ผู้โดยสารมาช้า กัปตันจะทำอย่างไร

ผู้โดยสารมาช้า กัปตันจะทำอย่างไร

ตามความคิดและประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ ชาติที่มีวินัยที่สุดในการขึ้นเครื่องบิน คือ ญี่ปุ่น ไฟล์ทไปหรือกลับจากญี่ปุ่น จะมีปัญหาเรื่องผู้โดยสารมาเครื่องช้าน้อยมาก

การที่ผู้โดยสารมาช้า อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น 

ต่อเครื่องมาจากสถานีอื่น

หลงทางอยู่ในสนามบิน

ติดอยู่ที่กองตรวจคนเข้าเมือง (Immigration)

ขึ้นผิดเครื่อง 

(สมัยก่อนมีครับ สักสิบกว่าปีที่แล้ว ผู้โดยสารขึ้นเครื่องบินที่เขียน “เชียงใหม่” ที่ลำตัว เพราะนึกว่าเครื่องลำนี้ไปเชียงใหม่)

มัวช้อปปิ้งเพลิน

“หลับ” ระหว่างรอต่อเครื่อง ของีบสักแป๊ป

ฯลฯ

ปัญหาผู้โดยสารขึ้นเครื่องช้ามีหลายรูปแบบและหลายสาเหตุครับ พนักงานภาคพื้นที่เป็นคนดูแลคนและของขึ้นเครื่องบิน (Load Control หรือ Red Cap เพราะมักจะใส่หมวกแดงกัน) จะเป็นคนมารายงานก่อนพาผดส.ขึ้นเครื่องว่า วันนี้มีกรณีพิเศษอะไรบ้าง เช่น ผู้โดยสารจำนวนกี่คน ต่อไฟล์ทมาจากที่อื่น คาดว่าเครื่องจะลงกี่โมง จะเสียเวลาเท่าไหร่ ถ้าผู้โดยสารมาจากต่างประเทศก็ต้องผ่าน transit immigration 

(อันนี้วุ่นวายมาก มีอยู่ช่วงหนึ่งโดยเฉพาะตอนเช้าเจ้าหน้าที่เปิดช่องตรวจน้อย เครื่องจากยุโรปของไทยก็จะลงตอนเช้า แล้วผดส.จำนวนมากจะต่อเครื่องไปภูเก็ต เชียงใหม่กัน แต่ต้องผ่านตม.ที่สุวรรณภูมิก่อน ทั้งๆที่ สามารถไปตรวจลงตราที่ปลายทางก็ได้ อันนี้ขั้นตอนกฏหมายไทย It a must ว่าต้องทำทั้ง 2 ที่หรือเปล่า ไม่รู้เขาแก้ไขกันหรือยัง แต่การเปิดช่องตรวจน้อยทำให้เครื่องดีเลย์กันมาก ก็ทำงานแบบไทย ไทย ไม่ค่อยใส่ใจว่าใครเขาจะเดือดร้อน “ทำอะไรตามใจ คือไทยแท้”)

มีผู้โดยสารป่วย ที่ต้องดูแลพิเศษ ต้องใช้ Oxygen หรืออุปกรณ์เสริมใดบ้างและทำการ approved จากหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ว่าถูกต้องตามกฏสามารถนำขึ้นเครื่องได้ (คือของที่จะใช้บนเครื่องบิน ต้องแน่ใจว่าไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น หรือใช้เป็นอุปกรณ์ในการก่ออาชญากรรมได้) วันหลังจะเขียนเรื่องสิ่งของที่ห้ามนำขึ้นเครื่อง

ผู้โดยสารพิเศษอื่นๆ เช่น VIP ผู้พิการ คนชราต้องการความช่วยเหลือ คนที่ต้องใช้รถเข็น คนที่ถูกเนรเทศ ฯลฯ

ก่อนเวลาออกสัก 10 นาที Red Cap เขาก็จะมารายงานความคืบหน้า ว่าผู้โดยสารหายกี่คน สาเหตุจากอะไรได้บ้าง ทีนี้กัปตันก็จะต้องมาตัดสินใจดูว่า จะเอายังไงต่อไป

