“ใคร ๆ ก็บินได้ จริงๆ”

“ใคร ๆ ก็บินได้ จริงๆ”

มองในแง่ของมุมมองที่เป็นนักบินแบบตรงไปตรงมาครับ ไม่ใช่เพื่อเชิดชูหรือยกย่องนักบินด้วยกัน เพราะว่าตัวเองเป็นนักบิน มาลองคิดตามผมเล่นๆ กันครับ ในระยะ 20-30 ปีมานี้มนุษย์สามารถพัฒนาวิทยาการด้านการบินก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านของอุปกรณ์อำนวยการบินซึ่งช่วยเพิ่มเติมประสิทธิภาพในการบินนั้นถูกติดตั้งเพิ่มเข้าไปมากมายหลายชนิด อุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้การปฏิบัติการบินมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นที่ความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและแน่นอนที่สุดคือเพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง รวมทั้งแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตัวอย่างระบบต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น อาทิเช่น

– เทคโนโลยีด้านดาวเทียมที่ใช้เพื่อระบุตำแหน่ง (GPS หรือ Global Positioning System)

– ระบบเพิ่มความแม่นยำในการลงสู่พื้นที่ติดตั้งอยู่ที่สนามบิน (ILS,MLS,RNAV,GBAS,LAAS,WAAS,etc.)

– ระบบต่าง ๆ บนเครื่องบินที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองการพัฒนาในการเพิ่มสมรรถนะด้านความเที่ยงตรงและแม่นยำในการเดินอากาศ หรือเพิ่มความสามารถในการติดต่อสื่อสารระหว่างภาคพื้นกับเครื่องบินบนอากาศ (Future Air Navigation, Datalink, CPDLC, ADS-B, HUD, EVS, )

– ระบบการควบคุมและการบังคับเครื่องบินอัตโนมัติและเครื่องช่วยการเดินอากาศที่พัฒนาให้ตอบสนองกับผู้ใช้งานในการตีความหมายและการควบคุมการบังคับที่ง่ายและว่องไวมากขึ้น (Enhanced Autoflight system, Flight Management system, Flight Mode Annunciation, Flight Information Displays etc.)

 – การพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ บนเครื่องบินให้มีความทนทานเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง การประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง (Aircraft Performance, Power-plant and Airframe technology) เป็นต้น

Airbus A300-600 ของบริษัท การบินไทย ปัจจุบันปลดประจำการไปหมดแล้ว

หมายเหตุ: เครื่องยนต์เครื่องบินนั้นทางการบินพาณิชย์เราเรียกรวม ๆ ว่า Power-plant เพราะหมายรวมถึง aircraft engine และระบบส่งกำลังอื่น ๆ ที่ใช้เครื่องยนต์เป็นตัวเชื่อมในการผลิตพลังงานนั้น ๆ เช่น ระบบผ่อนกำลังในการบังคับเครื่องบิน (Hydraulics system) ระบบส่งกำลังลมเพื่อใช้ในการปรับอุณหภูมิและความดันอากาศ (Air-conditioning, Pressurization) รวมทั้งระบบส่งกำลังลมเพื่อสนับสนุนการบังคับเครื่องบินบางส่วน (Pneumatics systems) ระบบต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นถูกผลิตขึ้นมาจากกลไกที่เชื่อมต่อกับการหมุนของใบพัดภายในเครื่องยนต์ 

ปัจจุบันเราทุกคนก็คงทราบว่า เทคโนโลยีได้ถูกพัฒนามาจนสุดแสนที่จะล้ำยุค มนุษย์สามารถสร้างเครื่องบินที่สามารถบินไปได้ไกลๆ โดยไม่ต้องมีคนขับ ให้คนบังคับนั่งควบคุมอยู่ในห้องแลปที่เป็นคอนโซลเหมือนตู้เล่นเกมส์แบบที่เราเห็นในหนัง หรือ ที่หลายๆคนอาจจะคุ้นหู กับคำว่า โดรน (Drone อากาศยานไร้คนขับ)

ซึ่งในอีกไม่กี่ปีจากนี้ Amazon จะใช้ Drone เพื่อจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าออนไลน์ถึงประตูหน้าบ้านเลยทีเดียว ติดอยู่แค่ว่า 

กฏหมายสำหรับการจราจรทางอากาศที่ยังไม่ได้ระบุกฎระเบียบและกติกา ที่รองรับการขนส่งของด้วยอากาศยานไร้คนขับอย่างโดรนที่ผมพูดถึง Amazon พยายามอย่างหนักที่จะผลักดันกฏหมายนี้ในอเมริกา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการส่งสินค้า (ปัจจุบันหลายประเทศได้ออกกฏหมายเพื่อการอนุญาตและไม่อนุญาตให้ใช้โดรนในบางพื้นที่แล้ว)

ถามว่า?

คุณยอมให้โดรนหิ้วคุณจากบางกะปิไปสยามไหมล่ะ

ผมคนหนึ่งละขอเดินไปดีกว่า ช้าหน่อยแต่ไปถึงแน่ๆ แต่ในอนาคตล่ะ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นไปได้ หากมีการพัฒนาด้านความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นแต่ผมรับประกันว่ากับการขนส่งคนด้วยอากาศยานไร้คนขับนั้น จะยังไม่เกิดขึ้นในอีกอย่างน้อย 10 ปีจากนี้ ยิ่งถ้าเป็นการขนส่งมวลชนทางอากาศแบบสายการบินพาณิชย์ด้วยแล้ว อีก 20 ปีค่อยมาคุยกัน เอาแค่ว่าให้เหลือนักบินคนเดียวนั่งขับเครื่องบินบนอากาศและนำเครื่องขึ้นลงสนามโดยมีผู้โดยสาร อีก 400-500 คนบนเครื่อง ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้เลยครับ

