การเปลี่ยนแบบเครื่องบินของนักบิน

การเปลี่ยนแบบเครื่องบินของนักบิน

นักบินแต่ละคนจะสามารถบินเครื่องบินได้แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ยกเว้นเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในตระกูลหรือลักษณะการทำงานที่สอดคล้องใกล้เคียงกันนักบินจะได้รับอนุญาตให้บินได้มากกว่า 1 แบบ เช่น นักบินที่บินเครื่องบิน Boeing 747-400 จะไม่สามารถบินเครื่องบิน Airbus A380 ได้ในคราวเดียวกัน 

หมายถึง เที่ยวบินนี้บิน B747 พอเที่ยวบินหน้าไปบิน A380 อย่างนี้ทำไม่ได้ แต่นักบินอาจบิน B747 สลับกับ B777 ได้ หากได้รับการฝึกเพิ่มในการทำงานในเครื่องทั้งสองแบบและต้องได้รับการรับรองจากกรมการบินพลเรือนแล้วเท่านั้น จึงจะทำการบินในลักษณะนี้ได้ ปัจจุบัน (รวมถึงอนาคต) เครื่องบินของแต่ละบริษัททั้ง Boeing และ Airbus จะพยายามทำ streamline layout ตำแหน่งปุ่มและ switches ในการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมือนกันให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการใช้งานด้วยนักบินชุดเดียวสามารถบินเครื่องบินได้หลายแบบ เป็น common หรือ similar types ซึ่งเป็นการลดข้อจำกัดเรื่องของจำนวนนักบินและประหยัดค่าใช้จ่ายในการฝึกของนักบินนักบินกลุ่มเดียว สามารถบินเครื่องได้หลายรุ่นหลายแบบ ย่อมใช้งานได้สะดวกมากกว่า

ทางบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินก็ต้องผ่านการรับรองว่าเครื่อง 2 หรือ 3 แบบนั้น สามารถใช้นักบินชุดเดียวกันได้ เรื่องนี้ทางผู้ผลิตต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากองค์กรการบินของแต่ละประเทศ อย่างเช่น Boeing B747-400 , B777, B787 เป็นรุ่นที่นักบินสามารถบินควบคู่กันได้   หรือ ฝั่ง Airbus ก็จะเป็น A380, A340, A330, A320 เป็นต้น ทั้งนี้นักบินก็ต้องได้รับการฝึกเพิ่มด้วย เมื่อผ่านการฝึกแล้วก็จะต้องประทับตรารับรองในใบอนุญาตบังคับอากาศยานของนักบิน (Pilot License) 

Cockpit Boeing 747-400

แต่อย่างไรก็ตาม สายการบินต่าง ๆ มักไม่นิยมให้นักบิน บินหลาย ๆ แบบเท่าไหร่นัก เพราะมีขั้นตอนการฝึกเพิ่มและกระบวนการในการรักษาศักย์การบิน (License Recency) ต้องมีเพิ่มขึ้น รวมทั้งเรื่องความเชี่ยวชาญ และความคล่องแคล่วในการเข้าใจระบบต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะเกือบเหมือนกันก็จริง แต่มันก็คือไม่เหมือนกันอยู่ดีนั่นแหละ ถ้าจำนวนนักบินเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องบิน Mixed Fleet Flying (MFF) ครับ

เรื่องการเปลี่ยนแบบ จาก Type หนึ่ง ไปอีก Type หนึ่ง 

การฝึกฝนเป็นสิ่งจำเป็นในการเพิ่มความชำนาญ 

ความสามารถในการทำความเข้าใจระบบต่าง ๆ เป็นสิ่งที่นักบินทุกคนต้องมี อันนี้ ก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการตรวจสอบของแต่ละสายการบินด้วย นักบินย้ายฟลีทได้ทุกคน เพราะผ่านขั้นตอนมาเยอะแล้ว สำหรับผม เครื่องบินแบบไหน ก็เป็นเครื่องบินทั้งนั้น ไม่สำคัญว่าจะเป็นรุ่นใหม่ รุ่นเก่า ความปลอดภัยของการบิน ไม่ได้อยู่ที่เครื่องบินใหม่ แต่แน่นอนเครื่องบินใหม่ ๆ โอกาสที่ระบบหรืออุปกรณ์จะชำรุดก็มีน้อยกว่า เครื่องบินเก่าก็ถูกกำกับดูแลด้านมาตรการการซ่อมบำรุงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน อุปกรณ์หรืออะไหล่ที่ถึงเวลาเปลี่ยนก็จำเป็นต้องเปลี่ยน กรมการบินพลเรือนจึงมีบทบาทสำคัญในการกำกับมาตรฐานของการซ่อมบำรุง และมาตรฐานในการปฏิบัติการบิน ปัจจัยหลักจริง ๆ ของความปลอดภัยอยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ของนักบินผู้บังคับอากาศยาน

เพราะถึงเครื่องบินใหม่จะใหม่เอี่ยม แต่นักบินไม่เข้าใจในการใช้ความรู้ เพื่อป้องกันปัญหา ถ้านักบินเชื่อแต่เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ และไม่มีฐานความรู้ความเข้าใจหลักการพื้นฐานของการบิน Basic Flying Skill, Aircraft Performance, Weight Balance, Correction in case of irregularities etc.

นักบินก็จะไม่รู้เลยว่า เมื่อไหร่ที่ระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีนั่นกำลังทำงานผิดพลาด มันเป็น Trap อย่างหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ เราเรียกการยึดติดกับระบบอัตโนมัติว่า

“Automation Syndrome”

หากนักบินขาดประสบการณ์และความรู้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะพาผู้โดยสารทั้งหมดถึงที่หมายอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย หรือ มีความยากลำบากในการจัดการเช่น อากาศปิด ฝนฟ้าคะนอง หิมะตกหนัก เครื่องยนต์ดับ ยางแตกขณะวิ่งขึ้น ระบบต่าง ๆ ทำงานล้มเหลว ฯลฯ ตัวแปรเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้เสมอและต้องอาศัยนักบินเท่านั้นที่จะเป็นคนแก้ปัญหา หลีกเลี่ยงปัญหาและป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลามไปมากขึ้น

นักบินต้องไม่หยุดคิดจนกว่าเครื่องบินจะลงสู่สนามและผู้โดยสารเดินออกจากเครื่องบินอย่างปลอดภัย

Tags:

Comments are closed
0
0