การเป็นนักบินพาณิชย์

เขียนให้ร่วมสมัยเพราะเห็นว่าปัจจุบันมีนักบินใหม่ ๆ เริ่มเข้าสู่วงการการบินพาณิชย์ ก็เลยอยากเล่าและแอบสอนผ่านตัวหนังสือ เป็นเกร็ดเล็กน้อยเผื่อไว้สำหรับคนที่อยากเป็นนักบินหรือกำลังเป็นนักบินฝึกหัด ผมขอเล่าจากประสบการณ์ตัวเองที่มีอยู่ 23 ปี และหวังว่าคงมีประโยชน์สำหรับทุกคนครับ

สมัยที่ผมจบโรงเรียนการบินใหม่ ๆ และเข้ามาเป็นนักบินของการบินไทย ผมเริ่มต้นด้วยการเป็น System Operator/Flight Engineer เรียกง่าย ๆ ว่า นักบินที่ 3 ของเครื่องบินแบบ Boeing 747-200/300 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ยังต้องใช้นักบิน 3 คนในการบิน นักบินที่ 3 จะเป็นผู้จัดการเรื่องระบบต่าง ๆ ของเครื่องบินในแต่ละช่วงของการบิน เช่น การปรับระบบน้ำมัน การปรับระบบความดันอากาศ ระบบไฟฟ้า ระบบไฮดรอลิก เป็นต้น

ความที่เราเป็นนักบินใหม่ ประสบการณ์การบินเรียกว่า ไม่มีเลยสำหรับการบินพาณิชย์ แต่ความรู้ต้องมี เพราะมีการเรียนในห้องเรียนก่อนเริ่มต้นบินจริง ๆ ไล่ตั้งแต่กฏระเบียบต่าง ๆ และวิธีการปฏิบัติ การอ่านแผนที่นำทาง ระบบนำร่องต่าง ๆ 

ทั้งหมดเป็นการปูพื้นฐานสำหรับใช้ในการบินจริง ซึ่งมีความสำคัญมากที่จะต้องเก็บเกี่ยวความรู้ต่าง ๆ ในการทำงานบนเครื่องบิน และในระหว่างการเริ่มขึ้นเครื่องบินจริงนั้นก็จะต้องมีการทบทวนและการทำความเข้าใจระบบการทำงานแต่ละส่วนของเครื่องบิน จดจำปุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยต้องจำได้ด้วยพื้นฐานความเข้าใจอย่างเป็นระบบ ก่อนขึ้นบินจริงต้องมีเข้าฝึกในเครื่องฝึกบินจำลองเป็นสิบ ๆ ครั้ง เพื่อให้มั่นใจเรื่องการปรับระบบต่าง ๆ และการทำความเข้าใจในการบินขึ้นลงสนามบินด้วย 

ส่วนตัวผมเห็นว่าการบินเครื่องบินเครื่องใหญ่ เครื่องเล็ก เหมือนกันหมดครับ เพราะใช้พื้นฐานของเครื่องวัดประกอบการบินแบบเดียวกัน เพียงแต่เครื่องบินพาณิชย์นั้นมีเครื่องวัดต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นกว่าเครื่องบินใบพัดลำเล็ก ๆ ที่ใช้ฝึกในโรงเรียนการบิน หากว่าเราเข้าใจพื้นฐานการอ่านค่าเครื่องวัดประกอบการบินแล้ว เราก็จะสามารถแปลความหมายท่าทางของเครื่องบินได้เหมือน ๆ กันนั่นแหละ แต่การตอบสนองของเครื่องบินใหญ่ ๆ จะช้ากว่าเครื่องบินลำเล็ก ๆ มาก 

