Airmanship ฉบับโสภณ

Airmanship ฉบับโสภณ

คำว่า Airmanship แปลตามพจนานุกรม หมายถึง ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และวิธีการทำงานที่ทำให้การควบคุมเครื่องบินมีความปลอดภัย อันนี้ผมพยายามแปลตรง ๆ ดู ตามหนังสือเขาว่าไว้ว่า Airmanship ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ ทักษะในการทำงานและรวมถึงความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบิน (Skill) ความเชี่ยวชาญหรือประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงความสามารถในการนำความรู้ไปใช้งาน (Proficiency) และความมีระเบียบวินัยในการปฏิบัติงาน (Discipline)

ผมว่าเขียนตามหลักวิชามันน่าเบื่อ เหมือนเอาหนังสือมาแปลให้อ่าน เขียนตามความเข้าใจและที่อยากให้คนอ่านเข้าใจดีกว่า (ว่าแล้วก็ปิดตำรา และมาต่อกันที่ความเข้าใจส่วนตัวละกันครับ) ถ้าจะให้อธิบายความหมายจากความรู้สึกส่วนตัวจริง ๆ ไม่อิงตำราหรือหนังสือที่ไหน

Airmanship ผมขอแปลว่า 

“กึ๋น”

ครับ สั้น ๆ เลย Airmanship มันคือ กึ๋นในการทำงานของนักบิน มันเป็นตัวบอกว่า นักบินคนนั้น เป็นนักบินที่ดีหรือไม่ มีการทำงานที่มีช่องโหว่แห่งอุบัติเหตุหรือไม่ จริง ๆ การบินเป็นอะไรที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ถ้ารู้และเข้าใจ รวมทั้งรู้ศักยภาพของตัวเองด้วย (อันสุดท้ายนี่สำคัญมาก) การบินเพื่อให้ทุก ๆ เวลามีความเสี่ยงภัยน้อยที่สุด หรือลดดีกรีความรุนแรงของปัญหาให้เร็วที่สุดและมากที่สุด การบินเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และมีความซับซ้อนมากที่สุดเช่นกัน โดยเฉพาะกับนักบินที่ยังขาด Airmanship ที่ดี และอีกพวกคือพวกที่มีความมั่นใจไร้สติ (Overconfidence) พวกนี้มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุมากที่สุด เพราะอาจจะทำอะไรที่เป็นการแหกกฏ โดยรู้อยู่แก่ใจ หรือบางกรณีคือ ไม่รู้ (โง่) แต่ก็ยังทำลงไปได้เพราะมั่นใจว่าฉันทำได้

การรู้น้อย ไม่ผิดครับ แต่รู้น้อยแล้วดันทะลึ่งไม่ยอมรับสภาพตัวเอง อันนี้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นมากทันที การบิน เป็นเรื่องของการตัดสินใจในการทำงาน การตัดสินใจในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือ การตัดสินใจที่จะพาตัวเองออกจากปัญหา การยอมรับปัญหาด้วยการ terminate mission นั้น ๆ ซะ 

ตรงนี้สำคัญ

ไม่ใช่ว่าปัญหาเดียวกัน นักบินทุกคนจะสามารถแก้ได้ในแนวทางเดียวกันเป๊ะ ๆ เพราะการบินยังมี Human เป็นองค์ประกอบ Human factor คือ ความไม่แน่นอนที่สุดของการบิน เพราะมีเหตุและปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลายชนิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น จงอย่าแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ทำตาม ๆ กันมาเพียงอย่างเดียว เราต้องดูด้วยว่า ทักษะและประสบการณ์ของเราและเพื่อนร่วมงานของเรานั้น มีมากพอที่จะรับมือกับปัญหานั้นได้มากแค่ไหน 

อย่าคิดแค่ว่า คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ

การรู้จักประสิทธิภาพของตัวเองนี้คือหัวใจของการตัดสินใจในการแก้ปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการบิน การบินพาณิชย์ใช้นักบินมากกว่าหนึ่งคนเสมอ การเข้าใจศักยภาพของตนเองและเพื่อนร่วมงานหมายถึงความเข้าใจศักยภาพที่มีอยู่ขณะนั้น จึงมีความสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาให้ลุล่วง เหตุการณ์เดียวกัน ด้วยสิ่งแวดล้อมเหมือน ๆ กัน นักบินคนเดิมก็ยังอาจจะแก้ไขได้ไม่ดีเท่าเดิม ต่อให้เป็นนักบินคู่เดิมก็ตาม

