เส้นทางสู่ฝันการเป็นนักบินพาณิชย์

การเป็นนักบินพาณิชย์ หรือ An Airline Pilot นั้นแต่ละคนมีเส้นทางเดินเพื่อสู่เป้าหมายที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับผมไม่เคยนึกไฝ่ฝันอยากเป็นนักบินมาก่อนเลย

ตั้งแต่เข้าช่วงเริ่มเป็นวัยรุ่น ก็มุ่งมั่นแต่การทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ที่กำลังเรียน พอจบม. 3 ก็สอบชิงทุนพสวท. ก็รับทุนตั้งแต่ม.4 จึงไม่เคยวาดฝันถึงการมีอาชีพเป็นนักบินเลยสักนิด เพราะว่าไม่เคยรับรู้ว่าการเป็นนักบินต้องทำอย่างไรบ้างหรือเป็นนักบินแล้วดีอย่างไร

ในตอนนั้นมุ่งมั่นที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว จนกระทั่ง…วันที่ได้เห็นโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง

ตอนที่ชีวิตเริ่มว่าง ช่วงระหว่างรอเรียนปริญญาโท ช่วงนั้นได้เห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์เขียนว่า

“pilot scholarship”  เป็นโฆษณาของบริษัทการบินไทย แต่ว่ามันคือ อะไรล่ะ “นักบิน” 

ความสงสัยจึงเริ่มเกิดขึ้นอย่างมากมายว่า การเป็นนักบินมันเป็นยังไง เค้าต้องทำอะไรกันบ้างเวลาทำงาน แล้วเขาต้องเรียนอะไรกัน คำถามที่เกิดขึ้นในใจตอนนั้น ตอบไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว เพราะไม่เคยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการบินและเครื่องบินเลย เป็นเพราะความไม่รู้ในตอนนั้น ผมจึงตัดสินใจ ลองสอบดูล่ะกัน 

ตอนนั้นผมคิดแค่ว่าการสอบชิงทุนเป็นเรื่องน่าสนุก อยากรู้ว่าจะสอบง่าย สอบยากแค่ไหน เราจะทำได้ไหม

ผมยังจำได้ว่าคำตอบที่ผมตอบ professor ตอนสอบสัมภาษณ์ คือ “Challenge” ผมแค่ต้องการมาสอบดูว่าเป็นยังไง จะสอบหรือทำข้อสอบได้หรือไม่

ตอนนั้นไม่ได้มีความอยากเป็นนักบินเลยครับ ด้วยเพราะว่าเราไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับการบินเลย แต่มาสอบเพราะว่ามีความอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง ตอนสอบสัมภาษณ์กรรมการที่เป็นกัปตันเค้าถามว่า รู้จักไหมเครื่องบินที่ตั้งอยู่ที่มุมห้อง เป็นเครื่องบินของบริษัทไหน รุ่นอะไร คำตอบที่ได้จากผมในวันนั้นคือ ไม่ทราบครับ ตอบแบบตรงไป ตรงมาทันทีเลยครับ ไม่มีอะไรต้องนึก เพราะตอนนั้นไม่ทราบจริง ๆ และก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความผิดอะไรที่จะไม่รู้

ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรจริง ๆ ครับ แล้วก็ยังไม่ได้คิดด้วยว่า ถ้าสอบได้จะตัดสินใจอย่างไรระหว่างรับทุนเรียนต่อให้ถึงปริญญาเอก หรือลาออกมาเรียนบิน

นี่คือ จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงชีวิตเข้าหาอาชีพการบินของผม เรื่องการสอบเข้าเป็นนักบินและการสอบสัมภาษณ์ผมคงไม่เขียนถึงในเล่มนี้ เพราะผมเขียนเอาไว้พอสมควรแล้วในเล่มแรก “A Pilot”

