ก็ต้องยื่นเรื่องเพื่อขอใบ AOL เพื่อเป็นผู้ประกอบการให้ได้เสียก่อน

การยื่นขอ AOL นั้นเป็นเรื่องของการดำเนินการทางธุรกิจ มีเรื่องของแผนการตลาด แผนทางการเงินและการลงทุน แผนการจัดฝูงบินและเส้นทางบิน เป็นต้น

หนังสือรวบรวมคำศัพท์ทางการบิน Aviation A-Z สั่งซื้อทาง Shopee

CAAT เป็นผู้รับผิดชอบในการให้อนุญาตใบ AOL และใบอนุญาตจะมีอายุถึง 10 ปี (แล้วแต่การพิจารณารายละเอียดโดย CAAT ซึ่งจะประเมินตามความเหมาะสมของธุรกิจ)

AOT: Airports of Thailand

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลจัดการสนามบินหลัก ๆ ของประเทศไทยจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และแม่ฟ้าหลวงเชียงราย

Approach

หมายถึง การเตรียมการเพื่อลงสนามและการลดระดับความสูงในการลงสนามในช่วงที่เริ่มเข้าใกล้สนามบิน

Apron

หมายถึง บริเวณที่เป็นลานจอดของเครื่องบินเพื่อทำการลำเลียงผู้โดยสารขึ้น-ลง หรือการขนถ่ายสัมภาระสิ่งของขึ้น-ลงเครื่องบิน หรือเติมน้ำมัน คำว่า apron นั้นมีความหมายเดียวกันกับคำว่า tarmac และ ramp

APU: Auxiliary Power Unit

หมายถึง ระบบพลังงานสำรองที่มีไว้ใช้เสริมการทำงานหรือใช้ในเวลาที่เครื่องบินไม่ได้ติดเครื่องยนต์ ซึ่งสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าและแรงดันลมเพื่อเข้าสู่ระบบความดันอากาศและระบบปรับอุณหภูมิภายในเครื่องบิน 

Angle of Attack (AOA)

หมายถึง มุมปะทะของเครื่องบิน (ไม่ใช่ลักษณะทางกายภาพ)  แต่เป็นมุมก้มมุมเงยตามหลักอากาศพลศาสตร์ บางทีท่าทางของเครื่องบินเมื่อเทียบกับขอบฟ้าอาจจะมีมุมก้มหรือมุมเงยเล็กน้อย แต่ตัวเครื่องบินนั้นกำลังบินรักษาระดับความสูง เป็นต้น

ดังนั้น angle of attack ไม่เกี่ยวกับท่าทาง ก้ม เงย ของเครื่องบิน ท่าทางก้มหรือเงยของเครื่องบินที่เทียบกับขอบฟ้า เราเรียกว่า pitch attitude มันเป็นลักษณะท่าทางก้มเงยทางกายภาพของเครื่องบินเท่านั้น แต่เครื่องบินอาจจะกำลังบินระดับ หรือกำลังไต่หรือลดระดับในขณะที่เครื่องบินอาจจะมีท่าทางเชิดหัวอยู่ก็ได้

Anti-skid

เป็นระบบป้องกันความเร็วของยางในแต่ละเส้นไม่ให้มีความเร็วแตกต่างกันมากเกินไปจนเป็นอันตราย เพราะความเร็วของล้อที่แตกต่างกันมากเกินไปทำให้ประสิทธิภาพในการเบรกเพื่อลดความเร็วลดลง การบังคับทิศทางของเครื่องบินก็จะทำได้ยาก ระบบ anti-skid จะทำการปล่อยล้อที่ความเร็วลดมากกว่าล้ออื่น ๆ ที่อยู่ในระนาบเดียวกันให้ความเร็วเท่ากับล้อข้างเคียงแบบนี้เป็นต้น เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่ามันคล้ายกับระบบ ABS ของรถยนต์ แต่เครื่องบินนั้นมีจำนวนล้อมากกว่า ระบบจึงมีความซับซ้อนมากขึ้น หากระบบ anti-skid ทำงานบกพร่อง ก็จะมีการแจ้งเตือนขึ้นใน cockpit เพื่อให้นักบินเพิ่มความระมัดระวังในการเบรก และอาจมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นในการ takeoff และ landing อาทิเช่น เมื่อพื้นสนามบินเปียก เป็นต้น

