กระจกห้องนักบิน และกระจกหน้าต่างผู้โดยสารมีความแข็งแรงแค่ไหนถึงสามารถรับแรงดันอากาศระหว่างการบินได้ (คุณสมบัติพิเศษของกระจก)
กระจกห้องนักบินกับกระจกหน้าต่างของผู้โดยสารนั้นมีความแข็งแรงมากเพียงพอที่จะรับแรงดันที่แตกต่างระหว่างภายในและภายนอก
เมื่อเครื่องบินมีเพดานบินสูงขึ้นเรื่อย ๆ ความดันอากาศภายในห้องโดยสารจะมีมากกว่าความดันอากาศภายนอกกระจกหน้าต่างจึงต้องออกแบบมาให้มีความหนาและเหนียวเพื่อให้มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะทนสภาวะอากาศที่เย็นจัดเมื่อบินอยู่ในที่สูง ๆ กระจกหน้าต่างของผู้โดยสารจะมีส่วนที่เป็นสองชั้นแยกกัน
ด้านนอกเป็นส่วนของกระจกที่จะยึดติดกับโครงสร้างลำตัวของเครื่องบินนั้นจะมีความแข็งแรงและทนสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงคือ ทนความร้อนและยังคงมีความยืดหยุ่นเมื่ออยู่ในสภาพที่เย็นจัด อีกทั้งยังมีส่วนที่เป็นกระจกอีกหนึ่งชั้นส่วนที่อยู่ภายในห้องโดยสารเป็นส่วนที่ใช้ป้องกันภายในห้องโดยสารหากกระจกด้านนอกเกิดแตก เศษกระจกจะได้ไม่เข้ามาทำอันตรายภายในห้องโดยสาร และระหว่างกระจกด้านนอกและด้านในนั้นคือช่องว่างที่เป็นส่วนที่มีการหมุนเวียนเพื่อระบายอากาศตลอดลำตัวของเครื่องบิน
ส่วนกระจกภายในห้องนักบินนั้นจะมีความพิเศษเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย นอกจากจะต้องมีความแข็งแรงมากกว่าแล้ว ยังจะต้องมีการเพิ่มส่วนของกระจกที่มีการสร้างความร้อนภายในกระจกเข้าไปอีกชั้นหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำแข็งเกาะหรือเป็นฝ้า เพราะนักบินจะต้องใช้ในการมองสภาพภายนอกในระหว่างทำการบินด้วย
และยังมีการเคลือบสารป้องกันการเกาะของฝ้าหรือไอน้ำเข้าไปด้วย กระจกห้องนักบินมีที่ปัดน้ำฝนด้วยนะครับ เพราะว่าเวลาฝนตกหนัก ๆ ตอนที่จะลงสนามนั้นจำเป็นต้องพยายามเพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็นด้านนอกให้แก่นักบิน กระจกภายในห้องโดยสารจึงแตกต่างจากกระจกในห้องนักบินตรงส่วนนี้ครับ