ไปไกล ๆ

ไปไกล ๆ

ไม่ได้จะไล่ใครให้ไปไหนไกล ๆ หรอกครับ แต่ชีวิตนักบินมักเป็นการเดินทางไกลอยู่เสมอ ใกล้หน่อยก็ภายในประเทศ แต่ก็ถือว่าไกลอยู่ดีถ้าเทียบกับการเดินทางแบบอื่น การบินในประเทศ ภาษาชาวการบิน เรียกว่า Domestic Flight

ถ้าไปไกลหน่อยก็ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคเดียวกันกับประเทศไทย เราเรียกเที่ยวบินประเภทนี้ว่า Regional Flight (Region แปลว่า บริเวณ
ส่วน,แถบ,ดินแดน,แคว้น,ภูมิภาค,เขตการปกครอง,ขอบเขต,
ปริมณฑล) regional flight รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย อย่าง เมืองย่างกุ้ง อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ มากกว่า เชียงใหม่ ภูเก็ต แต่ถือเป็นเที่ยวบินต่างประเทศ เป็น regional flight ครับ

ถ้าไปไกล ๆ เลย ข้ามน้ำ ข้ามทะเล ข้ามทวีป เราเรียกว่า Inter-Continental Flight หรือสั้น ๆ ก็ Inter-Con Flight การแบ่งการเรียกเที่ยวบินแบบข้างต้นนั้น เป็นการแบ่งแบบการใช้ภูมิภาคเป็นตัวกำหนด แต่ถ้าแบ่งโดยใช้ระยะเวลาที่ทำการบินมาเป็นเกณฑ์ จะเรียกเป็น Short-Haul, Medium- Haul และ Long-Haul Flight ครับ (ตอนหลังมี Ultra Long-Haul อีก) หลักเกณฑ์ในการกำหนด short, medium หรือ long haul นั้น อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสายการบิน เพราะไม่ได้มีคนกำหนดไว้ชัดเจนนัก เราจำกันคร่าว ๆ ละกันครับ

Short-haul หมายถึง ชม.บินน้อยกว่า 3 ชม. กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กับ กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง เป็น short haul flight เหมือนๆกัน

Medium-haul 3-6 ชม. 

Long-haul ก็ 6-12 ชม.

Ultra Long-haul คือ มากกว่า 12 ชม. เป็นการบินต่อเนื่องโดยไม่แวะพักนะครับจึงจะเรียกว่า Long-haul หรือ Ultra Long Haul ถ้าแวะพักไปเรื่อยๆ สองที่ สามที่ กว่าจะถึงที่หมาย ใช้เวลา 30 ชม. อย่างนั้นเค้าเรียกว่า “ultra-man haul” ครับ
(ผมบัญญัติคำเล่น ๆ นะครับ)

การบินจากกรุงเทพฯ ไป ยุโรป ใช้เวลาประมาณ 10-13 ชั่วโมง เราก็เรียกรวม ๆ ว่าเป็น Long-Haul Flight แต่ถ้าเที่ยวบินที่มันไกล ชัด ๆ คือบินกี่ทีกี่ทีก็ต้องมากกว่า 12 ชั่วโมง มันคือ Ultra Long Haul Flight อย่าง กรุงเทพฯ-นิวยอร์ค กรุงเทพฯ-ลอสแองเจลีส ที่ปิดเส้นทางไปแล้วทั้งคู่

การบินปกติ จะใช้นักบินในการบังคับเครื่องบินเพียงสองคน แต่หากเป็นการบินตั้งแต่ medium-haul ไป โดยเป็นการบินในตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ก็จะมีการเพิ่มนักบินอีกหนึ่งคน อันนี้เป็นไปตามข้อกำหนดกฏหมายและข้อปฏิบัติของสายการบินเอง

การบิน Long Haul Flight จะใช้นักบิน 3-4 คน เพื่อสลับสับเปลื่ยนตำแหน่งกันไปพัก นั่งสองคน พักสองคน สลับกันไปทีละ 2:00-2:30 ชั่วโมงจนถึงที่หมาย 

เที่ยวบินที่ออกเดินทางเวลากลางคืน มีความจำเป็นที่ต้องใช้นักบินเพิ่ม เพื่อลดความเหนื่อยล้าในการทำงาน ข้อกำหนดนี้เป็นกฏหมายบังคับเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติการบินเป็นเรื่องสำคัญที่นานาประเทศให้ความสำคัญมากเพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร

นักบินที่เพิ่มขึ้นมานั้นทางการบินเราเรียกว่า reinforcement pilot หรือ augmented flight crew ในส่วนของลูกเรือก็มีข้อกำหนดของการเพิ่มจำนวนระหว่างทำการบินระยะไกลเหมือนกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็น medium หรือ long-haul เมื่อบินไปถึงที่หมายแล้ว ก็จะต้องให้ทุกคนได้พักผ่อนตามข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาในการพักผ่อนก่อนที่จะสามารถทำการบินได้ใหม่อีกครั้ง ส่วนระยะเวลาว่า ต้องพักผ่อนอย่างน้อยกี่ชั่วโมง ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติงานมาด้วย รายละเอียดมากมายครับ รวมทั้งมีการพิจารณาถึง ความแตกต่างเวลาท้องถิ่นของสถานที่จากจุดเริ่มต้นการเดินทางกับที่หมายของการเดินทางด้วย เช่น

บินจากกรุงเทพฯ ไป Copenhagen 

ช่วงของเวลาท้องถิ่นมีความแตกต่างกันมีถึง 6 ชั่วโมง (Time Zone Different) 

การพักผ่อนนอนหลับขณะที่อยู่โคเปนเฮเกน อาจเป็นปัญหาถ้าต้องนอนในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเป็นตอนกลางวัน หรืออาจตื่นกลางดึกและนอนไม่หลับในช่วงเวลากลางคืนของเวลาที่นั่น โดยเฉพาะเมื่อ จุดเริ่มต้นกับที่หมายปลายทางมี Time Zone Different ต่างกันเกินกว่า 3 ชั่วโมง หรือประเทศที่มีเวลาแตกต่างจากประเทศไทยมาก ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา เวลาอาจจะแตกต่างกันถึง 14 ชม. จะทำให้ นาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) ของร่างกายเริ่มมีความแปรปรวน

กฏหมายจึงกำหนดกฏเกณฑ์ในการบังคับให้มีการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ลูกเรือมีโอกาสในการปรับตัว ปรับเวลาก่อนที่จะทำงานกลับมาได้ ไม่ให้บริษัทบีบบังคับให้ทำงานเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด หรือใช้ความรู้สึกส่วนตัวว่า ไม่เหนื่อยล้า แล้วทำการบินโดยไม่พักผ่อนให้เพียงพอ จึงมีกฏหมายที่บังคับให้ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เวลาผิดกฏข้อบังคับทางการบิน มักเป็น คดีอาญา เป็นส่วนใหญ่ 

“เพราะนักบินไม่ได้รับผิดชอบชีวิตของตัวเองคนเดียว”

Tags:

Comments are closed
0
0