ATA

เป็นอักษรย่อที่หมายถึง Actual Time of Arrival เวลาที่ใช้ในสายการบินนั้นจะมีอยู่หลายแบบ เพื่อที่ทางสายการบินจะทำการบันทึกข้อมูล เก็บรายละเอียดของแต่ละเที่ยวบินและทำเป็นสถิติเอาไว้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาการบริการของสายการบินเอง รวมทั้งเพื่อแจ้งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบเพื่อเป็นข้อมูลสถิติด้วย

ตัวอย่างของเวลาที่ใช้ในแต่ละเที่ยวบิน เช่น

ATD/ATA ย่อมาจาก Actual Time of Departure/Actual Time of Arrival หมายถึงเวลาจริงของเที่ยวบินที่ทำการออกเดินทางและถึงที่หมาย

STD/STA ย่อมาจาก Standard Time of Departure/Standard Time of Arrival บางสำนักก็บอกว่าคือ Scheduled Time of Departure/Scheduled Time of Arrival หมายถึงเวลาตามตารางบินที่กำหนดไว้สำหรับเที่ยวบิน

ETD/ETA ย่อมาจาก Estimated Time of Departure/Estimated Time of Arrival หมายถึงเวลาที่คาดว่าจะทำการออกเดินทางและถึงที่หมาย

เรามาลองยกตัวอย่างเวลาทั้งสามตัวนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความแตกต่างของมันกันครับ

สมมติว่าเที่ยวบินนี้มีกำหนดการที่แจ้งผู้โดยสารในการซื้อตั๋วคือ ออกเดินทาง 12:00 น. และกำหนดเวลาถึงที่หมายคือ 13:30 น.  STD ก็คือ 12:00 และ STA คือ 13:30 

ในวันเดินทางของเที่ยวบินทางสายการบินก็จะสื่อสารกันภายใน เรื่องการประมาณเวลาที่สามารถออกเดินทางได้ เรียกว่า ETD/ETA ถ้าไม่มีเหตุขัดข้องอะไร เวลา ETD/ETA ก็จะเป็นเวลาเดียวกับ STD/STA นั่นเอง 

แต่ถ้าหากมีเรื่องของข้อจำกัดด้านการจราจรทางอาการ เช่น หอบังคับการบินจัดการจราจรแล้วจำเป็นต้องขยับเวลาออกไปเล็กน้อย เช่น 5 นาที 10 นาที  เวลา ETD ก็จะเป็น 12:05 หรือ 12:10 แล้วแต่กรณีไป ส่วน ETA นั้นจะต้องดูที่ชั่วโมงบินและเวลาที่ได้วิ่งขึ้นเข้ามาประกอบ 

ในบางช่วง บางฤดู อย่างเช่น ช่วงเปลี่ยนไปเป็นฤดูหนาว สภาพของทิศทางและความเร็วลมอาจจะมีความแรงมากกว่าช่วงก่อนฤดูหนาว ชั่วโมงบินอาจจะมากกว่าที่ประเมินเอาไว้ ETA ก็อาจจะขยับออกไป (หรือขยับเข้ามาถ้าลมส่งท้ายแรงขึ้น)

(ถ้าเข้าฤดูหนาวไปแล้ว สายการบินจะปรับเวลา STD/STA อยู่แล้ว)

ส่วนคำว่า ATD/ATA นั้น เป็นเวลาจริงที่ทำการดันถอยหลัง และเวลาจริงที่เครื่องบินเข้าจอดที่หลุมจอดที่สนามบินปลายทาง

สรุปคือ ก่อนบินเวลาที่ใช้คือ STD/STA ในระหว่างปฏิบัติงานก็จะมีการประมาณหรือคาดคะเน ETD/ETA เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลานั้น ๆ แล้วก็คือเวลาที่ปฏิบัติจริง ATD/ATA

โดยปกติการบันทึกหรือสื่อสารด้านเวลาทางการบินก็จะใช้เวลาเป็น UTC เป็นหลัก (ดูคำว่า UTC)