และที่สำคัญคือ การบินเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่หรือการบินพาณิชย์เพื่อการขนส่งผู้โดยสารนั้นจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยโดยรวมของทุกคนเป็นลำดับแรก เพราะเราต้องรับผิดชอบชีวิตของทุกคน ส่วนเสริมที่จะต้องทำเพิ่มขึ้นคือ การที่จะต้องบังคับให้นุ่มนวล ให้ความสะดวกสบายของผู้โดยสารทุกคนในการเดินทาง นี่ยังไม่รวมถึงการมีวิจารณญานในการวิเคราะห์และคาดเดาหรือขจัดปัญหาไม่ให้บานปลาย ซึ่งส่วนนี้จะต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานหรือการศึกษาประสบการณ์จากบทเรียนความผิดพลาดของผู้อื่น 

กลับมาที่การฝึกบินใน Simulator เป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งจบจากโรงเรียนการบิน เพราะจากการบินเครื่องบินใบพัดลำเล็ก ๆ ข้ามมาบิน Boeing B747 มันข้ามจากเล็กสุดมาใหญ่สุดเลย การเป็นนักบินที่ 3 ไม่มีโอกาสได้บินขึ้นลงบนเครื่องบินจริง ๆ หรอกครับ จะได้บังคับเครื่องบินเฉพาะใน Simulator หรือในการบินระดับ (cruise) เท่านั้น แต่การที่เราไม่ได้จับคันบังคับ (หรือภาษาการบินเรียกว่า Control Column) ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะบินไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่ขึ้น-ลงสนามบิน ผมจะมองที่เครื่องวัดของกัปตันหรือ co-pilot ไปด้วย เพื่ออ่านท่าทางของเครื่องบินเสมือนเราบินไปด้วยในใจ ทำให้เราได้ฝึกการบังคับเครื่องบินไปพร้อมกับที่เค้าบินกันจริง ๆ แค่เราไม่ได้จับ Control Column เท่านั้น

การนั่งอยู่ข้างหลังแล้วได้มองการทำงานของคนสองคนที่บังคับเครื่องบินอยู่ข้างหน้าทำให้เราได้เห็นภาพรวม แต่ก็มีนักบินจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจที่จะมอง instruments ด้านหน้า เวลาที่ทำหน้าที่เป็นนักบินที่ 3

ภาพของกัปตันสมัยนั้น (1994) ใหญ่โตมากครับ เป็นภาพของคนที่น่ายกย่องน่าเกรงขาม เป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีประสบการณ์สูง และมีอำนาจพูดอะไรไปใคร ๆ ก็ต้องทำตามนั้น แต่โลกยุคใหม่มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามนวัตกรรม ตามเทคโนโลยีและตามยุคสมัยของคน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า อำนาจของกัปตันนั้นถูกลดทอนลง แต่แค่ว่า อำนาจนั้นถูกบังคับให้ใช้ในกรอบที่แคบลงมากกว่าครับ คือ มีกติกามาตีกรอบอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นเยอะ กติกาถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาเป็นตัดสิน 

หน้าที่ในการเป็น pilot-in-command ไม่ได้เปลี่ยนไป ความรับผิดชอบยังคงเหมือนเดิม และอำนาจในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังเป็นกัปตันเช่นเดิม

ส่วนพี่ๆ co-pilot ในสมัยนั้น ก็ตามสภาพครับ และยังคงเป็นเหมือน ๆ กับสมัยปัจจุบัน ซึ่งภาพลักษณ์นั้นสื่อออกมาหลายรูปแบบแล้วแต่ลักษณะของคน แต่ก็ส่วนใหญ่ที่บินดี บินเก่ง และมีความรู้แน่น เพราะส่วนใหญ่ก็บินกันมาไม่ต่ำกว่า 8 ปี คือ ใกล้จะเป็นกัปตันกันแล้ว (กว่าจะมาบินจัมโบ้ได้ใช้เวลาหลายปี) พี่ ๆ เหล่านั้นจะรู้หมดทุกอย่าง ข้อมูลเรื่องนี้อยู่ในคู่มือเล่มไหน บทที่เท่าไหร่ 