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2557 หลายๆคนอาจได้ยินข่าวที่นักบินของสายการบินต้นทุนต่ำสายการบินหนึ่งหมดสติกลางอากาศ แล้วกัปตันรีบนำเครื่องบินไปลงที่สนามบินหาดใหญ่ ไม่ใช่ว่ากัปตันรีบลงที่หาดใหญ่เพราะจะรีบรักษาชีวิตของนักบินท่านนั้นอย่างเดียว แต่เพราะว่าเครื่องบินไม่เหมาะสมที่จะบินอยู่บนอากาศด้วยนักบินเพียงคนเดียวครับ ถึงแม้ว่านักบินจะตายไปแล้ว (ในเหตุการณ์จริง นักบินแค่หมดสติ ยังไม่ตาย) กัปตันก็จำเป็นต้องรีบนำเครื่องบินลงที่สนามบินที่ใกล้เคียงและเหมาะสมที่สุดสำหรับเครื่องบินแบบนั้นๆ เพื่อป้องกันปัญหาด้านเทคนิคอย่างอื่นที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งนักบินจะไม่สามารถที่จะจัดการปัญหานั้นได้ด้วยนักบินแค่เพียงคนเดียว

ถามว่า “แล้วทำไมบริษัทผลิตเครื่องบิน ไม่ทำให้เครื่องบินบินได้ด้วยการบังคับของนักบินเพียงคนเดียว”

ครับ ในสถานการณ์ปกติ นักบินเพียงคนเดียวสามารถบังคับเครื่องบินได้อย่างปลอดภัยครับ (บินง่าย ใคร ๆ ก็บินได้) โดยอาศัยระบบอัตโนมัติต่างๆที่สร้างขึ้นเป็นตัวช่วย (นักบินทำได้ทุกคน เพราะได้รับการฝึกให้ทำอยู่เสมอในเครื่องฝึกบินจำลอง)

ถามต่อ

“แล้วระบบอัตโนมัติเหล่านั้น มีโอกาสผิดพลาดไหม มีระบบสำรองเข้ามารองรับหรือเปล่า มีระบบอะไรที่จะมาทำงานทดแทนได้หรือไม่หากระบบหลักเกิดเสียขึ้นมา”

คำตอบคือ มีทั้งหมด ทั้งตัวช่วยและตัวทดแทน ซึ่งบางระบบนั้นมีระบบสำรองหรือทดแทนมากถึง 2-4 ระบบ เครื่องบินจะถูกสร้างระบบต่าง ๆ แบบเป็น Redundancy ให้กันและกันหลาย ๆ อย่าง คือ ทำให้มาก ๆ เข้าไว้ เพื่อให้เวลามีปัญหาจะได้ใช้ได้ทุกระบบแต่อาจจะไม่เต็มประสิทธิภาพ (แต่ถ้ามาก ๆๆๆๆๆ เกินไป ก็จะกลายเป็นแพงเกินเหตุ หนักและกินน้ำมันมากเกินไป ไม่คุ้มค่า) แม้ว่าจะมีระบบสำรองต่าง ๆ ที่ redundant กันอยู่ แต่ก็มีโอกาสที่จะสูญเสียการควบคุมในช่วงแรกและนักบินต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ให้ทันท่วงที เพื่อบังคับเครื่องบินให้ปลอดภัยก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงจะทำการตัดสินใจอย่างอื่น ต่อ ๆ ไป ว่าหากเกิดระบบอื่น ๆ เสียเพิ่มขึ้นมา สถานการณ์จะยากลำบากเพิ่มขึ้นแค่ไหน จะควบคุมได้หรือไม่ ด้วยทรัพยากรที่ลดลงหรือถูกจำกัดเนื่องจากความผิดพลาดของระบบอัตโนมัติ หรือสถานการณ์ที่เกินกว่าขีดจำกัดของระบบอัตโนมัติจะทำงานได้ จึงต้องใช้การควบคุมเครื่องด้วยนักบินเท่านั้น ร่ายมาเสียยาว แค่อยากจะบอกครับว่า “เครื่องบินไม่เหมือนรถยนต์หรือรถไฟและขนส่งมวลชนอื่น ๆ ที่ระบบต่าง ๆ มีปัญหาแล้วสามารถจอดนิ่ง ๆ เพื่อซ่อมได้”

 “นักบินถูกจ้างมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นนาทีชีวิต”

ความจริงต้องเรียกว่า “วินาทีชีวิต” จะถูกต้องกว่า เพราะหลายๆ สถานการณ์ฉุกเฉินหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นนั้น นักบินมีเวลาเพียง 2 วินาทีในการวิเคราะห์ว่าเกิดความผิดปกติอะไรขึ้น และมีเวลาเพียง 1 วินาทีที่จะทำการแก้ไขให้อยู่ในสภาวะที่ปลอดภัย” ตัวอย่างเช่น การวิ่งขึ้นจากสนามบินแล้วเกิดเครื่องยนต์ดับก่อนเครื่องจะลอยสู่อากาศจะหยุดหรือจะบินขึ้นไปบนอากาศก่อนดี อันไหนปลอดภัยกว่ากัน เป็นต้น

นักบินจึงต้องใช้ความสามารถเต็มที่ก็ตอนนี้แหละครับ เพราะถ้าพลาดหมายถึงชีวิตของทุก ๆ คนบนเครื่องบินเสี่ยงไปพร้อม ๆ กันหมด ถ้าทุกระบบของเครื่องบินทำงานปกติสมบูรณ์ดี 

“ใคร ๆ ก็ บินได้”

Tags:

Comments are closed
0
0