การเรียกนักบินไปบินแทนกัน

เครื่องบินโดยสารต้องมีนักบินสองคนเสมอในการบิน

คนหนึ่งเป็นกัปตัน อีกคนหนึ่งเป็นนักบินผู้ช่วยหรือ co-pilot

เวลาจัดตารางบิน ก็จะจัดให้มีหนึ่งกัปตันและหนึ่งโคไพลอตเสมอ เงื่อนไขบางอย่างทำให้การจัดบินมีข้อจำกัด (รวมถึงการเรียกบินเพื่อทดแทนนักบินที่ป่วยหรือมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถทำการบินได้) เช่น

นักบินเพิ่งเข้ามาบินในบริษัท ไม่ถึง 3 เดือน ห้ามบินด้วยกัน

กัปตันใหม่กับโคไพลอตใหม่ ถ้ายังบินไม่ถึง 3 เดือนห้ามบินด้วยกัน

กัปตันกับนักบินอายุเกิน 60 ปีทั้งคู่ ห้ามบินด้วยกัน

พ่อ-ลูก ไม่ควรจัดบินด้วยกัน

นักบินที่อยู่ในระหว่างฝึก ต้องบินกับครูเท่านั้น

นักบินที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ (ตามใบแพทย์) ห้ามบินด้วยกัน

ถ้ามีนักบินอยู่ในระหว่างการฝึกมาก ปริมาณครูก็จะต้องมีจำนวนมากเพียงพอเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนลูกศิษย์

เวลาที่ต้องเรียกนักบินเสริม หรือต้องหานักบินใหม่

จะต้องไม่ให้ขัดกับข้อจำกัดต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ 

กัปตันบินด้วยกันได้ไหม

คำตอบคือ ได้ ครับ และเกิดขึ้นในหลายกรณี เช่น 

กัปตันเปลี่ยนแบบเครื่องบินมาจากแบบอื่น ก็ต้องบินกับครูฝึกกัปตัน ที่จะนั่งที่นั่งโคไพลอต ทำหน้าที่เหมือนเป็นโคไพลอตเพื่อให้กัปตันที่ถูกฝึกนั่งที่นั่งกัปตัน หรือ

กัปตันสองคนไม่ใช่ครูฝึกทั้งคู่ แต่บินด้วยกันได้ ถ้ากัปตันได้รับการฝึกให้นั่งที่นั่งด้านขวาแล้ว ยังมีเรื่องข้อจำกัดอื่นอีกครับ เช่น

เวลาพักผ่อนก่อนที่จะทำการบิน

มีข้อกำหนดว่าต้องพักไม่น้อยกว่าช่วงเวลาที่ทำการบินไปแล้ว หรือ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง

การบินต่อเนื่องหรือติดต่อกัน จะกำหนดไว้ว่าให้ทำหน้าที่ได้กี่ชั่วโมงในหนึ่งวัน ขึ้นอยู่กับจำนวนแลนดิ้ง และช่วงเวลาเริ่มต้นทำการบิน หรือ ช่วงเวลาท้องถิ่นที่ทำการบินที่มีความต่างของเวลา ก็ทำให้ชั่วโมงทำการบินถูกจำกัดให้ลดลงด้วย โดยเฉพาะถ้าเราเริ่มทำการบินในประเทศที่มีความต่างของเวลามากเกินกว่า 3 ชั่วโมง

ยังมีข้อกำหนดประเภทอื่น ๆ เข้ามาประกอบอีกหลายอย่างครับ

ตัวแปรต่าง ๆ เหล่านี้ จึงทำให้การเรียกนักบินเพื่อทดแทนกันนั้น เต็มไปด้วยข้อจำกัดที่ต้องตรวจสอบ ควบคู่กันไปหลายอย่างพร้อม ๆ กันครับ

สรุปว่า นักบินไปบินแทนกันได้ อย่างมีข้อจำกัด

Tags:

Comments are closed
0
0