เส้นทางเข้าสู่อาชีพนักบินของผมเป็นเพียงแค่หนึ่งเส้นทางสู่การเป็นนักบินพาณิชย์เท่านั้น เพราะนักบินพาณิชย์นั้นมีที่มาได้จากหลายรูปแบบ หลายหนทาง และมาได้จากทุกสาขาอาชีพครับ

อาชีพนักบินเป็นอาชีพเฉพาะที่อาศัยความรู้ ความชำนาญและตรรกะในการทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญว่าเรียนรู้อาชีพอะไรมาก่อนหน้านั้น แต่ต้องมาเรียนรู้ว่า จะเป็นนักบินต้องทำอะไรบ้าง และมีหลักคิดหรือแนวทางในการใช้ความคิดที่อยู่ในกรอบของความเป็นปกติ (การคิดนอกกรอบอาจไม่เป็นผลดีในบางเวลาโดยเฉพาะระหว่างที่ทำการบิน) และมีความเป็นเหตุเป็นผล (Logical Reasoning)

การสมัครเป็นนักบินพาณิชย์หรือ Airline pilot นั้น  มีสองแบบ

คือ เป็นนักบินฝึกหัดโดยสายการบินมีโครงการให้สอบคัดเลือกและส่งไปเรียนในโรงเรียนการบินที่ทำข้อตกลงไว้ 

กับอีกแบบหนึ่งคือ เป็นนักบินมาก่อนแล้ว อาจจะไปเรียนมาเอง แล้วลองสอบเข้าหรือเป็นนักบินจากกองทัพ ทั้งจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบินตำรวจ

เส้นทางสู่การบินพาณิชย์นั้นจึงมีหนทางสู่ฝันหลายเส้นทาง บางคนวางแผนเริ่มต้นจากการสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย เพื่อหาโอกาสเป็นนักบินของกองทัพก่อน บางคนเตรียมส่งตัวเองเรียนการบินที่ต่างประเทศ บางคนเพิ่งนึกได้ตอนเรียนจบปริญญาตรีแล้ว

บางคนทำงานด้านอื่น ๆ ในสายการบินอยู่หลายปี ก่อนที่จะตัดสินใจลองสอบดู หรือตัดสินใจลางานออกไปเรียนบิน บางคนเคยเป็นช่างซ่อมเครื่องบิน บางคนเคยเป็นสถาปนิก หมอ หมอฟัน วิศวกร อาจารย์ ฯลฯ

เมื่อเข้าเป็นนักบินพาณิชย์แล้ว สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือ “การบินพาณิชย์” ไม่ใช่ “การบินเครื่องบิน” การบินมีหนทางในการบินหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่วิธีคิดและวิธีบินที่มีหลายวิธี เพราะการบินมันเป็นมิติ มีหลายองค์ประกอบนั่นเป็น “การบินเครื่องบิน”

แต่ “การบินพาณิชย์” คือ การรวมปัจจัยอื่นโดยเฉพาะเรื่องของชีวิตผู้คน ทรัพย์สิน เรื่องของเวลา เรื่องของความสะดวกสบาย เรื่องของกาย เรื่องของใจ เรื่องของการบริการ เรื่องของความรู้ เรื่องของวิชาการ เรื่องของเทคโนโลยี ฯลฯ 

และที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องของการจัดลำดับความสำคัญในการจัดการซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับการเป็นนักบินพาณิชย์

เป็นนักบินพาณิชย์ต้องคิดเยอะๆ บินเฉย ๆ ไม่สนุกหรอกครับ

ถ้าจะบินแค่ “ขึ้นไม่หลง ลงไม่หัก” ไปบินชมวิวคนเดียวดีกว่า

ด้วยเหตุนี้นักบินพาณิชย์จึงต้องได้รับการฝึกฝน ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ทำเป็น คิดเป็น แก้ปัญหาเป็นและเมื่อออกบิน ก็ต้องบินให้สมกับเป็น 

“Professional Airline Pilot”

Comments are closed
0
0