การทำงานร่วมกันของนักบิน

ปกติเครื่องบินโดยสารจะใช้นักบินไม่น้อยกว่าสองคนในการบินแต่ละครั้ง ทั้งนี้เพราะการทำงานกับเครื่องบินโดยสารมีการควบคุมระบบต่าง ๆ หลายอย่างพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะระบบอัตโนมัตต่าง ๆ นั้นต้องใช้การทำงานร่วมกันของนักบินในการตรวจสอบการทำงานของเครื่องบินและการตรวจสอบกันเองของนักบินทั้งสอง

อย่างในช่วงที่เป็น high workload คือ ระหว่างที่อยู่ใกล้พื้นดิน ทั้งตอนวิ่งขึ้นและตอนลงสนาม การทำงานของระบบต่าง ๆ จะถูกใช้งานเต็มประสิทธิภาพของมันและนักบินคือผู้ตรวจสอบระบบต่าง ๆ ว่าทำงานดีอยู่หรือไม่ มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า รวมทั้งสั่งให้ระบบอื่น ๆ เข้าทำงานในช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

กัปตันกับโคไพลอตนั้นจะแบ่งหน้าที่ในการทำงานในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยมีการกำหนดชัดเจนเพื่อป้องกันการสับสนว่าในช่วงนั้นใครจะต้องทำอะไร

ทั้งสองคนอาจทำหน้าที่สลับกันได้ในบางช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับการกำหนดวิธีปฏิบัติของแต่ละสายการบินและแบบของเครื่องบินด้วย อาทิเช่น

เราเรียก นักบินที่ทำหน้าที่บังคับเครื่องบินว่า Pilot Flying (PF) 

และนักบินที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในบังคับเครื่องบินแต่ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือดูแลระบบต่าง ๆ ในระหว่างบินว่า Pilot Monitoring (PM) ในอดีตเรียกว่า Pilot not Flying (PNF) ซึ่งฟังดูมันเหมือนกับว่าไม่ต้องทำอะไรเลย จึงถูกเปลี่ยนไปใช้คำว่า Pilot Monitoring จนถึงปัจจุบันนี้

เพื่อให้สื่อความหมายที่ชัดเจนขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ว่า ต้องทำหน้าที่ในการ monitor การทำงานของระบบและการทำงานของนักบินที่กำลังบินอยู่ 

หากโคไพลอตอาจทำหน้าที่ในการนำเครื่องบินขึ้น-ลงสนาม ในเที่ยวบินก็จะทำหน้าที่ PF

โดยที่กัปตันจะทำหน้าที่ PM

หากกัปตันทำหน้าที่บินขึ้น-ลง โคไพลอตก็จะทำหน้าที่ PM สลับกันแบบนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะมอบหมายให้ใครทำหน้าที่ไหน

นอกจากหน้าที่ PF หรือ PM แล้ว

ยังมีหน้าที่ในการทำการบินบางช่วงที่แบ่งออกเป็นหน้าที่ของ Left Pilot (LP) หรือ Right Pilot (RP)

การแบ่งหน้าที่ลักษณะนี้ถูกกำหนดตามคู่มือปฏิบัติการบินและเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานหรือ Standard Operating Procedures (SOP)

ใน SOP นั้นจะบอกชัดเจนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของนักบินแต่ละหน้าที่ ในแต่ละเรื่องของการปฏิบัติ เช่น 

บางเรื่องให้ LP ทำ บางเรื่องให้ RP ทำ 

ถึงตรงนี้ให้ PF ทำ ถึงตรงนั้นให้ PM ทำ แบ่งแยกและกำหนดลงไปในรายละเอียดแบบนี้และบางอย่างก็ต้องทำทั้งคู่ ไม่ว่าจะนั่งอยู่ที่นั่งซ้าย หรือที่นั่งขวา จะเป็นคนบินหรือเป็นคน monitor ใน SOP ก็จะกำหนดให้เป็น BOTH ซึ่งหมายถึงทั้งคู่ต้องปฏิบัติ

ความจริงใน SOP นั้นมีการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย เกี่ยวกับความสูง และหรือความเร็ว ว่าเมื่อถึงระดับความสูงนี้

จะต้องทำอะไร เมื่อเครื่องบินมีความเร็ว เท่านั้น เท่านี้ ใครจะต้องทำอะไร

รายละเอียดเหล่านี้จะถูกกำหนดเอาไว้ทั้งหมด

เป็นนักบินต้องขยันอ่านและจดจำ (อย่างมีหลักการและวิธีการในการจำ)

การทำความเข้าใจคือ หัวใจของการทำหน้าที่นักบิน

นอกเหนือจาก PF, PM, LP และ RP แล้วยังมีคำที่ต้องเข้าใจอีกสองคำคือ

Pilot-in-Command หรือ P-i-C และ Captain

คำว่า P-i-C และ Captain นั้น ความหมายเกือบเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันครับ

Captain คือ ผู้ที่ถือใบอนุญาตพาณิชย์เอกและได้รับการฝึกให้ทำหน้าที่ P-i-C บนเที่ยวบิน

ส่วน P-i-C นั้น คือ ผู้ทำหน้าที่ควบคุมเที่ยวบินในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเที่ยวบิน เป็นเหมือนผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเมื่อมีความจำเป็น

บางครั้ง กัปตันเป็นครูการบิน สอนลูกศิษย์ที่กำลังฝึกเพื่อเป็นกัปตัน กัปตันคนนั้นอาจจะไม่ได้นั่งอยู่เก้าอี้ด้านซ้าย (LP) แต่นั่งอยู่ที่นั่งด้านขวา (RP) ซึ่งปกติเป็นที่นั่งของ co-pilot (CP) และในเที่ยวบินกัปตันอาจทำหน้าที่ Pilot Flying (PF) หรือ Pilot Monitoring (PM) ก็ได้ และถ้าเมื่อกัปตันมาเทรนกัปตัน โดยมีกัปตันอีกคนเป็นครู กัปตันคนที่เป็นครูก็อาจนั่งขวาหรือนั่งซ้าย โดยที่กัปตันอีกคนนั่งซ้ายหรือนั่งขวาทำหน้าที่ PM หรือ PF 

เขียนให้งงเล่น ไม่ต้องเข้าใจทั้งหมดก็ได้ครับ

เอาเป็นว่าเมื่อมีกัปตันบินด้วยกันสองคนขึ้นไป จะมีใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้นที่ทำหน้าที่ P-i-C เพื่อตัดสินใจเด็ดขาดเกี่ยวกับการบินและการจัดการบนเที่ยวบินครับ

Comments are closed
0
0