สิ่งที่กัปตันคิดคือ ยังพอมีเวลายืดหยุ่นได้หรือไม่ เช่น วันนี้ชม.บินน้อยกว่าปกติ เพราะกระแสลมส่งท้ายมาก ออกช้าอีก สิบนาที ยี่สิบนาที ก็ยังสามารถไปถึงปลายทางได้ตามเวลาเดิม กัปตันก็อาจจะให้ออกช้าได้อีกเล็กน้อย ผู้โดยสารสามารถไปเที่ยวบินอื่นได้หรือไม่ อย่างเช่น การเดินทางในประเทศ มีเครื่องบินไป ภูเก็ต เชียงใหม่ ออกจากสุวรรณภูมิแทบทุกชม. เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้โดยสารส่วนใหญ่ กัปตันอาจจะไม่รอ ให้ไปไฟล์ทต่อไปแทน

หากเป็นกรณีต่อเครื่องมาจากที่อื่นแล้วเครื่องนั้นดีเลย์เข้ามาช้ามาก จะรอหรือไม่รอขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างมาก เช่น ถ้ารอ เครื่องลำนี้อาจจะวิ่งขึ้นไม่ทัน curfew หรืออาจไปถึงปลายทางไม่ทัน curfew เป็นต้น 

(หมายเหตุ: Curfew time เป็นช่วงเวลาที่ห้ามขึ้นลงสนามบินนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดเสียงรบกวนในยามวิกาลต่อผู้คนที่อาศัยโดยรอบสนามบิน แต่ก็มีข้อยกเว้นหรือมีโควต้าที่กำหนดให้เป็นการเฉพาะของเครื่องบินบางชนิด หรือบางสายการบินที่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษตามแต่ที่จะตกลงกันในรายละเอียด นอกจากการใช้ curfew time แล้ว ยังมีการใช้ข้อกำหนดวิธีการบินอย่างอื่น เพื่อใช้ลดมลภาวะทางเสียงอีกด้วย)

ประเทศในยุโรป (EU มี 27 states member) จะมีกฏหมายคุ้มครองผู้โดยสารที่เข้มงวดมาก 

หากสายการบินทำให้เที่ยวบินล่าช้า เกินกว่า 3 ชั่วโมง อาจต้องเสียค่าปรับเป็นรายที่นั่งกันเลย ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นเพราะความผิดพลาดของสายการบิน เช่น เครื่องเสียล่าช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมง

การช้าต้องนับที่ขาเข้า เพราะออกช้าแต่อาจถึงได้ตามเวลาหรือดีเลย์น้อยลงเหลือไม่เกิน 3 ชั่วโมง (2:59) ก็เรียกร้องค่าปรับไม่ได้ อันนี้เป็นกฏหมายของ อียู ที่ทางสายการบินต้องชดใช้ให้กับผู้โดยสาร ตามความรุนแรงของการล่าช้า ทุกสายการบินที่บินเข้าหรือออกจากประเทศต้นทางและปลายทางในประเทศสมาชิกอียูอยู่ภายใต้การคุ้มครองผู้โดยสารนี้ทั้งหมด การที่สายการบินทำให้ผู้โดยสารต่อเครื่องไม่ทันก็มีข้อกำหนดในการดูแลผู้โดยสาร ถ้าเกิดจากความผิดพลาดของสายการบิน

เรื่องพวกนี้คือ cost ของสายการบิน ถ้าบริหารเวลาไม่ดี กัปตันต้องคิดเยอะครับ ต้องดูแลหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน ส่วนใหญ่ถ้าช้าไม่มากนัก ก็จะรอ โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้โดยสารของสายการบินเดียวกันเอง แต่ถ้าสายมากก็คงไม่รอ เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่อาจจะได้รับผลกระทบ

เห็นไหมครับ การดีเลย์ของสายการบิน เวลาทุกนาทีเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บางครั้งการช้าเพียงหนึ่งนาที อาจจะทำให้เสียกว่า เกือบหนึ่งชั่วโมงกว่าจะได้วิ่งขึ้น โดยเฉพาะสนามบินที่มีการจราจรคับคั่งมาก ๆ จะทำอะไรต้องมีคิว ต้องชิงไหว ชิงพริบกัน เพื่อให้สามารถดันเครื่องถอยหลังได้เร็ว ออกเดินทางได้ก่อน ไม่งั้นความเสียหายเนื่องจากการดีเลย์แล้วทำให้ผู้โดยสารต่อเที่ยวบินไม่ทัน หรือการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะไม่ได้ระดับความสูงที่เหมาะสมกับน้ำหนักเครื่องบิน (Optimum Flight Level หรือ Optimum Cruising Altitude)

ถ้ากัปตันไม่รอ ก็อย่าว่ากันนะครับ

Welcome on board ครับ

Tags:

Comments are closed
0
0