ATC

Air Traffic Control หมายถึง ศูนย์ควบคุมการบิน 

ATIS

Automatic Terminal Information Service เป็นการแจ้งข่าวสารของสนามบินผ่านทางคลื่นวิทยุสื่อสาร broadcast ซึ่งเป็นการกระจายข่าวสารทางเดียว ไม่มีเจ้าหน้าที่ในการพูดโต้ตอบ โดยแต่ละสนามบินจะมีคลื่นความถี่เฉพาะของตนเอง (ที่ลงทะเบียนไว้) และทำการกระจายข่าวที่สำคัญหมุนวนไปเรื่อยไม่มีหยุด โดยเนื้อความจะมีรูปแบบที่มีการจัดลำดับเอาไว้ ไล่ตั้งแต่ ชื่อสนามบิน เวลาที่กระจายข่าว ข้อมูลเฉพาะของสนามบินนั้น ๆ ตามด้วยรายงานสภาพอากาศที่ประกอบไปด้วย ทิศทางลม ความเร็วลม ทัศนวิสัย เมฆและฐานเมฆ อุณหภูมิ และความกดอากาศ นอกเหนือจากข้อมูลเบื้องต้นนี้แล้วก็จะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของการรายงานสภาพอากาศประเภทต่าง ๆ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักบินเพื่อพิจารณาหาหนทางแก้ไข

Aerothai

เป็นคำย่อมาจากคำเต็มว่า Aeronautical Radio of Thailand หรือภาษาไทยคือ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด มีชื่อย่อว่า บวท.

บวท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมและบริการการจราจรทางอากาศของประเทศไทย ซึ่งให้บริการเพื่อจัดการเกี่ยวกับการเดินทางในน่านฟ้าของไทย รวมทั้งการควบคุมการจราจรในการขึ้น-ลงสนามบินต่าง ๆ ด้วย

AIR

เป็นคำย่อของ airworthiness (ดูคำว่า Airworthiness)

Air Hostess

หมายถึง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพศหญิง

(ดูคำว่า Cabin Crew)

Airside

หมายถึง พื้นที่เขตการบิน ได้แก่บริเวณหรือพื้นที่ที่สามารถไปถึงตัวเครื่องบินได้ ซึ่งรวมถึงบริเวณที่เป็นทางขับ (taxiway) ถนนและทางเดินรถระหว่างตัวอาคารและในบริเวณลานจอด รวมถึงพื้นที่ทางวิ่งของเครื่องบินหรือรันเวย์ด้วย

Air Steward/Stewardess

air steward หมายถึง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพศชาย และ air stewardess คือ พนักงานต้อนรับเพศหญิง

Airworthiness

คือ ความสมควรเดินอากาศ หมายถึง ความพร้อมสมบูรณ์ของเครื่องบินที่จะทำการบิน คำว่า airworthiness นั้นบางครั้งใช้ในความหมายของการซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งมีรายละเอียดในเรื่องของการรับรองการซ่อมบำรุง ขั้นตอนการซ่อมบำรุง การใช้และเปลี่ยนอุปกรณ์ที่จะต้องมีการรับรองให้ใช้งานได้ตามแบบของเครื่องบิน เรื่องเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเพื่อที่จะมั่นใจว่าเครื่องบินมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะทำการบินอย่างปลอดภัย 

AOG

ย่อมาจากคำว่า Aircraft on Ground ไม่ได้หมายถึงเครื่องบินอยู่บนพื้น แต่เป็นคำศัพท์เทคนิคที่หมายความว่า เครื่องบินไม่สมควรเดินอากาศ คือ ไม่สามารถขึ้นให้บินได้ เพราะมีปัญหาอะไรบางอย่างที่จำเป็นจะต้องแก้ไข

ATC

Air Traffic Control การควบคุมการจราจรทางอากาศ แต่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะบนอากาศ บนพื้นในบริเวณสนามบินด้วย นอกจากจะทำการจัดการด้านการจราจรเพื่อจัดลำดับให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพแล้วยังต้องทำการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการชนกันระหว่างเครื่องบินด้วยกันเองและระหว่างเครื่องบินและสิ่งกีดขวางต่าง ๆ (obstruction)

ATM

Air Traffic Management คำนี้จะกว้างกว่าคำว่า ATC เป็นการบริหารจัดการรวมทั้ง การจราจรทางอากาศและการบริหารห้วงอากาศ (airspace) เพื่อที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการจราจรทั้งบนอากาศและภาคพื้น กล่าวคือเป็นการบริหารจัดการ 3 ส่วนด้วยกันคือ airspace management, air traffic flow and capacity management และ air traffic control

ATS

Air Traffic Service เป็นคำกว้าง ๆ ที่หมายถึง การให้ข่าวสารข้อมูลทางการบิน (flight information service) การแจ้งเตือนต่าง ๆ ในการบิน (alerting service) การให้คำแนะนำ ข้อมูลการจราจรทางอากาศต่าง ๆ (air traffic advisory service) รวมถึงการบริการและควบคุมการจราจรทางอากาศทุกรูปแบบ (air traffic control service)

