กว่าจะเป็นนักบินพาณิชย์

กว่าจะเป็นนักบินพาณิชย์

“ใคร ๆ ก็บินได้” จริงหรือ

ย้อนกลับไปก่อนหน้าตอนที่แล้ว ในช่วงก่อนการเป็นนักบินฝึกหัด การสอบคัดเลือกเพื่อเป็นนักเรียนทุนฝึกหัด ข้อกำหนดในอดีตอาจจะแตกต่างจากปัจจุบันเล็กน้อย เช่น ข้อจำกัดด้านอายุ และความสามารถด้านภาษาอังกฤษ แต่หลักการโดยทั่วไปคือปริญญาตรี สาขาใดก็ได้ เพื่อนในรุ่นผมก็จบหลากหลายสาขา ตั้งแต่ สัตว์แพทย์ วิศวะ สถาปัตย์ นิเทศ  ฯลฯ  ส่วนขั้นตอนการสอบ (สมัยที่ผมสอบคือปี 1992) แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ 

1. การสมัครและตรวจคุณสมบัติผู้สมัคร (เนื่องจากมีข้อบังคับว่า หากผู้สมัครผ่านขั้นตอนสุดท้ายจนครบทุกขั้นตอนแล้ว จะไม่อนุญาตให้สอบใหม่ คือ ชีวิตนี้สอบได้ครั้งเดียวว่างั้น แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เช่น อาจต้องรอ 3 ปี 5 ปี แล้วแต่ว่าผ่านมาถึงขั้นตอนไหน จึงจะให้สมัครสอบใหม่ได้ ข้อกำหนดปัจจุบัน ขอให้ลอง search ใน google ดูครับ เพราะแต่ละบริษัทจะกำหนดคุณสมบัติแตกต่างกันเล็กน้อย)

2. การสอบข้อเขียน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ (ปัจจุบัน มีเพิ่ม ความถนัดบางอย่างเข้าไปด้วย)

3. การตรวจร่างกายที่สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ

4. การสอบสัมภาษณ์กับกัปตันการบินไทย

  1. การสอบ Aptitude test กับนักจิตวิทยาฝรั่งของการบินไทยใช้ผู้เชี่ยวชาญจาก Scandinavian Institute of Aviation Psychology (SIAP) เราเรียกการสอบรอบนี้สั้นๆว่า 

“สอบ professor” 

การสอบกับ professor สมัยนั้นแบ่งเป็น 2 วัน วันแรกเป็น paper test (สนุกมาก ผมชอบ) และการสอบตัวต่อตัว แบบกึ่งสัมภาษณ์เพื่อวัดผลหลายอย่างที่สัมพันธ์กับผลสอบก่อนหน้านี้ทั้งหมดและการวัดพื้นฐานพฤติกรรมทางสังคมและจิตวิทยา ตอนผมสอบจะต้องคุยกับ professor เช้า 1 คน บ่าย 1 คน ถ้าจะพูดถึงรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละขั้นตอน ขั้นที่ควรพูดถึงคือ ขั้นที่ 4 และ 5 ครับ ประสบการณ์ของผมในขั้นที่สี่ ค่อนข้างไม่มั่นใจ กัปตันถามอะไรก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับเครื่องบินมาก่อนเลย รู้แต่ว่ามันบินได้ บินได้ยังไงก็ไม่เคยสนใจ รู้จักแต่หลอดทดลอง เครื่องชั่ง ตวง วัด สารเคมี แล้วก็ หินกับแร่ ต่าง ๆ กัปตันก็ส่ายหัว แล้วบอกคุณศึกษาเรื่องราวของการบินไทยมาบ้างไหมเนี่ย ผมตอบแบบตรงไปตรงมาว่า 

“เปล่าครับ ผมไม่ทราบว่าต้องศึกษาเรื่องไหน และไม่รู้ด้วยว่าจะสัมภาษณ์เกี่ยวกับอะไร”

วันนั้น กัปตันก็เลยเปลี่ยนไปถามเรื่องอื่นๆ แทนโดยเฉพาะเรื่องที่เราเขียนอยู่ในใบสมัคร มีช่องหนึ่งในใบสมัครที่ผมเขียนคำว่า “Sense of direction”  ซึ่งตอนนั้นผมก็เขียนเอาจากความรู้สึก กัปตันท่านหนึ่ง (ตอนสอบมี 3 ท่าน) ก็เลยให้อธิบายว่าคุณหมายความว่าอะไร ผมก็เลยอธิบายว่า ผมอ่านแผนที่ได้ดี และเข้าใจเรื่องของทิศทาง เวลาเดินเลี้ยวลัดเลาะไปมาในป่า ก็ยังพอรู้ว่าทิศไหนเป็นทิศไหน

