การเรียนบินไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่เรียนจบแล้วไม่มีงานทำน่ากลัวกว่า

“ใครๆก็เป็นนักบินได้” เป็นวลีเชิญชวนของโรงเรียนการบินหรือสถาบันต่าง ๆ ที่อยากให้คนที่มีความฝันหรือสร้างฝันอยากให้มาเรียนเป็นนักบินกันเยอะ ๆ  แรงจูงใจอะไรที่ผลักดันให้หลายคนอยากเป็นนักบิน อันนี้ผมขอเว้นวรรคไม่พูดถึงเพราะเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นความคิดส่วนบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะรู้ ๆ กันอยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง

ผมเคยเขียนไปบ้างแล้วว่า มีคนเคยถามเรื่องการลงทุนเพื่อไปเรียนเป็นนักบิน ส่วนตัวก็แนะนำแล้วว่าไม่ใช่เรื่องที่ควรเสี่ยง แต่ถ้าไม่เดือดร้อนอะไรเรื่องเงิน ยิ่งคิดเอาไว้ก่อนได้ว่าหากเรียนแล้วไม่มีงานทำก็ไม่เป็นไรได้บินเป็นความสุข แบบนี้ก็เรียนบินได้เพราะไม่มีอะไรต้องห่วงเลยหากเรียนจบแล้ว “ตกงาน”

จริงอยู่ที่ปัจจุบันความต้องการนักบินทั่วโลกนั้นมีปริมาณสูงขึ้นมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า ในประเทศไทยจะมีความต้องการเป็นสัดส่วนไปตามภาวะตลาดโลก แม้ว่าในภูมิภาค asia-pacific จะมีความต้องการนักบินมากมายมหาศาลก็ตาม

แต่นักบินจบใหม่ ๆ ของไทย อาจไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานของนักบินอาชีพได้ง่ายนัก นั่นเป็นเพราะว่า

 การขยายตัวของธุรกิจการบินภายในประเทศกระจุกตัวอยู่ในระดับประเทศและขยายไปประเทศเพื่อนบ้านได้ในปริมาณจำกัด ประเด็นนี้เกิดจากปัญหาการติดธงแดงของประเทศเรา ที่ทำให้สายการบินของไทยขยายเส้นทางทำการบินได้น้อยลง จึงเป็นโอกาสให้สายการบินต่างชาติขยายตัวเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการบิน(ก็ประเทศไทยนั่นแหละ) ใช้เป็นจุดเชื่อมของเส้นทางการบินต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ได้มากขึ้นโดยไม่มีคู่แข่งจากประเทศไทยเองลงสนามแข่งขันกับเขา เพราะถูกแบน

การที่สายการบินของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด ทำให้การรับนักบินจบใหม่เข้าทำการบิน ลดปริมาณลงไปด้วยโดยปริยาย จึงทำให้ขาดความสมดุลย์ของดีมานด์กับซัพพลาย 

แล้วทำไมไม่ไปสมัครสายการบินต่างชาติล่ะ ในเมื่อในภูมิภาคยังมีความต้องการนักบินมากมายอยู่ หรือนักบินของไทยขาดคุณภาพ ไปสมัคร ไปสอบแล้วประเทศอื่น ๆ เค้าไม่รับเป็นนักบิน

คำตอบคือ จริง ครับ เราขาดคุณภาพ 

แต่เป็นการขาดคุณภาพในแง่ของการแสดงคุณสมบัติด้านมาตรฐานใบอนุญาต คือ มันเป็นโดมิโน ต่อมาจากปัญหาที่ ICAO ลดเครดิตของประเทศไทยลงเมื่อปี 2015 นั่นแหละครับ

ศิษย์การบิน หรือ student pilot ที่ทำการบินกับสถาบันหรือศูนย์ฝึกอบรมการบินในประเทศไหนต้องขึ้นทะเบียนใบอนุญาตในประเทศนั้น เริ่มเห็นภาพหรือยัง Pilot License จะออกให้โดยผู้กำกับดูแลมาตรฐานการฝึกอบรมของสถาบันที่จดทะเบียนหรือกำกับดูแลภายในประเทศนั้นหลังจากนั้นจึงจะไปทำการ validation license ที่ประเทศที่จะทำงาน

