ว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศตอนที่ 2

ว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศตอนที่ 2

เอาเรื่องใกล้ตัวก่อนครับ เรื่องแรก เวลานั่งเครื่องบิน ผดส.(ผู้โดยสาร) ส่วนใหญ่มักสรุปว่านักบินบินดีหรือบินเก่งด้วย สภาพการแตะพื้นว่านิ่มนวลหรือไม่ ใช่ไหมครับ 

แต่ความจริงแล้ว การแตะพื้นทางวิ่ง (Runway) นั้น นักบินก็อยากจะบังคับเครื่องบินให้แตะสัมผัสผิวรันเวย์ให้นุ่มนวลครับ แต่มีหลาย ๆ กรณีที่ เราจำเป็นต้องสัมผัสแบบหนักหน่วงขึ้นนิดหน่อย แบบว่า “หนึบ” (คำนี้คิดเองตามความรู้สึกครับ) ผดส.จะไม่ถึงกับจุกครับ  แต่ว่ามี “เงิบ” มี “เหวอ” นิดนึง 

บางคนอาจส่ายหัวเล็กน้อย แล้วทำหน้าบูด ๆ ใส่ลูกเรือ ภาษานักบินเราเรียกการลงสนามแบบ หนึบ ๆ นี้ว่า Firm Landing 

แล้วทำไมต้อง firm landing นักบินจะลงสัมผัสพื้นแบบ “หนึบ” ก็ต่อเมื่อ “ทำพลาด” เอ๊ย ไม่ใช่ครับ เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น 

พื้นสนามเปียก (wet runway)  

มีฝนตกเหนือรันเวย์ (rain over the airfield) 

หิมะตกหรือมีหิมะปกคลุมบนรันเวย์ (runway in icing condition) 

ลมกระโชกรุนแรง (gusty wind) 

ลมขวางสนามมาก (strong cross wind) 

สนามบินสั้น (short runway) 

ทางวิ่งเหลือน้อย (short landing distance available) 

และปัจจัยอื่น ๆ อีกจิปาถะ รวมทั้งปัญหาทางด้านเทคนิคของเครื่องบินที่เกิดขึ้นระหว่างไฟล์ทด้วย ทั้งหมดทั้งมวลที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นสภาพการณ์ที่นักบินจะเลือกการร่อนลงสัมผัสพื้นแบบ firm landing ครับ ด้วยเหตุผลที่ว่า การลง “หนึบ” ทำให้ล้อของเครื่องบินสัมผัสกับผิวรันเวย์ได้มากและทำให้เครื่องบินมีประสิทธิภาพในการหยุด หรือ เบรคได้ดีขึ้นโดยใช้ระยะทางและระยะเวลาในการหยุดหรือบังคับเครื่องให้อยู่ในสภาพปลอดภัยได้เร็วขึ้น

ทางการบินมีศัพท์เทคนิคอีกหนึ่งคำคือ “Braking Action” เป็นเหมือนการวัดสัมประสิทธิแรงเสียดทานที่ยางของล้อกระทำกับพื้นผิวรันเวย์ เป็นเหมือนค่าบอกความลื่นของพื้นผิว ยิ่งค่าน้อย เครื่องยิ่งหยุดยากครับ ลงหนึบเพื่อช่วยเพิ่ม Braking action ให้มากขึ้นครับ

 ที่นี้นักบินก็มีข้อแก้ตัวเพิ่มขึ้นเวลาลง “หนึบ” แล้วนะครับ ไม่ใช่บินไม่ดี แต่นักบินตั้งใจลงให้ “หนึบ หนึบ” เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคนจริง ๆ ครับ

อาการ “หนึบ” คือ สัมผัสพื้นแล้วล้อติดกับพื้นได้ดี แหวกน้ำ แหวกหิมะ รีดน้ำ และอากาศออกให้หมดเพื่อให้ล้อสัมผัสพื้นมากที่สุดตั้งแต่เริ่มสัมผัสครับ ถ้าเกินกว่าหนึบ เราเรียกว่า Hard Landing อันนี้เรื่องใหญ่สำหรับช่างซ่อมเครื่องบินครับ สำหรับผดส.ก็ แบบว่า เกินคำว่า “จุก” ผมก็ไม่รู้เรียกว่าอะไรดี  

ยังมีอีกแบบคือ Bounce landing ครับ (อันนี้มี วูบวาบ เสียวท้องน้อยเล็กน้อย แบบอยากอ้วก แต่จะอันตรายกว่าอย่างอื่นถ้าสนามบินมีรันเวย์สั้น)

ผมคงยังไม่พูดถึงมันตอนนี้นะครับ  ไว้โอกาสหน้า

Tags:

Comments are closed
0
0