เพราะนักบินก็คือ Human อาจจะมีวันนั้นของเดือนพอดี (วันที่ทะเลาะกับแฟน ญาติป่วย ฯลฯ) นักบินจึงควรต้องแยกประเด็นปัญหาส่วนตัวทั้งหมด ทุก ๆ เรื่องออกไป ทุกครั้งที่เริ่มต้นนั่งทำงานบนที่นั่งนักบิน เมื่อเกิดความไม่สบายใจ และมีความกังวลอยู่เบื้องหลัง ให้ลาพัก-ลาป่วยเสียดีกว่าที่จะมาบินหรือมาทำงานโดยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพเพราะความกังวลใจ เราไม่รู้หรอกว่า วันนี้จะเป็นวันที่ดี หรือเป็นวันที่มีอะไรไม่ดีรออยู่ข้างหน้าหรือเปล่า การที่จะเอาตัวให้รอดในสถานการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการบิน นักบินจึงจำเป็นต้องรู้และเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการบินให้ลึกซึ้งและถ่องแท้ เพราะการเข้าใจแบบงู ๆ ปลา ๆ จะพาคนอื่นเขาเดือดร้อนไปด้วย เวลาที่เกิดอะไรขึ้นมา เราก็จะไม่ตกอกตกใจ เพราะเหตุการณ์ทั้งหลายล้วนมีหนทางแก้ไข และแน่นอน หากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด แบบว่า ไม่เคยฝันถึงมาก่อนเลย ก็อาจจะตกใจได้บ้าง แต่อย่าตกใจนานเกินไป (Freeze) เราควรเอาเวลาที่มีค่าเหล่านั้นไปคิดทบทวนต่อไปว่า อะไรจะเกิดขึ้นได้อีก จะทำอะไรต่อหลังจากนี้ มีทางเลือกสำหรับปัญหานี้กี่แนวทาง ฯลฯ

panic control จึงเป็นคำที่เหมาะสมคำหนึ่งที่ควรบัญญัติไว้เป็นคุณสมบัติที่ดีที่นักบินพึงมี ตราบใดที่เครื่องบินลอยอยู่บนอากาศ เครื่องบินมันยังไปข้างหน้าเสมอ เราจึงต้องคิดไปข้างหน้าตลอดเวลาด้วย ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ข้างหลังก็รอรับชะตากรรมไปกับเราด้วย

การฝึกฝนนักบิน จึงเน้นไปที่การให้ได้รับประสบการณ์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เท่าที่สามารถสร้างเหตุการณ์จำลองขึ้นได้ในเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) เพื่อให้นักบินมีความคุ้นเคยกับสถานการณ์ฉุกเฉินในหลาย ๆ รูปแบบ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้และเพื่อให้นักบินมั่นใจในศักยภาพของตนเอง (หรือเข้าใจในศักยภาพที่ตนเองมี)

เอาเป็นว่า Airmanship สำหรับผม คือ สัญชาตญาณในการเอาตัวรอด การระแวดระวังภัย การคิดวางแผนและคำนึงถึงโอกาสของปัญหาที่จะมีตามมา และรวมถึงการยอมรับความเสี่ยงที่เกิดจากข้อบกพร่องทางเทคนิคบางอย่างรวมถึงความพร้อมที่จะรับมือกับปัญหานั้นด้วยศักยภาพที่มีอยู่ของทีมงาน ณ ขณะนั้น (ซึ่งรวมถึงลูกเรือทุกคนบนไฟล์ทด้วย)

“นักบินที่ตระหนักว่าไม่รู้ จะไม่กล้าเสี่ยง” 

มี Airmanship ดีกว่าพวกที่ “ไม่รู้แต่คิดว่าตัวเองรู้และคิดที่จะทำเพราะไม่รู้ว่ามันมีความเสี่ยงที่ตนเองไม่รู้”

Tags:

Comments are closed
0
0