เครื่องยนต์ดับ

เครื่องยนต์ดับ

ให้เดาสาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์ดับกลางอากาศ พร้อม ๆ กันหลายเครื่องยนต์ เน้นว่า พร้อม ๆ กันหลายเครื่องยนต์อย่างกรณีของสิงคโปร์แอร์ไลน์ SQ836 ที่มีข่าวออกมาว่า เครื่องยนต์ดับที่ความสูง 39000 ฟุต แล้วติดเครื่องยนต์ขึ้นใหม่ได้ที่ความสูง 13000 ฟุต

ด้วยความเห็นส่วนตัว การที่เครื่องยนต์ดับพร้อม ๆ กันนั้นไม่น่าเกิดจาก mechanical failure ของตัวเครื่องยนต์เอง เพราะโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติจากกลไกของเครื่องยนต์พร้อม ๆ กันเกินกว่าหนึ่งเครื่องยนต์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากมากในทางสถิติ ระบบอื่น ๆ ที่มีโอกาสทำให้เกิดเครื่องยนต์ดับพร้อม ๆ กันก็มี แต่ก็ยากมากที่จะเกิดแบบนั้นเช่นกัน

ระบบน้ำมัน (fuel)

ระบบน้ำมันนั้น มี back-up ในตัวระบบจ่ายน้ำมันอยู่หลายชั้น เรียกว่า มี Redundancy ในตัวระบบเยอะ รวมทั้งหลักการแยกจ่ายน้ำมันด้วย pressure pump ของแต่ละเครื่องยนต์ ถ้าระบบของเครื่องยนต์หนึ่งมีปัญหา ระบบของอีกเครื่องยนต์หนึ่งก็สามารถจ่ายทดแทนได้ หรือแม้กระทั่ง ระบบ pressure pump เสียหมด ก็ยังสามารถเป็น gravity feeding (เฉพาะเครื่องยนต์ที่อยู่ต่ำกว่าถังน้ำมัน เครื่องบางรุ่นมีเครื่องยนต์อยู่สูงกว่าถังน้ำมัน จะพึ่งพาระบบ gravity feeding ไม่ได้) แต่ถ้าเป็นปัญหาจากตัวน้ำมันที่สกปรก (contaminated) จนทำให้ไส้กรองน้ำมันเกิดตัน ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะระบบจะเตือนว่า “Fuel Filter” มีปัญหา ซึ่งกรณีนี้ นักบินต้องรีบหาสนามบินใกล้ ๆ เพื่อลงจอดให้เร็วที่สุดก่อนเครื่องยนต์จะมีปัญหา 

ส่วน fan blades ของเครื่องยนต์เมื่อมองย้อนจากด้านท้าย

ดังนั้นถ้าเป็นกรณี fuel filter clogged เครื่องยนต์อาจจะดับแต่ก็อาจจะสามารถติดขึ้นใหม่ได้ด้วยระบบ bypass แต่นักบินก็ไม่ควรบินไปต่อ ควรหาสนามบินลงจอด

ระบบน้ำมันหล่อลื่น (Oil) มีปัญหา รั่ว หรือ แตก ทำให้เครื่องยนต์ auto shutdown ซึ่งก็ยากมากที่จะเกิดพร้อมกันทีเดียวสองเครื่องยนต์ เพราะเป็นระบบที่ independent (เครื่องใครเครื่องมัน)

บินเข้าสภาพอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลงกระทันหันและรุนแรง อย่าง severe turbulence หรือ Severe Icing condition 

Severe turbulence นั้น แน่นอนว่า มีโอกาสทำให้เกิดเครื่องยนต์ดับได้ แต่ไม่ง่ายนัก ถ้านักบินเปิดระบบ ignition เพื่อทำให้เกิดการจุดระเบิดในระบบเผาไหม้ของเครื่องยนต์เอาไว้ เป็นการป้องกันระดับหนึ่ง แต่ดีที่สุดคือ อย่าบินเข้าไป 

