Air Turn Back

Air Turn Back


คำว่า Air Turn Back เป็นศัพท์เฉพาะทางการบิน หมายถึง การที่เครื่องบินบินขึ้นไปได้สักพักแล้วมีเหตุจำเป็นต้องกลับมาลงที่สนามบินต้นทางที่วิ่งขึ้น แล้วสาเหตุอะไรบ้างล่ะที่นักบินคิดว่า สมควรกลับไปลงที่สนามบินต้นทางที่เราบินขึ้นมา

สาเหตุของ Air Turn Back นั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเหตุการฉุกเฉินที่มีอันตรายเสมอไปครับ บางครั้ง (ส่วนใหญ่) เป็นเหตุการณ์ที่มีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นกับระบบใดระบบหนึ่งของเครื่องบินที่นักบินวินิจฉัยแล้วว่า การทำการบินไปต่ออาจก่อความยุ่งยากและลำบากในการควบคุมมากขึ้น หรือ ไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้ โดยเฉพาะเมื่อความผิดปกตินั้นมีความเกี่ยวข้องกับการสิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้นในระหว่างทำการบิน หรือทำให้เกิดความขัดข้องของระบบควมคุมอื่นๆ ที่จะทำให้การบริหารจัดการมีความยุ่งยากหรืออาจจะควบคุมไม่ได้ในเวลาต่อมา

การ continue flight หรือ discontinue flight นั้นจึงมีปัจจัยที่นักบินต้องคำนึงถึงหลายประการครับ การวิเคราะห์ปัญหาว่า เป็นปัญหาที่มีความฉุกเฉินหรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักบินต้องทำการวินิจฉัย และหาข้อสรุปภายในเวลาสั้น ๆ เพื่อทำการตัดสินใจในการแก้ปัญหา ประสบการณ์การบินจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับความรู้เกี่ยวกับระบบต่าง ๆ ของเครื่องบินที่เราบินอยู่

การที่เที่ยวบินใดเที่ยวบินหนึ่ง ต้องกลับมาลงที่สนามบินต้นทาง (Air Turn Back) นั้นอย่างที่เขียนไปข้างต้นแล้วว่า อาจจะไม่ใช่เหตุฉุกเฉินเสมอไป แต่เป็นเรื่องการไม่สามารถทำการบินต่อไปถึงที่หมายได้ แต่แน่นอนที่สุดถ้าเป็นเรื่องฉุกเฉิน (Emergency) หลังจากที่เพิ่งวิ่งขึ้นจากสนามบินนั้น ก็อาจจะต้องหาสนามบินลงอย่างเร็วที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ใช่สนามบินที่เพิ่งวิ่งขึ้นก็ได้ การที่นักบินจะตัดสินใจว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น เป็น emergency หรือไม่ เป็นเรื่องที่นักบิน ใหม่ ๆ อาจจะตัดสินใจไม่ถูก หรือ คิดไม่ทัน แต่เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น จะเข้าใจเองว่า ถ้าเมื่อเครื่องบินลอยสู่อากาศแล้วนั้น ให้พิจารณาโดยยึดหลัก Airworthiness เป็นสำคัญ คำนี้มีความหมายที่ลึกซึ้ง
 

“Airworthiness คือ ความสมบูรณ์พร้อมที่เครื่องบิน

จะลอยอยู่บนอากาศได้อย่างปลอดภัย”

ดังนั้น หากเกิดปัญหาทางเทคนิคของเครื่องบิน ไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ให้นักบินทุกคนคิดว่า เครื่องบินของเรานั้นยังมี airworthiness อยู่หรือไม่ 

ถ้าสถานการณ์เป็น un-airworthiness 

ต้องถือว่าเป็นความฉุกเฉินที่จำเป็นต้องนำเครื่องบินไปลงสนามบินให้เร็วที่สุด

ผู้โดยสารหรือนักบิน-ลูกเรือป่วยหนัก ก็เป็นเหตุฉุกเฉินที่ไม่เกี่ยวกับ airworthiness อ่านแล้วอย่างงนะครับ เพราะเป็นสองกรณีที่มีความเกี่ยวพันกัน ประสบการณ์ส่วนตัวผมเองเมื่อไม่นานนี้เอง ก็มีความจำเป็นที่ต้องทำ Air Turn Back แต่ไม่ใช่ emergency situation

เพราะเครื่องบินยังมี airworthiness แต่เป็น airworthiness ที่มีข้อจำกัดของการบิน คือบินสูง บินเร็วไม่ได้ ดังนั้นการจะเดินทางต่อไปให้ถึงที่หมายจึงถูกจำกัดด้วย เพดานบิน และการที่ต้องผ่านเทือกเขาสูง ปัจจัยด้านความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้ จึงมีความเหมาะสมและปลอดภัยกว่า ด้วยการกลับไปลงสนามและให้ช่างแก้ไข (กรณีของผมนั้น เปลี่ยนเครื่องบินลำใหม่แล้วเดินทางต่อ)