โอ้ว…เค้าจำเรื่องต่าง ๆ มากมายแบบนั้นกันได้ยังไง

เมื่อเห็นภาพพี่ ๆ นักบินเก่ง ๆ ผมจึงเลือกทำตาม คอยตะล่อมถามหาเทคนิคอยู่เสมอ และค้นคว้าหาอ่านเพิ่มเติมมากขึ้นๆ อ่านเก็บรายละเอียดไปเรื่อยๆ ทำความเข้าใจภาพรวม และหมั่นถามพี่ ๆ และกัปตันเวลาบินด้วยกันตลอด 

ด้วยความที่ B747-200/300 ตอนนั้นบินแต่ยุโรป ไปลอนดอนและซิดนีย์-ออสเตรเลีย ผมจึงมีเวลาได้ถามเรื่องโน่นนี่นั่นในระหว่างนั่ง cruise ด้วยกัน การบิน long-hual หรือ Inter-continental flight จะต้องมีความรู้ด้านกฏระเบียบการเดินทางค่อนข้างมาก และต้องมีรายละเอียดเยอะในแต่ละพื้นที่ที่บินผ่าน ซึ่งผมคิดว่า มันมีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจภาพรวมของการบินทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่า เราต้องสนใจและไม่หย่อนยานเรื่องการศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา คนที่บินไปวัน ๆ ก็มีนะครับ ก็แล้วแต่นิสัยส่วนตัวไม่ว่ากัน

ดังนั้นประสบการณ์การบินนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าบินมานานเท่าไหร่ คนที่บินมาไม่นานแต่สนใจที่จะเก็บรายละเอียดตลอดย่อมได้ประสบการณ์การบินมากกว่าแน่นอนครับ

พอเป็น co-pilot คราวนี้ได้ขึ้นลงจริง ๆ ล่ะ ผมได้มาบิน Airbus A300-600 มีชื่อเล่นๆว่า AB6 ซึ่งเป็นเครื่อง Next Gen สมัยนั้น คือเป็นเครื่องบินรุ่นแรก ๆ ที่เค้าเรียกว่า Glass cockpit มีความเป็นอิเลคทรอนิคมากขึ้น แปลสัญญาณจากเครื่องวัดต่างๆออกมาเป็นภาพ สมัยนั้นยังเป็นจอ CRT-Cathode Ray Tube แบบเดียวกับจอทีวีสีรุ่นแรกๆ เครื่องบิน Airbus AB6 มีที่นั่งชั้นธุรกิจและชั้นประหยัด สามารถรับผู้โดยสารได้ 260 กว่าคน

AB6 ตอนนั้นร้อนแรงมากแทบทุกสายการบินชั้นนำมีเครื่องบินแบบนี้ประจำการ ของการบินไทยตอนที่ผมบินก็ใช้บินเข้าญี่ปุ่นแทบทุกเมือง และไปเมืองจีน ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เมืองไทย ตะวันออกกลาง ไปหมด บินไปถึงออสเตรเลียทั้ง Perth และ Sydney 

ตอนเป็น co-pilot เราก็จะได้รับประสบการณ์ตรงในการบิน ได้เห็นการทำหน้าที่ของกัปตันที่มีหลายแบบและเรียนรู้ทัศนคติของกัปตันในหลายแง่มุมมากขึ้น ทั้งด้านดีและด้านดีน้อย โดยเฉพาะเมื่อเห็นการใช้อำนาจที่มีอยู่มากในทางที่อาจจะไม่เหมาะสม เราก็จำเอาไว้ และอย่าทำตาม

เล่ายาวเกินไป ยังไม่จบง่าย ๆ ขอเก็บไว้ต่ออีกตอนหนึ่งละกันครับ

เห็นกัปตันอย่างไรที่เราไม่ชอบ พอเป็นกัปตันเราจะมองเห็นน้อง ๆ co-pilot อีกแบบหนึ่ง และพยายามนึกถึงตอนที่เราเป็น co-pilot เหมือนกันจะได้เห็นและเข้าใจกัน 

โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ผมเริ่มเป็นครูการบิน อันนี้ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาคนและการปรับวิธีการอธิบายและการวัดศักยภาพของคน เพื่อใช้สอนลูกศิษย์ให้มีพัฒนาการในจุดด้อยที่เขายังมีอยู่ 

Comments are closed
0
0