กัปตันอีกคนหนึ่งก็เลย ถามทำนองเหมือนจะตะโกน (ทำท่าดุดัน) ว่า “งั้นห้องที่นั่งอยู่ตอนนี้ คุณบอกสิว่า ด้านไหนคือทิศเหนือ”  ในใจก็สะดุ้งเล็กน้อย ว่า “ตะโกนทำไมว่ะ” แต่สมองก็สั่งการทันทีเหมือนกันว่า “คงอยากให้เราตกใจลืมคำถาม” แต่ผมไม่หลงกล ยังคงตอบกลับไปแบบสุภาพว่า “ทิศที่อยู่ด้านหลังผมครับ” พร้อมกับชี้มือไปด้านหลังแบบมั่นใจ (ผมมารู้ทีหลังว่า มันคือ Spatial Orientation เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่มีการสอบเพื่อวัดความสามารถด้านนี้ แต่ผมไม่มีความรู้เฉพาะทาง ผมก็เลยเขียนของผมเองว่า sense of direction

ตอนที่ผมเองเป็นคนสอบสัมภาษณ์คนที่มาสมัครเมื่อหลายปีก่อน การสอบสัมภาษณ์รอบกัปตันไทยนั้นมีวัตถุประสงค์หลายอย่างครับ การสัมภาษณ์จะเป็นลักษณะเหมือนการนั่งคุยกัน กัปตันที่สัมภาษณ์เค้าต้องการดูหลาย ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน ทั้งบุคลิกภาพ การพูดจา ความมั่นใจเวลาตอบคำถามดูอากัปกิริยา ต่าง ๆ ในระหว่างการพูดคุย เพื่อดูการควบคุมสติ  เพราะอาจ

จะมีการแกล้งดุดัน หรือขึ้นเสียงให้เราตกใจบ้าง เพื่อดูว่าเราจะแก้ไขสถานการณ์ยังไง และ ฯลฯ เค้าอาจจะดูผลคะแนนที่ได้จากการสอบในรอบที่ผ่าน ๆ มา กัปตันที่เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์จะพิจารณาดูว่า ข้อดี ข้อด้อย ที่ได้จากผลการสอบของผู้สมัครว่าเป็นอย่างไรบ้าง 

การสอบรอบข้อเขียนในปัจจุบัน มีข้อสอบที่เป็น aptitude test รวมอยู่ด้วยซึ่งอาจจะวัดความสามารถด้านต่าง ๆ แบบเบื้องต้น เช่น short term memory, spatial orientation, multi-tasking skill, และอื่น ๆ  เมื่อผ่านรอบนี้ ก็จะไปถึงรอบที่ 5 ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายในรอบสุดท้ายนี่แหละที่ทำให้ผมรู้สึกว่า อาชีพนี้มันมีอะไรน่าศึกษามากทีเดียว 

รอบสุดท้ายถือเป็นด่านหินของทุกๆ คน แต่สำหรับผมรู้สึกสนุกกับมันมากกว่า เพราะว่าเราอยากรู้ว่า เค้าต้องการวัดอะไรบ้าง รอบนี้ ปีนั้น จำได้คร่าว ๆ ว่าผ่านเข้ามาเหลือประมาณ 200 คน จากกว่าพันคนที่สอบด้วยกันรอบแรก สุดท้ายแล้ว ผ่านมาได้ 14 คน ในอดีตไม่มีอินเตอร์เน็ตสะดวกสบายแบบสมัยนี้ การตรวจสอบว่า เราผ่านเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปหรือไม่ ต้องไปดูที่สำนักงานใหญ่การบินไทยเอง จำได้ว่า ตอนเข้าไปที่บริษัท ครั้งแรก ๆ รู้สึกตื่นตา ตื่นใจพอสมควร มีโมเดลเครื่องบินลำใหญ่ๆ ตั้งอยู่ดูน่าสนใจอย่างมากสำหรับผมที่ไม่เคยสัมผัสวิทยาการด้านนี้มาก่อนเลย จะมีก็แค่เคยนั่งเครื่องบินมาครั้งเดียวในชีวิต ด้วยเครื่องลำเล็กๆ จากจังหวัดเลย เขียนมาตั้งเยอะ ยังไม่ได้ตอบเลยว่า “ใคร ๆ ก็บินได้” จริงหรือ

เครื่องบิน B747-BCF เป็นเครื่องบินที่ดัดแปลงเป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า หรือ Frieghter
Comments are closed
0
0