ผู้โดยสารป่วยบนเครื่องบิน

เมื่อเช้าบินจากดอนเมืองไปภูเก็ต  (25 มิ.ย.2559)

อากาศดีมากครับ 

ที่ดอนเมืองมีเมฆพอสมควร 

ระหว่างทางก็มีบ้างแต่อยู่ที่ความสูงประมาณ 30,000 ฟุต

เราบินสูงกว่า

คิดในใจเล่น ๆ ว่าอากาศดีพอสมควร

ช่วงเช้า อากาศจะแน่น ๆ การบินจะสบาย ๆ แดดก็ไม่ค่อยร้อน

ท้องฟ้าที่ภูเก็ตก็แจ่มใสมาก 

แต่วันนี้เป็นลมตะวันออก 

ทำให้เราต้องบินลงสนามจากด้านตะวันตก

เป็นการลงสนามแบบ RNAV Runway 09

ระหว่างบินระดับก่อนที่จะเริ่มผ่อนเครื่องยนต์เพื่อลดความสูงลงสนามบินภูเก็ต

หัวหน้าลูกเรือโทรเข้ามาว่า 

“กัปตันค่ะ มีผู้โดยสารป่วย”

“เป็นอะไรครับ”

“เค้าหายใจไม่ออก หน้าซีด ปากซีด เหงื่อแตกเต็มตัวเลย”

ผมเลยบอกว่าให้ผู้โดยสารหายใจลึก ๆ 

และเตรียมเอา หน้ากากออกซิเจนให้ผู้โดยสาร 

อาจจะช่วยได้บ้าง

ผู้โดยสารเป็นหญิงชาวจีน 

อายุ 40 ปี มากันเป็นกลุ่ม แต่ไม่มีใครเข้าใจอังกฤษเลย 

ขนาดว่าลูกเรือบนไฟล์ทผมเธอพูดจีนกลางได้ 

ก็ยังอธิบายกันค่อนข้างลำบาก เพราะเธอไม่ได้พูดจีนกลาง

หัวหน้าลูกเรือจึงขอประกาศหา 

คุณหมอหรือพยาบาลที่อาจเดินทางอยู่ด้วยบนเที่ยวบิน

ปรากฏว่า “ไม่มีเลย”

สักพักหัวหน้าลูกเรือโทรกลับมาใหม่ว่า

“ผู้โดยสารใช้ออกซิเจนแล้ว ดูเหมือนอาการยังไม่ค่อยดีขึ้นค่ะ”

ผมจึงตอบว่า “เอาล่ะเดี๋ยวผมจะรีบลงภูเก็ต ด่วน”

ผมตัดสินใจขอหอบังคับการบินภูเก็ตว่า ขอ expedite descend 

เพื่อที่จะลดระยะทางและลดเวลาในการลงสนามลง

เพื่อให้ผู้โดยสารมีโอกาสพบหมอได้เร็วขึ้น 

(เพิ่มความเร็วและความชันของการลดระดับ) 

คิดไว้ว่าจะทำ visual approach 

แต่ตอนนั้นมีเครื่องบินลำหน้าอยู่อีกหนึ่งลำ 

เป็นสายการบินไทยสมายล์ 

ก็เลยขอเป็นนัยๆแต่เพียงว่า expedite approach 

ทางเที่ยวบินของไทยสมายล์เมื่อได้ยินเหตุการณ์บนไฟล์ทผม ก็เลยขอ visual approach เพื่อ short cut ให้ด้วย เพราะยังไงผมก็ต้องลงหลังไทยสมายล์อยู่แล้วเพราะอยู่ห่างกันมาก แต่เพื่อไม่ให้มีความกังวลทางกัปตันของไทยสมายล์ก็เลยของ visual approach เสียเลย 

อันนี้ขอขอบคุณในน้ำใจและความเป็นมืออาชีพของกัปตันและนักบินไทยสมายล์มา ณ ที่นี้ด้วยครับ แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้โดยสารบนไฟล์ทตัวเอง แต่ก็นึกถึงว่า มันเป็นสถานการณ์ที่บีบคั้นเรื่องของเวลา

สรุปวันนี้เลยต้องเหนื่อยนิดนึง ช่วงที่ต้องรีบเร่งเพื่อลดเวลาในการลงสนาม ในระหว่างเหตุการณ์นาทีชีวิตแบบนี้ นักบินจะต้องแบ่งหน้าที่ในการทำงานกันให้ชัดเจน

เช่นการประสานงานกับหอบังคับการบิน และพนักงานภาคพื้นของนกแอร์ คนบินก็ต้องบินเครื่องบิน คำนวณระยะทางในการลงสนาม 

แต่ไม่ว่าจะต้องรีบมากแค่ไหน

“ความปลอดภัย ก็จะต้องไม่ลดลง”

เมื่อลงสนาม (ประหยัดเวลาไปได้ 4-5 นาที) ก็ต้องรีบเข้าที่หลุมจอดให้เร็วที่สุด ความนุ่มนวลและปราณีตก็คงลดลงบ้าง อันนี้ต้องยอม

เมื่อเครื่องจอดสนิท 

ผมรีบโทรบอกลูกเรือให้เตรียมผู้โดยสารที่ป่วยออกไปก่อน

และขอให้ผู้โดยสารคนอื่น ๆ กรุณานั่งอยู่กับที่

ปรากฏว่า ผู้โดยสารที่มีอาการป่วยนั้น 

มีอาการดีขึ้นแล้วจนเป็นปกติ 

สามารถเดินออกจากเครื่องบินได้ด้วยตนเอง

ไม่ได้ต้องการแพทย์หรือพยาบาลมารอรับ

ก็เลยโล่งอกกันไปครับ

ผมเรียกหอภูเก็ตอีกครั้ง

“ขอบคุณมากครับ เที่ยวบินไทยสมายล์ด้วยนะครับ”

“ยินดีค่ะ” และตามมาด้วย

“ยินดีครับ” จากเที่ยวบินของไทยสมายล์

นึกถึงคำศัพท์ขึ้นมาได้อีกหนึ่งคำครับ

Hyperventilation คือ การหายใจถี่ๆ เนื่องจากความตื่นเต้นหรือตื่นตระหนกกับอะไรบางอย่างที่มีความกังวลอยู่ในใจ จนทำให้ระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดไม่สมดุลย์

ผู้ป่วยที่เกิดอาการ hyper ventilation อาจหมดสติได้ครับ

การแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ ควบคุมสติ และควบคุมการหายใจ หายใจเข้าลึก ๆ ให้เป็นจังหวะ

วันนี้บอกให้รู้ว่า

“น่านฟ้าไทย มีน้ำใจให้กันเสมอ”

ขอบคุณในความเป็นมืออาชีพของทุกท่าน 

ทั้งนักบินและลูกเรือทั้งไฟล์ท (รวมถึงไทยสมายล์ด้วยนะครับ) โดยเฉพาะหอบังคับการบินภูเก็ตที่ช่วยประสานงานให้ผู้ป่วยครับ 

ขอบคุณอีกครั้งครับ

(เรื่องเล่าจากฟากฟ้านี้โพสต์เมื่อ 25 มิถุนายน 2559 แล้วเว็บไซต์ Sanook เอาไปรีโพสต์จนมีการแชร์ต่ออย่างแพร่หลายไปอีกกว่า 13,000 แชร์)

กลับหน้าแรก

ติดตามเฟสบุ๊ค A Pilot Club ที่นี่ www.facebook.com/apilotbook

Tags:

Comments are closed
0
0