ระหว่างที่เครื่องบินของเรามีปัญหา ผมก็ได้ชี้แจงปัญหาให้แก่ผู้โดยสารได้รับทราบเป็นระยะ เพื่อบอกให้รู้ว่า ต่อไปจะทำอะไร เพื่อให้ผู้โดยสารไม่ต้องเป็นกังวล และอุ่นใจขึ้นที่ได้ยินเสียงจากนักบิน

“please sit back and relax, 

we will do our best for yours safety”

จบประโยคนี้ มีผู้โดยสารขอเปลี่ยนหูฟังที่เสียอยู่เพื่อขอฟังเพลง กัปตันบอกให้ relax ต้องฟังเพลง อันนี้หัวหน้าลูกเรือมาเล่าให้ฟัง 

การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ภาคพื้น ฝ่ายช่าง และหอบังคับการบิน คือ ความสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาและการ เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น กรณี Air Turn Back นั้น ทางสนามบินจะได้รับข้อมูลจากนักบินว่าต้องการขอให้เตรียมการสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

กว่าจะกลับไปลงที่สนามบินได้ใช้เวลาประมาณ 90 กว่านาที เพราะกรณีของผมต้องมีการ dump น้ำมันเชื้อเพลิงทิ้งไป เพื่อลดน้ำหนักตัวของเครื่องบินให้อยู่ในน้ำหนักสูงสุดสำหรับการร่อนลงจอด (Max Landing Weight) หลังจากเครื่องลงจอดเรียบร้อยแล้ว  ผมก็ลงไปส่งผู้โดยสารที่ประตูทางออก
เพื่อขอโทษอย่างเป็นทางการที่ทุกคนต้องเสียเวลาการเดินทางเพิ่มขึ้น แบบว่าใจดีสู้เสือ ถ้าจะถูกด่าก็จะรับฟัง แต่สิ่งที่ผมได้รับกลับมานั้น ผมได้รับแต่คำว่า 

“ขอบคุณ” 

“ขอบคุณ” และ
“ขอบคุณที่พาพวกเรากลับมาลงอย่างปลอดภัย”

“กัปตันลงนิ่มมาก ๆ”

ผู้โดยสารหลายคน ยื่นมือมาขอจับมือด้วย และกล่าวคำขอบคุณด้วยแววตาที่จริงใจมาก แม้แต่เด็ก ๆ ยังยื่นมือมา “Give me Five” และมีผู้โดยสารท่านหนึ่ง เดินปรี่มาที่ผม แล้วตะโกนเสียงดังว่า “คุณคือกัปตันที่บินใช่ไหม”

ผมตอบกลับไปว่า “ใช่ครับ”

แล้วผู้โดยสารท่านนั่นก็ถอดผ้าพันคอที่สวมอยู่มาสวมให้ผม ผมแอบได้ยินเสียงปรบมือจากลูกเรือในจังหวะนั้น
แถมพูดภาษาอังกฤษรัว ๆ ขอบอกขอบใจ ผมก็ได้แต่บอกว่า เราพยายามทำอย่างดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยของทุก ๆ คน

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะบอกอีกครั้งครับ จริง ๆ ผมกล่าวไปแล้วบนไฟล์ทแต่อยากบอกตรงนี้อีกทีครับว่า ต้องขอบคุณนักบินอีกสองท่านที่ร่วมทำงานหนักตลอดเวลาที่เราต้องแก้ปัญหาในขณะนั้น ต้องขอบคุณพนักงานต้อนรับทุกคนบนไฟล์ทที่ช่วยกันดูแลและทำความเข้าใจให้กับผู้โดยสารรวมถึงเจ้าหน้าที่ภาคพื้นทุกคนที่ดูแลผู้โดยสารระหว่างเปลี่ยนเครื่องบินลำใหม่

ขอบคุณเจ้าหน้าที่หอบังคับการบินที่อำนวยความสะดวกและประสานงานเพื่อเตรียมการหากเกิดกรณีฉุกเฉินที่ไม่คาดหมายเป็นการประสานงานที่ยอดเยี่ยมครับ สรุปแล้วผู้โดยสารทั้ง 360 กว่าคนเดินทางต่อ(ด้วยเครื่องบินลำใหม่) เราเดินทางต่อถึงที่หมายช้าไปเกือบสี่ชั่วโมง ถึงที่หมายช้าหน่อย แต่ปลอดภัยดีกว่านะครับ

การบิน เป็นการทำงานหลายส่วนหลายหน่วยงาน ไม่ใช่นักบินเท่านั้นที่จะทำทุกอย่างได้เองทั้งหมด การประสานงานระหว่างหน่วยงานคือ หัวใจในการทำให้การเดินทางมีความราบรื่นและปลอดภัย

Tags:

Comments are closed
0
0