Severe Icing condition นั้นเป็นสภาพอากาศที่มีความเย็นจัดและมีความชื้นมากพอเต็มไปด้วย supercooled water droplet ซึ่งเมื่อสัมผัสกับผิวของเครื่องบินและเครื่องยนต์ จะกลายเป็นน้ำแข็งเกาะทันที ในตัวเครื่องยนต์ที่ถึงแม้จะมีความร้อนสูงมากใน combustion chamber แต่ก็สามารถเกิดน้ำแข็งเกาะเฉียบพลันได้ชั่วขณะ แต่เครื่องบินก็ได้รับการออกแบบระบบ anti-icing system โดยการพ่นไอร้อน เข้าหล่อเลี้ยงบริเวณเครื่องยนต์และปีกด้านหน้าของเครื่องบิน เพื่อป้องกันการเกิดน้ำแข็ง หรือไล่ไม่ให้น้ำแข็งเกาะได้ ทั้งนี้ถ้าเป็นเครื่องรุ่นเก่า ก็อาจจะต้องเปิดระบบนี้เอง แต่ถ้าเครื่องบินรุ่นใหม่ ๆ ทันสมัย ระบบของเครื่องบินจะทำงานให้อัตโนมัติเมื่อตรวจพบสภาพอากาศที่มีโอกาสเกิด icing condition แต่ยังไงก็แล้วแต่ นักบินก็ควรสั่งเปิดระบบ engines & wings anti-ice เมื่อพบสภาพอากาศในลักษณะของ icing condition (เผื่อระบบอัตโนมัติไม่ทำงาน) 

อีกกรณีที่เคยเกิด เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วแถว ๆ อินโดนีเซีย เครื่องบินบินเข้าไปในเถ้าภูเขาไฟที่ประทุขึ้นมาสูงหลายหมื่นฟุต ตอนนั้นเป็นเครื่องของบริติชแอร์เวย์ B747 บินเข้าไปใน Volcanic ash จนทำให้ฝุ่นภูเขาไฟเข้าไปเกาะในเครื่องยนต์จนเครื่องยนต์ขัดข้อง ดับพร้อมกันทั้ง 4 เครื่องยนต์ นักบินบินเข้าไปเพราะไม่ทราบข้อมูลว่ามีการระเบิดของภูเขาไฟ และเป็นการบินในเวลากลางคืน จึงมองไม่เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นตรงหน้า นักบินสามารถติดเครื่องยนต์ทั้งสี่ได้อีกครั้งเมื่อลดระดับความสูงลงมาเหลือเพียงไม่ถึงหมื่นฟุต กัปตันยังมาให้ข่าวแบบติดตลกว่า “ภูมิใจที่ได้เป็นผู้บังคับ Glider ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” ต้องเข้าใจก่อนว่าสมัยนั้นการส่งข้อมูลข่าวสารยังไม่ดีเท่าปัจจุบันนี้ที่ภาคพื้นสามารถส่งข้อมูลติดต่อกับเที่ยวบินของตนได้ตลอดเวลา สมัยนี้ภาคพื้นสามารถโทรศัพท์ขึ้นไปบอกเครื่องของตนในกรณีฉุกเฉินได้ทุกเมื่อ เหตุการณ์ประเภทนี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นในโลกการบินปัจจุบัน

เขียนให้เป็นไอเดียนะครับ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อย อย่ากังวลมากเกินไปนะครับ บางทียิ่งรู้มากจะยิ่งกังวล แล้วกลายเป็นกลัวการขึ้นเครื่องบิน เป็น Flying Phobia ไปซะอีก ประสบการณ์ส่วนตัวผมเองก็เคยเครื่องยนต์ดับระหว่างบินเช่นกันครับ 

“นักบินทุกคนถูกฝึกให้แก้ไขสถานการณ์เหล่านี้มาแล้วครับ”

Tags:

Comments are closed
0
0