บินใกล้กันเกินไปหรือเปล่า

บินใกล้กันเกินไปหรือเปล่า

ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณต้นปี 2558 ผมบินกลับจากลอนดอนเข้ากรุงเทพฯ มีสจ๊วตโทรขึ้นมา ที่ cockpit จากชั้นล่าง (main deck) ระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินระดับอยู่ที่ความสูง 34000 ฟุต

สจ๊วต : “ฮัลโหล กัปตันครับ”

ผม : “ครับ”

สจ๊วต : “ผู้โดยสารเฟิร์สคลาส (บอกเลขที่นั่งมาด้วยแต่ผมไม่ได้จำ) ผู้โดยสารมองไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นเครื่องบินอีกลำ เค้าถามว่ามันใกล้เครื่องเรามากเกินไปหรือเปล่าครับ”

ผม: “อ๋อ ครับ บอกผู้โดยสารนะครับว่า ผมมองเห็นอยู่ตลอด ไม่เป็นไรนะครับ บินอยู่คนละระดับความสูง ต่างกัน 2000 ฟุตครับ  เป็นปกตินะครับ ไม่ต้องกังวล” 

หลังจากที่วางสายไปแล้ว ผมก็นึกอมยิ้มในใจว่า ทีแรกว่าจะแกล้งบอกว่า “ซิ่งแข่งกันอยู่ครับ”  ลำที่ผู้โดยสารเค้าเห็นมันอยู่ข้างล่าง ห่างออกไปเล็กน้อย แต่ก็เห็นชัดพอสมควร แต่ถ้าผู้โดยสารเห็นอีกลำหนึ่งที่อยู่บนหัวผมเนี่ย คุณผู้โดยสารท่านนั้นคงตกใจว่ามันบินใกล้กันจนเห็นชัดขนาดนี้เลย 

ตั้งแต่มีเหตุการณ์เครื่องบินตก เครื่องบินหายสาบสูญ มีอุบัติเหตุบ่อย ๆ ในปี 2015 ทำให้ผู้โดยสารเป็นกังวลมากกว่าปกติประมาณ 17.89345% ตัวเลขสมมุติ อย่าจริงจังนะครับ กฏการบินมีข้อกำหนดเยอะมากมายครับ ผมอธิบายคร่าว ๆ แบบว่าให้เอาไว้คุยกันเล่น ๆ ได้นะครับ ปกติเครื่องบินขณะที่บินระดับในที่สูง ๆ (ไม่ใช่ตอนร่อนลงสนามหรือวิ่งขึ้นจากสนาม) เวลาที่บินไปเส้นทางเดียวกัน หรือเส้นทางที่อยู่ใกล้ ๆ กัน

ถ้าบินด้วยความสูงระดับเดียวกันจะต้องบินห่างกัน 3-10 นาที (แล้วแต่ความสามารถของระบบการควบคุมจราจรทางอากาศ) หรือจะต้องบินด้วยความสูงต่างกัน 2000 ฟุตและกำหนดว่าบินไปทางทิศตะวันออกจะใช้ความสูง เลขคี่ ตัวอย่างเช่น 29000, 31000, 33000, 35000, 37000, 39000,41000 ฟุต ถ้าถือเข็มบินไปทิศตะวันตกจะเป็นเลขคู่ 28000, 30000, 32000, 34000, 36000, 38000, 40000 ฟุต เพราะฉะนั้นถ้าบินสวนกัน จะมีความสูงต่างกัน 1000 ฟุต 

ถ้าเผอิญผู้โดยสารมองออกนอกหน้าต่างแล้วเห็นพอดี จะมองเห็นเครื่องบินชัดมาก ใกล้กันมาก และผ่านไปอย่างรวดเร็วมาก ถ้าบินตามกัน ความรู้สึกจะเหมือนต่างคนต่างอยู่นิ่ง และค่อย ๆ แซงกันช้า ๆ โดยที่แต่ละลำจะมีความเร็วประมาณ 1000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Tags:

Comments are closed
0
0