นักบินที่ไปเรียนบินมาจาก ประเทศอื่น ก่อนจะมาทำงานหรือบินในสังกัดของสายการบินประเทศไหน ต้องไปทำการขึ้นทะเบียนโดยการสอบวัดผลความสามารถในการทำงานจากผู้กำกับดูแลกฏระเบียบข้อบังคับด้านการบินพลเรือนของประเทศนั้น ๆ ใหม่

เช่น เรียนบินจากอเมริกามา จะมาทำงานในสายการบินของไทย ก็ต้องสอบข้อเขียนด้านกฏหมายและสอบวัดความสามารถตามมาตรฐานของประเทศไทยและออกใบรับรองใหม่โดย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับรอง

นักบินที่เรียนบินในเมืองไทย เมื่อเรียนจบได้ license ของไทยแล้ว หากจะไปสมัครเข้าเป็นนักบินของสายการบินต่างชาติที่จดทะเบียนที่ต่างประเทศ ก็ต้องไปสอบและออกใบรับรองของประเทศนั้นด้วยเช่นกัน

ที่นี้ปัญหามันก็เลยมาอยู่ตรงที่ ตอนนี้เค้าไม่อยากจะรับ เพราะปัญหาถูกลดชั้นจาก ICAO นั่นแหละ โดยเฉพาะนักบินจบใหม่ ๆ ไม่มีประสบการณ์การบินมาเลย โอกาสที่จะหางานในสายการบินโดยเฉพาะการไปขุดทองต่างประเทศ ในช่วงเวลานี้เป็นเรื่องยากกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา

คนที่เป็นนักบินพาณิชย์ บินเป็นอาชีพมานานแล้ว ยังไปทำงานกับสายการบินต่างชาติได้อยู่แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อนนี้แล้ว

ดังนั้น นักบินจบใหม่ ๆ ต้องการสมัครเข้าเป็นนักบินของสายการบิน จึงมีการแข่งขันในอัตราที่สูงมากเพราะเก้าอี้ว่างในแต่ละสายการบินมีจำกัด ปัญหานี้จะหมดไปก็ต่อเมื่อประเทศไทยเราสามารถปลดธงแดงจาก ICAOและการลดเครดิตจาก FAA ก็หวังว่า ทางการจะดำเนินการปลดธงแดงออกได้ในเร็ววันนี้ครับ (โพสต์นี้เขียนเมื่อปี 2016 ปัจจุบัน ไทยปลดธงแดงของ ICAO ไปเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเลื่อนเครดิต FAA กลับไปอยู่ Cat 1, 27Oct19)

อยากให้จับตาดูการปลดธงแดง

อยากขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้กับประเทศชาติทำให้สำเร็จ 

เรื่องนี้สายการบินและรัฐบาลเราต้องเดินไปด้วยกันช่วยกันพัฒนามาตรฐานให้สูงขึ้น แสดงให้คนทั้งโลกเห็นในความสามารถของไทย 

หลังจากปลดล๊อคข้อจำกัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันทางธุรกิจการบินของสายการบินของไทยให้เข้าชิงพื้นที่ส่วนแบ่งภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้นและขยายออกไปให้ทั่วโลก

ถึงตรงนั้น (เมื่อปลดธงแดงได้) ตลาดของนักบิน (จบใหม่) ก็จะมีความต้องการมากขึ้นอีกครั้งหนึ่งครับ

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น วันหนึ่งมันก็จะมีจุดอิ่มตัวเหมือนกันนะครับแต่อย่างน้อย ยี่สิบปีจากนี้ น่าจะยังมีความต้องการค่อนข้างสูง ล่าสุดทางอเมริกา ก็ทำสถิติออกมาว่า จะมีความต้องการนักบินพาณิชย์เป็นจำนวนมากทั่วโลก ประมาณว่า ทุก ๆ 15 นาทีต้องผลิตนักบินพาณิชย์ขึ้นใหม่ 1 คน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการนักบินพาณิชย์ที่ขยายตัวเป็นอย่างมาก

Comments are closed
0
0