การบินในสภาพอากาศ ตอนที่ ๓

การบินในสภาพอากาศ ตอนที่ ๓

ในตอนกลางวันเราสามารถมองเห็นภายนอกได้ไกลสุดหู สุดตา แต่หากมีเมฆแผ่นมาปิดบังสายตา เราก็จะเห็นเพียงฝ้าสีขาว ๆ เต็มไปหมด ถ้าหากเวลาบินในความมืดล่ะ นักบินจะต้องมีความระมัดระวังเเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในฤดูมรสุมอย่างช่วงเวลานี้ ต้องมีอุปกรณ์เสริมเพื่อเป็นตาอีกคู่หนึ่งให้กับนักบิน เราเรียกส่ิงนั้นว่า Weather Radar เครื่องบินเพื่อการพาณิชย์ทันสมัยยุคใหม่ ๆ ทุก ๆ แบบถูกกำหนดให้ติดตั้งเครื่องตรวจอากาศประจำเครื่องบิน Airborne Weather Radar ทุกลำ (เป็นกฏหมาย และห้ามชำรุดถ้าต้องบินตามเส้นทางที่มีสภาพอากาศไม่ดี) ปกตินักบินจะเรียกว่า Weather Radar เฉย ๆ แต่ผมเติมคำว่า Airborne เข้าไปเพื่อสื่อสารให้เข้าใจว่าหมายถึง Wx Radar ที่อยู่บนเครื่อง (Wx เป็นตัวย่อของ คำว่า Weather) เพราะยังมี Wx Radar อีกประเภทหนึ่งที่ติดตั้งอยู่ที่สนามบิน อันนั้นเรียก Ground Wx Radar ซึ่งที่สนามบินสุวรรณภูมิกำลังมีโครงการติดตั้งเช่นกันในเร็ว ๆ นี้ (เป็นเรื่องน่ายินดีมาก ๆ ) 

ตัว Airborne Wx Radar นั้นจะแสดงค่าสถานะของอนุภาคอากาศเป็นเฉดสีต่าง ๆ หลายระดับ คือ ตั้งแต่ สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว และไม่มีสี ซึ่งค่าสีต่าง ๆ นั้น จะถูกแสดงขึ้นมาบนจอนำทางของเครื่องบินที่เรียกว่า Navigation Display หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ND ซึ่งอยู่ด้านหน้านักบินทั้งสองคน มันจะแสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการนำทางไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ (Integrated the important information for aircraft navigation) มารวมไว้ในจอเดียว เพื่อให้นักบินสามารถตรวจสอบข้อมูลการนำทางได้ง่ายขึ้น เช่น เส้นทางบินที่อยู่ปัจจุบัน และจุดหมายต่อไปข้างหน้า (นักบินเรียกว่า Waypoint) นักบินสามารถเรียกดู waypoint ที่จะบินผ่านในเส้นทางข้างหน้าได้เป็นระยะถึง 1000 กิโลเมตร (แล้วแต่แบบเครื่องบิน)

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของทิศทางลม (wind direction) ความเร็วของเครื่องบินขณะนั้น (Aircraft Speed) แผนที่ความสูงคร่าว ๆ ของพื้นที่ด้านล่าง (Terrain map) รวมทั้งสิ่งที่เราจะพูดถึงในวันนี้ คือ แผนภาพลักษณะอากาศ (Weather Radar Display map) ที่เรียกว่า แผนภาพ (ผมเรียกเอง) เพราะมันเป็นการแสดงภาพที่สื่อสารออกมาเป็นสัญลักษณ์สี และเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเราเปลี่ยนมุมในการส่งคลื่นเพื่อตรวจสภาพอากาศ (ยังไม่ต้องงง แต่คงไม่ต้องอธิบายละเอียดนะครับ) เอาเป็นว่า เจ้า Wx Radar นั้นใช้หลักการส่งคลื่นออกไปแล้วมีตัวรับการสะท้อนกลับของคลื่นเพื่อแสดงออกมาบนจอภาพ โดยมีมุมของการส่งคลื่น ขึ้นอยู่กับนักบินจะสั่งว่าต้องการมุมที่ส่งคลื่นออกไป มุมก้ม (Tilt Down) หรือ มุมเงย (Tilt Up) เท่าไหร่ แล้วใช้ความรู้และประสบการณ์เพื่อตีความสภาพอากาศที่อยู่ด้านหน้าของเครื่องบินจากแผนภาพที่ได้แสดงขึ้นมาบนจอ ND

ในเวลากลางคืน ถ้ามีพระจันทร์ แม้เสี้ยวเล็ก ๆ ก็ทำให้นักบินสามารถมองออกไปข้างหน้าได้ไกลมาก ๆ เราสามารถมองเห็นรูปร่างของเมฆที่อยู่ด้านหน้าได้ง่ายขึ้น แต่หากเป็นคืนเดือนมืด ก็เหมือนนั่งอยู่ในห้องแล้วปิดไฟทุกดวงในห้อง มืดสนิทจริง ๆ มองไม่เห็นอะไรเลยและยิ่งถ้าอยู่ในเมฆแผ่นบาง ๆ ก็จะไม่เห็นแม้แต่ดาวบนฟ้า วันมืด ๆ แบบนี้ เจ้า Wx Radar ก็จะเป็นพระเอกของงานขึ้นมาทันที ความจริงเราจำเป็นต้องใช้ Wx Radar อยู่ตลอดไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน เราการมองเห็นของเราสามารถถูกบดบังได้ด้วยปัจจัยหลายอย่างแม้กระทั่งเวลากลางวัน

เมฆแบบในภาพ เป็น Cumulonimbus ที่กำลัง Active มาก ผมถ่ายได้ในคืนเดือนมืดสนิท แสงวาบในเมฆ (Lightening in cloud) ก้อนนี้ เกิดขึ้นแค่เสี้ยววินาที แล้วก็มืดสนิทเหมือนเดิม (ภาพนี้ทำให้ผมเห็นชัดขึ้นว่าลักษณะของเมฆก้อนนี้หน้าตาอย่างไร) ก้อนเมฆแบบนี้ เราห้ามบินเข้าไปเด็ดขาด อันตรายมาก ๆ และต้องเลี้ยวบินอ้อมให้ไกล ๆ ในจอ ND จะแสดงเป็น ปื้น ๆ สีแดงจัด หมายถึง อนุภาคอากาศในบริเวณนั้น มีความไม่เสถียรอย่างมาก (Severe Active Airmass ไม่รู้เรียกถูกแบบภาษาวิชาการหรือเปล่า แต่เอาเป็นว่าเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายนะครับ) เพราะเครื่องบิน บินอยู่ได้ด้วยกระแสลมที่ผ่านปีก หากกระแสลมไม่นิ่ง เครื่องก็สั่นสะเทือนตามไปด้วย ถ้าบินเข้าไปในเมฆแบบรูปนี้เครื่องบินคงเขย่าจนกระเป๋าที่อยู่บนหัวหล่นทับคนนั่งได้ครับ อย่าเอากระเป๋าหนัก ๆ ใส่ไว้ที่เก็บเหนือศรีษะ (มีเขียนเรื่องนี้ในตอนเกี่ยวกับผู้โดยสารครับ)

Tags:

Comments are closed
0
0