กัปตัน Low Cost

โพสต์นี้เขียนเมื่อครบหนึ่งปีที่บินกับสายการบินนกแอร์ สายการบินต้นทุนต่ำของคนไทย มีคำถามหนึ่งจากรุ่นน้องนอกวงการการบินผุดขึ้นมาในใจระหว่างนึกเรื่องที่อยากจะเขียนเล่าลงในเฟสบุ๊ค

“ความต่างของสายการบินต้นทุนต่ำกับสายการบินพรีเมี่ยมมันมีจุดวัดที่ตรงไหนในเรื่องของความคุ้มค่าในการเลือกใช้บริการ”

วันนั้นผมยังตอบปัญหานี้ได้ไม่ชัดเจนนักเพราะผมในตอนนั้น ไม่เคยบินหรือนั่ง low cost airline มาก่อนเลยแม้แต่ครั้งเดียว

วันนี้ผมรวบรวมความคิดหลายๆ อย่างจากประสบการณ์ที่บิน Premium Airline ที่การบินไทยมา 21 ปีและมาบินที่นกแอร์ได้หนึ่งปี

จริงๆ ผมอยู่นกแอร์มาปีเศษๆ โดยเริ่มจากการทำงานบริหารด้านความปลอดภัยในการให้บริการการบินของบริษัท และเริ่มเข้าเรียนเครื่องบินแบบใหม่ กว่าจะได้ขึ้นบินก็ปลายเดือนมค.ปี 2016

ความต่างที่มีอย่างชัดเจนระหว่าง premium กับ low cost airline คือ options ในการให้บริการหรือตัวเลือกในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร

ผมใช้คำว่า Options เพื่อสื่อให้เห็นว่า ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดไว้ตามกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่สายการบินเพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าเลือก หรือได้รับความประทับใจและอยากใช้บริการอีกในคราวต่อๆไป นี่เป็นหลักพื้นฐานของธุรกิจบริการ ตัวอย่างเช่น

การได้รับการบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม สายการบิน full-service หรือ premium airline ย่อมพยายามเฟ้นหาตัวเลือกที่โดดเด่นในการนำมาให้บริการแก่ลูกค้าที่ใช้บริการของสายการบิน อย่างการบินไทย ให้บริการเรื่องอาหารและเครื่องดื่มโดยมีการบริการฟรี และมีคุณภาพของอาหารและอุปกรณ์เครื่องใช้ในการทานอาหารแตกต่างกันออกไปตามคลาสที่นั่ง เครื่องดื่มก็เช่นกัน บริการฟรีตลอดและมีตัวเลือกตามระดับราคาตั๋ว

แต่สำหรับ Low Cost Airline ปกติไม่มีการบริการอาหารและเครื่องดื่ม ทุกอย่างต้องซื้อ ส่วนนกแอร์มี snack box เป็นขนมและน้ำดื่มให้บริการผู้โดยสารทุกคน หากต้องการทานเพิ่มค่อยจ่ายเงิน

แต่เรื่องระบบการบริหารด้านความปลอดภัยนั้นไม่มีความแตกต่างกันครับ ตัว core business หรือขั้นตอนในการปฏิบัติการหลักนั้นถูกกำกับไว้ตามกฏหมายให้มีโครงหลักที่เหมือนกันทั่วโลกแต่อาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างเพียงเล็กๆน้อยๆ เนื่องจากพื้นที่ของการให้บริการที่ต้องเพิ่มมาตรการตามที่แต่ละประเทศที่บินผ่านกำหนดไว้เพิ่มเติมหรือแตกต่างกัน การกำกับดูแลและกฏหมายยิบๆย่อยๆของแต่ละประเทศ 

แต่ไม่ว่าจะเป็น low cost หรือ premium airline ต้องต้องผ่านหลักเกณฑ์ตามข้อกำหนดของหน่วยงานควบคุมดูแลการบินพาณิชย์ของประเทศอย่าง สำนักงานการบินพลเรืองแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์ให้สายการบินทุกสายที่จดทะเบียนกิจการการค้าธุรกิจการบินในประเทศไทย ต้องผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนโดยละเอียด และผ่านข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ด้วย หากสายการบินนั้นบินไปต่างประเทศหรือนอกราชอาณาจักรไทย

ด้านข้อกำหนดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของสายการบินที่จะต้องมีหน่วยงานกำกับและควบคุมคุณภาพการให้บริการโดยยึดหลักการบริหารความปลอดภัยที่มีข้อกำหนดสากลที่เรียกว่า Safety Management System ย่อว่า SMS (อ่านเรื่อง SMS ในบทถัดไปครับ)
ดังนั้น  

“ไม่ว่าจะเป็น Premium หรือ Low Cost ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยไม่แตกต่างกันเลยครับแต่ละบริษัทต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่บังคับไว้ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน” 

Comments are closed
0
0