Aural Warnings 

ระบบเสียงเตือนต่าง ๆ บนเครื่องบิน บางทีอาจเป็นเสียงกระตุ้น หรือเสียงเตือนความจำ หรือเตือนให้สนใจว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ หรือแม้แต่เป็นคำพูดออกมาเลยก็ได้ อย่างเช่น Terrrain-Terrain, Sink Rate, Whoop Whoop Pull-up, Too Low Gear, 1,000, 500, 50, 40, 30, 20, 10 แบบนี้ เป็นต้น

Autopilot

ระบบความคุมการบินอัตโนมัติ ต้องใส่ในวงเล็บเพิ่มเติมว่า (ตามที่นักบินสั่ง) ระบบ autopilot นั้นจะทำการบินอัตโนมัติตามที่ได้มีการสั่งงานเอาไว้ผ่าน Flight Management System (FMS) และ Mode Control Panel (MCP) 

Autobrake

เป็นระบบเบรกอัตโนมัติซึ่งจะทำงานในทันทีที่เงื่อนไขครบ เช่น ช่วงที่ร่อนลงจอดต้องรอน้ำหนักของเครื่องบินกดลงบนล้อก่อนที่จะสั่งให้เบรกจะทำงาน โดยมีการเลือกระดับความแรงของการเบรก จริง ๆ ควรเรียกว่า ระดับในการลดความเร็วของเครื่องบิน (deceleration rate) ซึ่งมักจะมีมากว่า 3 ระดับ เช่น min, med, max หรือ 1,2,3,RTO คำว่า RTO ย่อมาจาก Rejected Takeoff Brake ซึ่งจะใช้งานโหมดนี้ในช่วงที่วิ่งขึ้นจากสนามบิน (takeoff) และจำเป็นต้องหยุดเครื่องบินไม่ไปต่อ เราเรียกว่า aborted takeoff หรือ rejected takeoff ความหมายเดียวกันคือ เครื่องบินวิ่ง ๆ ไปบนสนามบินแล้ว แต่ไม่ปลอดภัยที่จะบินขึ้นจึงตัดสินใจยกเลิก กรณีแบบนี้ต้องใช้เบรก RTO ซึ่งคือ max นั่นเอง (อ่านรายละเอียดใน A Pilot เล่มแรกครับ)

Avionics 

คำว่า avionics เป็นการผสมคำกันระหว่าง aviation กับ electronic 

avionics จึงหมายถึง อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการบิน ไม่ว่าจะเป็น วิทยุสื่อสาร หรือ ระบบนำร่องและจอภาพต่าง ๆ ที่ใช้แสดงผลในห้องนักบิน avionics system นั้นมีความสำคัญต่อการบินในเครื่องบินปัจจุบันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ล้วนติดตั้ง avionics เอาไว้ทั้งนั้น เพราะระบบไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ต่าง ๆ นั้นเข้ามามีส่วนในการบินค่อนข้างเกือบ ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยิ่งเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ค่อนข้างมาก ระบบการประมวลผลและการแปลเพื่อแสดงผลลัพธ์ต่าง ๆ บนจอภาพ ล้วนเป็น avionics system ทั้งสิ้น

นอกจากนั้นคำว่า avionics system ยังหมายถึง box หรือ ตัว controller ต่าง ๆ ที่เก็บอยู่ในห้องเก็บที่ส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ห้องนักบิน

Avionic compartment Airbus A350

AVSEC

เป็นคำย่อมาจากคำเต็มว่า Aviation Security ซึ่งหมายถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบิน ตั้งแต่การตรวจเช็คผู้โดยสารและสัมภาระในการเดินทาง คลังสินค้า ครัวการบิน บริเวณต่าง ๆ ภายในอาคารและพื้นที่การบินทั้งหมด

หนังสือนักบินมีทั้งหมด 5 เล่ม

สั่งซื้อหนังสือผ่าน shopee https://shopee.co.th/apilotbook

https://youtu.be/hHQwYTxaN_A

ติดตาม A Pilot Club ได้ทาง
ยูทูปช่อง Captain Sopon https://www.youtube.com/c/SoponPhikanesuan
เฟสบุ๊ค https://wwwfacebook.com/apilotbook
เว็บไซต์ http://www.apilotclub.com/
เป็นเพื่อนกับเราทางไลน์ออฟฟิศเชียล https://lin.ee/BQyGDbK
ซื้อหนังสือ A Pilot Book ได้ที่ https://shopee.co.th/apilotbook

Comments are closed
0
0